น่านแซนด์บ๊อกซ์ จัดสรรที่ดิน-ตั้งกองทุนช่วยเกษตรกร

"บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
จังหวัดน่านมีลักษณะพิเศษเพราะพื้นที่ร้อยละ 85 ถูกประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ จึงทำให้พื้นที่ทำกินของราษฎรมีเพียงร้อยละ 15 และในช่วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา กระแสทุนนิยมและระบบเกษตรอุปถัมภ์ทำให้เกิดการรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดกันค่อนข้างมาก แต่กระนั้นเกษตรกรก็ยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพจนมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก

 

“บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนภาคเอกชนที่มองเรื่องการช่วยเหลือสังคมเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังเล็งเห็นว่าหากทิ้งปัญหาพื้นที่ทำกินของราษฎรในจังหวัดน่านที่มีประเด็นทางด้านกฎหมายจะกลายเป็นปมปัญหาเรื้อรังที่ไม่มีทางออก เขาจึงออกความเห็นให้มีการทดลองวิธีแก้ปัญหารูปแบบพิเศษ ด้วยการรวมพลังกับภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อจัดตั้งเป็นโครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์ (นซบ.) เมื่อปี 2561

ถึงตอนนี้โครงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 และล่าสุดมีการแถลงความคืบหน้าโครงการโดย “บัณฑูร” กล่าวเบื้องต้นว่า น่านแซนด์บ๊อกซ์ถูกเริ่มจากการที่เรานำปัญหาทั้งหมดในพื้นที่ไปปรึกษา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 2 ปีที่แล้ว นายกฯจึงลงพื้นที่จังหวัดน่านเพื่อรับทราบประเด็นปัญหาที่แท้จริง จากนั้นน่านแซนด์บ๊อกซ์จึงเป็นโครงการที่รัฐบาลอนุมัติเพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้ของจังหวัดน่าน

พร้อมกับสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืนให้แก่ราษฎร โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการภาครัฐ และผมเป็นประธานกรรมการภาคเอกชน ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้เราได้บรรลุถึงความสำเร็จไปขั้นหนึ่ง

“โจทย์แรกที่ทำคือ ทำให้ทุกคนมีที่ทำกินถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมานานหลายสิบปี จนภาคประชาชนเกิดความข้องใจในภาครัฐว่าจะแก้ไขปัญหาให้ได้หรือไม่ ซึ่งวันนี้มีคำตอบแล้วว่ามีรูปแบบที่จะแก้ปัญหาได้โดยการทำการแบ่งสัดส่วนการจัดสรรที่ดินป่าสงวนฯของจังหวัดน่านออกเป็น 72% เป็นพื้นที่ป่าสงวนฯในปัจจุบันที่ทุกคนต้องช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่ตลอดไป และอีก 28% จะกระจายอยู่ในทุกตำบล ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารยืนยันจากรัฐบาลว่าประชาชนสามารถทำกินได้ตามกฎหมาย”

“โดยแบ่งออกเป็น 18% เป็นพื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรน่านจะต้องร่วมมือฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งภาครัฐจะอนุญาตให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ส่วนนี้ได้ และ 10% เป็นพื้นที่ที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ แต่ยังคงเป็นป่าสงวนฯโดยกฎหมาย สิ่งสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าการมีพื้นที่ทำกินคือคนในจังหวัดน่านต้องมีความสามารถในการทำกินบนพื้นที่นั้น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเกษตรกรที่มีพืชเกษตรขายได้ในราคาดี และในปริมาณที่มากพอที่จะทำให้ชีวิตมีความเจริญ”

