มองมุมคิดองค์กรชั้นนำ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ

ภายใต้รางวัลคุณภาพต่าง ๆ ที่มอบให้แก่องค์กรภาครัฐ หรือเอกชน ประกอบไปด้วยเกณฑ์ที่เป็นดั่งแนวทางให้องค์กรนั้น ๆ เดินไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA) ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีจุดเด่นในการนำเกณฑ์ระดับโลกอย่าง The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) จากสหรัฐอเมริกา มาเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่หลายประเทศทั่วโลกต่างนำไปประยุกต์ใช้

สำหรับปีนี้ TQA เดินทางมาถึงปีที่ 17 และในรอบปี 2561 ผ่านมา คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติได้ประกาศรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 11 องค์กร โดยทั้ง 11 องค์กรไม่มีองค์กรใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาจนทำให้ได้รับรางวัล TQA

หากมีแต่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) อาทิ เขื่อนรัชชประภา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, เขื่อนวชิราลงกรณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, เขื่อนศรีนครินทร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด, บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

นอกจากนั้น ยังมี 2 องค์กรได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus : Operation) คือ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เอทิลีนออกไซด์ และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

ขณะที่รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า (Thailand Quality Class Plus : Customer) มีเพียงองค์กรเดียว คือ ธนาคารออมสิน

31 องค์กรไทยชิง TQA

“ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์” ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในรอบปี 2561 มีองค์กรสมัครขอรับรางวัล TQA 31 องค์กร แบ่งเป็น ธุรกิจประเภทการผลิต 13 องค์กร, การศึกษา 7 องค์กร, การบริการ 7 องค์กร และประเภทอื่น ๆ 4 องค์กร

“ปีที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับ TQA ผ่านการจัดอบรม TQA จำนวน 16 รุ่น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,090 คน เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2560 โดยเหตุทีมี องค์กรให้ความสำคัญกับ TQA มากขึ้น เพราะเห็นตัวอย่างจากองค์กรในภาคอุตสาหกรรมต่างนำเกณฑ์ TQA ไปปรับใช้ แล้วช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการองค์กรได้จริง ๆ”

“สำหรับแผนงานในอนาคตของ TQA เราจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ The Global Excellence Model Council (GEM Council) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีความร่วมมือกันในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ การศึกษาวิจัย และเปรียบเทียบการดำเนินงานด้านการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ นอกจากนั้น เราจะทำสรุปองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขององค์กรที่ได้รับรางวัลเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ best practices ในเชิงลึก รวมทั้งยังริเริ่มโครงการ Collaborative Assessment for TQC กิจกรรมให้คำปรึกษาการยกระดับองค์กรตามแนวทาง TQA และกิจกรรม Collaborative Assessment for SMEs ซึ่งมุ่งสร้างองค์กร SMEs ต้นแบบที่ใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ”

มข.เน้น “ความชัดเจน”

“รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ม.ขอนแก่นมีความชัดเจนด้านการทำงานเพื่อพัฒนาผลิตภาพของสังคม เพราะตั้งอยู่ในภูมิภาคที่ประชากรในพื้นที่ค่อนข้างยากจน ดังนั้น สิ่งที่ทำคือใช้องค์ความรู้เป็นเครื่องมือในการทำให้ภาคอีสานมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

“การทำให้เป้าหมายของเราประสบความสำเร็จ คือ เรามีทิศทางการทำงานชัดเจน ทั้งยังมีความร่วมมือของทุกภาคส่วนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น สภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารคณะวิชา บุคลากรในมหาวิทยาลัย การขอรับรางวัลคุณภาพเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง เพราะเป็นการร่วมมือกันทำงานของหลายคณะวิชาให้มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ง่ายเลย นอกจากการมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจนแล้ว เรายังเน้นสร้างวัฒนธรรมการประกันคุณภาพให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร รวมไปถึงการใช้เกณฑ์คุณภาพทางการศึกษาเพื่อดำเนินการที่เป็นเลิศ โดยเราทำเรื่องนี้ต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี”

“การที่องค์กรถูกรุกรานโดยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เราปรับบุคลากรสายสนับสนุน ด้วยการนำการวิจัยมาใช้ในการทำงาน รวมไปจนถึงการวิจัยในด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเราจะใช้โจทย์วิจัยผลักดันไปสู่ระดับโลกให้ได้ ซึ่งหลายโครงการสามารถดำเนินการและประสบความสำเร็จ เช่น การแก้ปัญหาเรื่องพยาธิใบไม้ในตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดี ที่คนอีสานเป็นมากที่สุด”

