CSR ประชาคมโลก-ประชารัฐไทย “ดร.ศุภชัย” ชี้ SDGs เข็มทิศเปลี่ยนโลก

“ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตเลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) ปาฐกถาพิเศษ “CSR ประชาคมโลก-ประชารัฐไทย” ในเวทีสัมมนาเพื่อสังคมแห่งปี CSR 360 องศา “รวมใจ นำไทยยั่งยืน” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา

บ้านเมืองมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้เราอยู่รอด 

ดร.ศุภชัย เริ่มต้นว่า กระบวนการ CSR ของโลกไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าที่ประเทศไทยจะทำได้ ประสบการณ์การทำงานบนเวทีระดับโลกต่อเนื่อง 11 ปี ได้เรียนรู้มากที่สุดไม่มีที่ไหนดีไปกว่าประเทศไทย มีความอบอุ่น มีความเข้าอกเข้าใจกันดี แม้จะคิดต่างกันอยู่เสมอก็ตาม องค์การสหประชาชาติ (UN) มองมาที่ไทยเสมอว่ามีปัญหา 108 ทั้งเรื่องการเมือง สังคม การประท้วง แต่ทำไมเราสามารถไปได้ดีและไปรอดเสมอ เป็นเพราะบ้านเมืองมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีราชวงศ์คุ้มครอง ต้องสำนึกว่าเราอยู่ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน

พร 4 ประการอุ้มชู CSR ยั่งยืน

สิ่งที่เปรียบเทียบได้กับกระบวนการ CSR หรือโครงการประชารัฐของประเทศ คือ การให้ศีลให้พรกับเจ้าบ่าวและเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน เพราะเป็นเรื่องของความรักที่จะอยู่ร่วมกัน ขณะเดียวกันต้องมีความเอื้ออาทร สิ่งเหล่านี้อยู่ในพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

เมื่อทรงรับสั่งถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 4 ประการ ประการที่ 1 เรื่องความเข้าใจ พูดจากัน ประการที่ 2 ต้องจริงใจต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ประการที่ 3 ความอดทน ไม่มีนโยบายเรื่องใดที่ทำวันนี้แล้วพรุ่งนี้ได้ผล แต่เป็นเรื่องระยะยาว ตรงกับคำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประการที่ 4 การรู้จักให้อภัย เราคิดต่างได้ แต่เราต้องมีส่วนร่วม

สิ่งที่จะทำให้คู่ของคุณอยู่ได้ ไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่คิดเหมือนกัน แต่อยู่ที่คิดต่างกันและยอมรับซึ่งกันและกันได้

SDGs เข็มทิศนำทาง CSR 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการจะทำความเข้าใจว่า CSR คืออะไร ต้องมีเข็มทิศที่ดีกว่าเดิม หรือที่เรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย หรือ Sustainable Development Goals : SDGs หรือคำที่ใช้ในทางปฏิบัติ คือ ESG Environmental, Social, Governance เป็นตัวนำในเรื่องสาระของ CSR เพื่อผลักดัน SDGs ไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้นายบัน คีมุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เรียกว่า the road to dignity เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเฉกเช่นเดียวกับ CSR คือการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

17 เป้าหมาย…เปลี่ยนโลก

สมัยอยู่ที่ UNCTAD ได้ช่วยกันกำหนดวาระ agenda 20:30 ซึ่งเป็นเป้าหมายของ SDGs ในอีก 15 ปีข้างหน้า เพราะเราต้องการเปลี่ยนโลก จากวิกฤตด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร การผูกขาดทางการค้า เนื่องจากมนุษยชาติปราศจากเข็มทิศทางจริยธรรม แต่บ้านเมืองเราโชคดีมากที่มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จน UN เริ่มเหลียวหลังกลับมายกย่องในหลวงรัชกาลที่ 9 สิ่งสำคัญที่เราขาดไม่ใช่ความรู้ แต่ขาดปรัชญาหรือเข็มทิศนำทางไปสู่ความพอเพียง เท่าเทียมของโลก

เปลี่ยน Market capitalism สู่ระบบ Sharing

การผลักดัน agenda 20:30 เพื่อต้องการ transforming our world มี 17 เป้าหมายหลัก 169 เป้าหมายรอง ขณะนี้เรากำลังพยายามเปลี่ยนโลกจาก Market capitalism มาเป็นระบบ Sharing ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นส่วนสำคัญของ 17 เป้าหมาย ถ้าโลกไม่ได้ไปตาม agenda 20:30 และ ESG โลกจะล่มสลาย

