กรีนพีซตั้งคำถามPDP2018 มองข้ามความยั่งยืน-ไร้แบบประเมินSEA

กรีนพีซหนุนพลังงานทดแทน - แผน PDP ฉบับล่าสุด ทั้งเอกชน-เอ็นจีโอ ต่างตั้งคำถามว่าทำไมใช้ศักยภาพด้านพลังงานทดแทนน้อยมาก และปัจจุบันต้นทุนผลิตก็ลดลงเป็นอย่างมาก แต่กลับให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่ใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลิง และต้องนำเข้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงและราคาที่มีความผันผวน
กรีนพีซค้านแผน PDP 2018 ไร้เนื้อหาการพัฒนายั่งยืนและไม่มีแบบประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ ซ้ำพาประเทศเสี่ยงพึ่งพาก๊าซ LNG นำเข้าจำนวนมาก ตั้งข้อสังเกตไฟฟ้าสำรองล้น ทำไมยังต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีก ส่อใช้โปรเจ็กต์อาเซียน พาวเวอร์กริด เทไฟฟ้าสำรองขายเพื่อนบ้าน 

 

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับล่าสุด หรือ PDP 2018 (Power Development Plan 2561-2580) ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเร็ว ๆ นี้กลายเป็นประเด็นให้คนในแวดวงพลังงาน และแวดวงสิ่งแวดล้อมวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดแข็ง-จุดอ่อน รวมถึงในมิติอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของแผน PDP ฉบับล่าสุดพบว่ามีหลายประเด็นที่ไม่ได้ระบุเอาไว้ ทั้งที่มีความสำคัญคือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

“จริยา เสนพงศ์” ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผน PDP 2018 ว่า ได้ตั้งข้อสังเกตถึงแผน PDP ดังกล่าวไว้ 5 ประเด็นคือ 1) กำลังผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า อย่างก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก อาจทำให้ประเทศมีความเสี่ยง หากต้องพึ่งพาก๊าซมากเกินไป โดยเฉพาะเพื่อมาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งที่ศักยภาพในแต่ละพื้นที่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้ และยังช่วยลดการนำเข้าพลังงาน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย 2) ไม่มีแผนสำรอง หรือแบบจำลองอื่น ๆ ในกรณีที่สถานการณ์การผลิต และความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จะดำเนินการอย่างไร

3) ไม่มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Environmental Assessment : SEA ที่จะเป็นเครื่องมือในการประเมินภาพรวมก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าควรสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่หรือไม่ 4) ไม่มีการระบุถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากแผนดังกล่าวมีโรงไฟฟ้าใหม่ทยอยผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอย่างต่อเนื่องในทุกปี ซึ่งควรมีมาตรการรองรับในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและปกติ และ 5) เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG ไม่ได้ถูกผนวกรวมไว้ในแผน PDP ฉบับดังกล่าว

“ทั้งแผนมีความมุ่งหวังเดียวคือต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องแบบเป็นรายภูมิภาค ทั้งที่อาจใช้แนวทางอื่น ๆ เข้ามาเสริมได้ เช่น ส่งกระแสไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งเข้ามาในพื้นที่ หรือควรเลือกผลิตไฟฟ้าจากศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ฉะนั้น ในทางปฏิบัติจริง ๆ ในแต่ละภาคอาจไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็ได้ แต่ที่น่าตกใจคือ ในแผนไม่ได้พูดถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เลย”

“จริยา” กล่าวเพิ่มเติมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามแผน PDP ฉบับนี้ถือว่าไม่มีความท้าทาย เนื่องจากเป็นแผนที่ดำเนินการได้อยู่แล้ว และไม่ได้แตกต่างจากแผน PDP 2015 ฉบับเดิมมากนัก ซึ่งในทางปฏิบัติ กระทรวงพลังงานควรตั้งเป้าหมายให้สูงกว่านี้ เพราะหากดำเนินการได้ ประชาชนและประเทศจะได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางกรีนพีซได้เข้าร่วมทุกเวทีที่กระทรวงพลังงานจัดขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อแผนดังกล่าวว่าควรเพิ่มประเด็นเรื่องความยั่งยืน และต้องจัดทำ SEA ในเวทีต่าง ๆ รวมถึงต้องการให้เผยแพร่ปริมาณสำรองไฟฟ้า (reserve margin) ในแต่ละปีให้ชัดเจน เพราะแผน PDP 2015 มีปริมาณไฟฟ้าคงเหลือในระบบสูงถึง 36% ในขณะที่ค่ามาตรฐานปริมาณสำรองอยู่ที่ 15% เท่านั้น เท่ากับว่าปริมาณไฟฟ้าในระบบมีมากกว่าความต้องการใช้ ทั้งนี้ต้องจับตาโครงการพัฒนาระบบสายส่ง ASEAN Power Grid หรือการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในอาเซียน ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนานั้น ในกรณีที่ไฟฟ้าเหลือในระบบจำนวนมาก มีความเป็นไปได้สูงที่ภาครัฐอาจจะนำไฟฟ้าส่วนเกินจำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่าแผน PDP ดังกล่าวมีการปรับลดการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนลดลงอย่างมาก ทำให้กระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่ไม่สามารถเติบโตทางธุรกิจได้

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานได้มีความพยายามส่งเสริมและจูงใจผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนด้านพลังงานทดแทน นอกจากนี้คือการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผน PDP ฉบับนี้จะเริ่มรับซื้อในอีก 10 ปีข้างหน้า นั่นหมายถึงว่าพลังงานทดแทนในส่วนที่ต้องรับซื้อจากผู้ประกอบการจะไม่มีการขยายตัว