“ขณะที่บัณฑิตที่จะจบการศึกษาต้องได้รับการพัฒนาในเรื่องปรัชญาการใช้ชีวิต เมื่อจบออกไปแล้ว พวกเขาต้องนึกถึงสังคมเป็นลำดับแรก และต้องผ่านเกณฑ์สอบคัดมาตรฐานภาษาอังกฤษที่ถือเป็นทักษะสำคัญ ส่วนความท้าทายในอนาคตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ จำนวนเด็กเกิดมีน้อยลง เราจึงจะขยายกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ จนกระทั่งถึงวัยสุดท้ายของชีวิต ดังนั้น หลักสูตรต้องเปลี่ยนแปลง แบบนั่งเรียนแต่ในห้องคงใช้ไม่ได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เรามีการวิเคราะห์ และใช้หลักเกณฑ์ TQA มาประยุกต์เพื่อให้มั่นใจว่า มหาวิทยาลัยของเราเดินถูกทาง”

“ขนอม” ใช้ “ทีมเวิร์ก” สู้

“สืบศักดิ์ ชูฤทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีภารกิจรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญา ลูกค้า เงินกู้ เป็นต้น เราจึงมองหาเกณฑ์มาใช้เพื่อช่วยการทำงานของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพบว่าเกณฑ์ TQA น่าสนใจ และใช้มาอย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัล TQC

“ประเด็นหลักที่ช่วยให้เราได้รางวัล คือ ความเป็นทีมเวิร์กของพนักงาน และการบูรณาการข้ามสายงาน แต่ที่สำคัญ คือ ฟีดแบ็ก เพราะทำให้เรารู้จุดอ่อนเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น ทำให้พนักงานรับรู้ว่าต้องปรับปรุงอะไรบ้าง และทำให้รู้จุดแข็งเพื่อใช้เป็นตัวผลักดันให้ส่วนอื่น ๆ ดีขึ้นอีก ส่วนงานอีกส่วนที่เรานำเกณฑ์ TQA มาใช้ คือ การพูดคุยในชุมชน ทำให้คนในชุมชนเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าดีขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการทำธุรกิจต้องร่วมมือกับชุมชน และเป็นมิตรกับชุมชน”

“เราเชื่อว่าการนำเอาเกณฑ์ TQA มาใช้ ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร และหากต้องการให้เกิดความมั่นคง องค์กรต้องทำซ้ำ ๆ ถ้าเราพัฒนาโดยใช้เกณฑ์ TQA มาใช้ รางวัลก็จะตามมาเอง ส่วนเส้นทางที่เรากำลังมุ่งเดินต่อไป คือ การพัฒนาบุคลากร ลดแรงงาน ลดการจ้างซ่อม รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อจากต่างประเทศที่ไม่จำเป็น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราดำเนินการโดยใช้เกณฑ์ TQA เพื่อให้บริษัทแข่งขันในตลาดของธุรกิจ เพื่อจะได้มีความยั่งยืนในการพัฒนาธุรกิจต่อไป”

ธอส.เดินตามรอย “TQA”

“ฉัตรชัย ศิริไล” กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า แต่ละองค์กรมีช่วงที่รุ่งโรจน์ และช่วงที่มีปัญหา ซึ่งเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ธอส.ผ่านช่วงปัญหามาเช่นกัน โดยเราเริ่มเห็นปัญหาในการปล่อยสินเชื่อ ที่มีคู่แข่งซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ลงมาเล่นในตลาดเดียวกันมากขึ้น รวมไปถึงศักยภาพของผู้กู้เริ่มน้อยลง จากที่สมัยก่อนเคยปล่อยสินเชื่อปีละ 1 แสนล้าน ก็เริ่มลดลง ขณะเดียวกันเราก็มีโจทย์จากรัฐบาลว่า ต้องทำให้คนไทยมีบ้านเพิ่มขึ้น

“ดังนั้น การที่เราจะปล่อยสินเชื่อในสภาวการณ์แบบนั้นได้ การบริหารจัดการองค์กรที่ดีจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ เราจึงมาดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบโจทย์รัฐบาลได้ เรารู้จัก TQA มาระยะเวลาหนึ่ง แต่ก่อนหน้าเรารู้สึกว่าเป็นรางวัลที่ไกลเกินเอื้อม จึงคิดแค่เพียงการนำเกณฑ์ของ TQAมาใช้ในการทำงานเท่านั้น เช่น การปรับกลยุทธ์การบริหาร, การถ่ายทอดนโยบาย, การติดตาม และการหลอมรวมพนักงาน 5,000 คน เข้าด้วยกัน”

“ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ออกมาช่วยทำให้เราปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น เป็นปีละกว่า 2 แสนล้านบาท เราจึงเริ่มหันมาถามตัวเองว่า เรามีคุณภาพสมควรได้รับรางวัล TQA แล้วหรือไม่ จึงลองยื่น และเราก็ทำสำเร็จ และได้รับรางวัลเป็นปีแรก แม้จะเป็นรางวัล TQC ก็ตาม ตรงนี้จึงทำให้เราได้ข้อสรุปว่า เกณฑ์ของรางวัลดังกล่าวเป็นเหมือนตัวเชื่อมโยงกับภารกิจที่เราทำเพื่อความอยู่รอดโดยไม่รู้ตัว”

แพทย์ จุฬาฯ รวมเป็นหนึ่งเดียว

สำหรับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งขององค์กรทางการศึกษาที่พยายามขับเคลื่อนผลิตภาพโดยนำ TQA มาปรับใช้ ซึ่งเรื่องนี้ “ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า องค์กรมีภารกิจผลิตแพทย์ สร้างองค์ความรู้ทางงานวิจัย เพื่อนำมาปรับใช้ในการให้บริการผู้ป่วย เรามีความท้าทายที่ต่างจากคณะแพทยศาสตร์อื่นอย่างเห็นได้ชัด คือ มีพาร์ตเนอร์เป็นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่มีพันธกิจทำงานร่วมกันมาหลายสิบปี

“เราจึงต้องหาวิธีที่ทำให้องค์กรรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือที่เราเรียกว่า One Chulalongkorn ให้ได้ ดังนั้น กลยุทธ์ของเรา คือ ผู้บริหารจะต้องมีความร่วมมือในการปลูกฝังคุณภาพในงาน อันเป็นหนึ่งสาเหตุที่ผู้บริหารชุดก่อนเริ่มใช้ TQA มาร่วมขับเคลื่อนองค์กร และเน้นให้ผู้ปฏิบัติงานทราบถึงความสำคัญ”

“การได้รับรางวัล TQC ในปีนี้ ไม่ได้ทำให้เราหยุดพัฒนาต่อไปในอนาคต แต่ยิ่งเป็นตัวผลักดันให้เราเพิ่มคุณภาพในการทำงานขึ้นไปอีก จนสามารถผ่านเกณฑ์ TQA ได้ในปีต่อ ๆ ไป โดยตอนนี้เรามีแผนพัฒนา 4 ด้าน คือ หนึ่ง การพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตร์ให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น และต้องเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ สอง สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อมาใช้บริการผู้ป่วย สาม การเป็น globalization ในเรื่องของวิชาการ ให้คนที่อยู่ในโลกเรียนรู้ร่วมกันได้ และสี่ เน้นเรื่องของ lifelong learning”

รางวัลที่มากกว่าความภูมิใจ

“จรัญ คำเงิน” ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภารกิจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหลัก ๆ คือ ด้านผลิต จัดส่ง พลังงานไฟฟ้าหล่อเลี้ยงทั้งประเทศ และภารกิจอีกส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

“กระบวนการที่จะบริหารจัดการทรัพยากรน้ำนั้นมีความซับซ้อน เพราะเขื่อนแต่ละแห่งมีความหลากหลายทางมิติ ภูมิศาสตร์ และสังคมโดยรอบ เราจำเป็นต้องมีกระบวนการดำเนินงานที่มีขั้นตอน แผนงาน และสามารถพัฒนางานส่วนต่าง ๆ ได้ เพราะท้ายที่สุดเราจึงมีการนำเกณฑ์ของ TQA มาปรับใช้ จนสามารถรับรางวัลในที่สุด ตรงนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการทำงานของเรามีมาตรฐานสากล ทั้งยังตอกย้ำว่า สิ่งที่เราทำถูกต้องแล้ว เพราะช่วยทำให้เราส่งมอบไฟฟ้าให้ได้ตามที่รัฐบาลกำหนดอย่างมีคุณค่า ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเรา”

ต้องยอมรับว่าความสำเร็จของแต่ละองค์กรเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับการดำเนินงาน และพัฒนาการด้านต่าง ๆ จนทำให้การเพิ่มผลิตภาพดีขึ้นจริง ๆ 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!