หนึ่งใน 3 หัวข้อใน 17 เป้าหมายของ SDGs ซึ่งสะท้อนมายังประเทศไทย ได้แก่ ข้อ 17.1 การใช้ทรัพยากรในประเทศ แม้ว่าข้อ 17 เป็นเรื่องของ global partnership แต่โลกเวลานี้ประเทศยากจนอยู่ได้ด้วยประเทศร่ำรวยเอาเงินมาให้ใช้ ความจริงโลกจะอยู่ได้เมื่อมีการพึ่งทรัพยากรของตัวเองให้มากที่สุด

ข้อ 17.10 การส่งเสริมการเป็นพหุภาคี ถ้ายกเลิกข้อตกลงระหว่างประเทศจะเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก ผู้มีอำนาจของโลกมีแนวโน้มต้องการ Me first American first ถ้าพูดอย่างนี้ก็ไม่ต้องมียูเอ็นที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้อยู่ร่วมกันได้

ข้อ 17.19 เวลานี้การวัดความเจริญของประเทศด้วย GDP แม้สามารถวัดทิศทางการเติบโตของประเทศได้ แต่ได้เพียงบางส่วน เพราะมีอีกหลายส่วนที่ไม่ถูกนำมาวัดเป็น GDP เช่น คนชั้นแรงงาน ต่อไปในอนาคตจะต้องวัด human development วัด happiness index หรือวัดเรื่องวิถีชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยังมีอีกหลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนจากแบบดั้งเดิม เช่น ยิ่งอยากมากยิ่งดี ยิ่งรวยมากยิ่งดี สมัยก่อนคน 100 คนมีความมั่งคั่งเท่ากับคนครึ่งหนึ่งของโลก เวลานี้เหลือแค่ 8 คนที่ร่ำรวยเท่ากับคนครึ่งหนึ่งของโลก โลกอยู่อย่างนี้ไม่ได้

CSR ประชารัฐ…ปรับตัวรับ 4.0 

ขอตั้งข้อสังเกตเรื่องนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล อย่าลืมว่าที่ผ่านมาไทยถูกหลอกหลายครั้งสมัยกองทุนสำรองระหว่างประเทศ (IMF) ให้รัฐบาลเปิด capital account ให้ทุกคนกู้ได้ สุดท้ายก็ล่มสลายในปี 1997 สมัย Y2K เมื่อปี 1999-2000 ต้องซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ทั่วโลก…ล่มสลายอีก กลายเป็น IT BUBBLE

ขณะนี้ประเทศของเราไม่ได้มุ่งไปที่ 4.0 อย่างเดียว แต่เรามี 1.0 2.0 3.0 3.5 แต่อย่าให้คนมาบอกให้เชื่อว่าเวลานี้ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะไปทางนั้น เช่น แพลตฟอร์มของ e-Commerce ร่ำรวยโดยการให้แพลตฟอร์มบนจอ แต่ไม่ได้ทำให้คนออมมากขึ้นหรือผลิตของที่มีคุณภาพดีขึ้น และเวลานี้ธุรกิจต่าง ๆ ในโลก เมื่อมีแพลตฟอร์มแล้วไม่พอ ต้องซื้อโลจิสติกส์ในอาเซียน จีนประกาศว่าภายใน 10 ปี จะเป็น cashless society ยุทธศาสตร์ของเรายังไม่ถึงขั้นต้องการ cashless society แต่ต้องการให้คนรู้จักออมเงิน เห็นค่าของเงิน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) ในที่สุดจะไปควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในโลก การรบ ยุทโธปกรณ์ การซื้อขายหุ้น การใช้ทรัพยากร ใน UN คุยกันเรื่องนี้มาก ทั้ง AI, Internet of things ว่าในที่สุดใครจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ อะไรจะเป็นกฎระเบียบของโลกในอนาคต เพราะฉะนั้นทำอย่างไรในกระบวนการประชารัฐ CSR ทั้งหลายไม่ให้เกิดผลกระทบ

ไม่ใช่เพียงแค่รัฐปรับตัวเข้ากับธุรกิจเอกชน แต่เป็นการปรับตัวระหว่างธุรกิจเอกชน รัฐ แต่ชาวบ้านที่อยู่ระดับไม่ถึง 4.0 กระบวนการประชารัฐต้องไม่ใช่เรื่องระหว่างรัฐบาลกับเอกชน แต่ต้องเป็นเรื่องของทุกคน เพราะไม่เช่นนั้นการก้าวไปข้างหน้า 4.0 อย่างรวดเร็วอาจสะดุดได้