“บัณฑูร” อธิบายต่อว่า หลังจากทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนมาระยะหนึ่ง เราทำสรุปข้อมูลและประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ในการวางแผนเพื่อทำงานในปีถัดไป รวมถึงการหาคำตอบให้กับคำถามของประชาชน ปีที่ผ่านมาเราเก็บรายละเอียดครัวเรือนในจังหวัดน่านหมดทุกพื้นที่ โดยร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาชน ทั้งในเรื่องปัญหาของแต่ละครอบครัว หนี้สิน จนกระทั่งกลายเป็นฐานข้อมูลที่จะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยอันดับแรกเราใช้ฐานข้อมูลจัดทำคู่มือผู้นำชุมชน ซึ่งแต่ละตำบลจะมีคู่มือที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ตัวเอง และเราทำแจกหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ผู้นำตำบล ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ประธานสภาองค์กรชุมชน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล สามารถใช้คู่มือผู้นำชุมชน ซึ่งมีข้อมูลเชิงพื้นที่ อาทิ แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ป่าตามกฎหมาย ลุ่มน้ำชั้น 1, 2, 3, 4 และ 5 พื้นที่ไม่ใช่ป่า พื้นที่ทำกินในเขตป่าตามกฎหมาย ข้อมูลพิกัดรายแปลง รายชื่อลูกบ้าน จำนวนพื้นที่ทำกิน รายได้-หนี้สินของเกษตรกรประกอบการบริหารจัดการพื้นที่ 18% และ 10% ในพื้นที่แต่ละตำบลได้”

ส่วนแผนในปี 2562 “บัณฑูร” บอกว่า เราตั้งใจทำให้เกษตรกรจังหวัดน่านเปลี่ยนวิถีการทำมาหากินจากดั้งเดิมที่เน้นการปลูกข้าวโพดมาเป็นปลูกพืชใหม่ ๆ แต่เส้นทางระหว่างการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีปัจจัยเรื่องเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน ถ้าไม่มีรายได้ชดเชยให้เกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่านพวกเขาก็ไม่สามารถเลิกวิถีทำกินแบบเดิมได้ ซึ่งนี่คือความจริง

“โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านเกษตรกรที่ทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนฯในพื้นที่ 18% ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำหนดให้ฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ และพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเต็มที่ 10% จะได้รับการทดแทนรายได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดพืชที่ปลูกอยู่เดิม จำนวนพื้นที่ และปัจจัยอื่น ตรงนี้เราจึงมาคิดว่าต้องมีกองทุน แต่หากจะเอางบประมาณของรัฐบาลมาใช้ก็จะมีความล่าช้าทั้งในแง่ของการตั้งงบประมาณและขาดความคล่องตัว”

“ดังนั้น ทางออกดีที่สุดคือการหาเงินจากข้างนอก เงินบริจาคจากผู้ที่อยากจะช่วย แต่ที่สำคัญต้องเข้าในบัญชีของผู้ที่เป็นที่ไว้วางใจของทุกคน เราจึงมองเห็นว่าจะขอพระราชทานพระราชานุญาตสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวบรวมเข้าสู่บัญชีของพระองค์ ซึ่งพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณกับจังหวัดน่านมหาศาลมานานแล้ว และพระองค์พระราชทานก่อตั้งมูลนิธิรักษ์ป่าน่านด้วย”

“ในปี 2563 จะเป็นปีที่เรานำองค์ความรู้ทุกศาสตร์มาปรับเปลี่ยนวิธีทำกินให้เกษตรกร โดยจะผลักดันให้ปลูกพืชทางเลือก ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง พัฒนาระบบขนส่งและการจัดเก็บสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งสร้างยี่ห้อสินค้าน่านด้วย เพราะรายได้ต่อไร่ของเกษตรกรน่านจะต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืน โดยน่านแซนด์บ๊อกซ์จะระดมองค์ความรู้จากทุกศาสตร์มาพัฒนาพืชทางเลือกที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง เพื่อผลิตสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต จนเกษตรกรน่านสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง”

ถึงแม้การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินในจังหวัดน่านยังมีโจทย์ที่จะต้องเดินทางไปอีกไกล แต่ถือว่าน่านแซนด์บ๊อกซ์มาไกลพอสมควรระดับหนึ่งแล้ว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!