เอพี พัฒนาเยาวชน เปิดพื้นที่ให้เด็กกลุ่มเสี่ยง

เอพี (ไทยแลนด์) ต่อยอดวิธีคิดการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมแบบนอกกรอบ ภายใต้แนวคิด “การส่งมอบผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน” นอกจากมีแคมเปญ AP Happiness ที่ส่งมอบรอยยิ้มและความสุขให้กับสังคมแล้ว เอพียังขยายขอบเขตไปสู่การส่งมอบความสุข ด้วยการหยิบยื่นโอกาส ผ่านการจับมือกับมูลนิธิสติ ในแคมเปญพิเศษ “Navigation Happiness” ส่งเสริมให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงได้เรียนรู้ในบริบทใหม่ โดยเริ่มจากสิ่งที่ตนเองชอบ

“สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์แบรนด์องค์กร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเอพีให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเข้าใจว่ากระบวนการสร้างคนให้มีคุณภาพต้องอาศัยหลากหลายองค์ประกอบ เพื่อทำให้คนคนนั้นมีแรงจูงใจ และพร้อมที่จะทำให้สิ่งที่ชอบกลายเป็นความจริง ดังนั้น เอพีจึงจัดแคมเปญ Navigation Happiness

“เราเล็งเห็นว่ามีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสที่เขาควรจะได้รับ เราจึงเปิดพื้นที่แห่งโอกาสให้กับเด็กเหล่านี้ โดยร่วมมือกับมูลนิธิสติที่ดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยง ผ่านการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองรัก และฝึกฝนอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถนำไปเป็นวิชาชีพในอนาคตได้”

โดยเอพีเชิญครูอาสาทั้ง 4 ท่านที่มีทักษะโดดเด่นในแต่ละสาขาอาชีพ ทั้งช่างภาพ ครูสอนเต้น แรปเปอร์ และเชฟ มาสอนน้อง ๆ ในมูลนิธิ เพื่อให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้ทักษะ และมีโอกาสที่จะได้ทดลองค้นหาคุณค่าในตัวเอง ด้วยการแบ่งจัดกิจกรรมออกเป็นกลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ที่สนใจในแต่ละด้านสามารถเข้าร่วมได้อย่างอิสระ

“เสกสรร รวยภิรมย์” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ กล่าวว่าโครงการนี้ถือว่าท้าทายสำหรับทั้งเอพีและมูลนิธิ แต่ด้วยปรัชญาแนวคิดที่ต้องการสร้างคนในแบบที่ยั่งยืนเหมือนกัน ตนจึงรู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมมือกับเอพีในการสร้างสรรค์โครงการดี ๆ ซึ่งจะช่วยต่อยอดการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้กับเด็กในมูลนิธิ

“สำหรับครูอาสา 4 ท่านที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้แก่ เป้-บดินทร์ เจริญราษฎร์ นักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดัง, อู๋-เปรมจิตต์ อำนรรฆมณี ครูสอนเต้นจาก D-Dance School, ชัช-ชัชวาล จันทโชติบุตร ช่างภาพรุ่นใหม่ระดับอินเตอร์ และตาม-ชุดารี เทพาคำ แชมป์ Top Chef Thailand”

“บดินทร์ เจริญราษฎร์” บอกว่าตอนที่ตัวเองได้รับเชิญจากทางเอพีและมูลนิธิสติ เมื่อทราบถึงแนวคิดของโครงการก็รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของตนที่ได้นำดนตรีเข้ามาช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง และเมื่อได้เข้ามาโค้ชน้อง ๆ ก็สัมผัสได้ถึงพรสวรรค์ของพวกเขา

“ดีใจมากครับที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันโอกาส ทำให้น้อง ๆ ได้เห็นคุณค่าของตนเอง อีกทั้งยังได้มอบเครื่องมือ และวิธีคิดในการดำเนินชีวิตให้กับพวกเขา ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่ยั่งยืนที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วมันคือชีวิตเขา เขาเลือกเอง”

ขณะที่ “ตอง” (นามสมมุติ) เยาวชนจากโครงการ Navigation Happiness เล่าว่าก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในมูลนิธิ ตนไม่มีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง ไม่เคยคิดว่าการร้องเพลงแรปจะเอามาเป็นอาชีพได้ เมื่อได้เข้ามาอยู่ในมูลนิธิสติ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ ได้กำลังใจ และได้รับการฝึกฝนจากครูจนตอนนี้มีผลงานเพลงเป็นของตัวเอง ซึ่งตนอยากจะทำเพลงต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ชอบ และดีใจที่มีคนมองเห็นคุณค่า


โดยผลงานของน้อง ๆ ทุกคนที่อยู่ในโครงการ Navigation Happiness ถูกรวบรวมให้มาอยู่ในภาพยนตร์สั้นความยาว 15 นาที เรื่อง “โลกของหนูไม่มีท้องฟ้า” หรือ “The World Without Sky” ซึ่งนำมาเปิดฉายในงาน Bangkok Design Week 2019 ที่เปรียบเสมือนเวทีโชว์ความสามารถของน้อง ๆ เป็นครั้งแรก โดยได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงาน นักเรียน นักศึกษา ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก