“JobThai” เวอร์ชั่น 2019 แพลตฟอร์มตอบโจทย์ยุคดิจิทัล

ปีนี้เป็นปีที่จ๊อบไทย (JobThai) ผู้ให้บริการเป็นสื่อกลางระหว่างองค์กร และผู้หางานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้บริษัท ทิงค์เน็ต จำกัด เดินทางมาถึงปีที่ 19 ทั้งยังเป็นปีสำคัญ เพราะมีการเปิดโฉมองค์กรใหม่ ใช้โลโก้ใหม่ เพื่อสื่อถึงความสนุก ทันสมัย และเดินหน้ายกระดับการให้บริการด้วยการสร้างจ๊อบไทย โมบาย แอปพลิเคชั่น (JobThai Mobile Application) เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด ครอบคลุมคอนเทนต์คุณภาพแบบเจาะลึก เพื่อช่วยเติมเต็มและตอบโจทย์ชีวิตคนทำงาน

“แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ จ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่า การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดจากการที่เรามีผู้ฝากประวัติ และจำนวนลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับพฤติกรรมของคนหางานที่เปลี่ยนไป เราจึงเล็งเห็นว่าเราต้องปรับตัว และเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างในองค์กร รวมถึงการปรับภาพลักษณ์ และโลโก้ใหม่ในรอบ 19 ปี

“ภาพลักษณ์และโลโก้ใหม่ถูกออกแบบมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า จ๊อบไทยเป็นแบรนด์เทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการให้บริการคุณภาพ เข้าถึงง่าย และคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกคน โดยปัจจุบันมีผู้ฝากประวัติบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของจ๊อบไทยกว่า 1.6 ล้านคน มีจำนวนงานจากบริษัทชั้นนำกว่า 95,000 อัตรา และมีลูกค้าที่เป็นองค์กรกว่าหมื่นราย”

“การปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งนี้ เราใช้พลังของพนักงานทุกคนมีส่วนแสดงความคิดเห็นว่า องค์กรเราควรทำอะไร เพราะการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ต้องทำให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีความสุข นอกจากนั้น เรามีการจัดทีมทัพใหม่ให้เป็นแบบลีน รวมถึงการสร้างสำนักงานใหม่ที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อดูแลเรื่องการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่นโดยเฉพาะ ซึ่งตอนนี้มีพนักงานที่นั่นประมาณ 20 คน”

“เหตุผลที่เราไปตั้งสำนักงานเพิ่มที่เชียงใหม่ เพราะที่นี่กำลังเป็นเมืองด้านเทคโนโลยี มีบริษัททันสมัยใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และมีสตาร์ตอัพไปตั้งฐานที่นั่นมากด้วย บวกกับเรามองว่าคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเก่งไม่แพ้คนกรุงเทพฯ เราจึงอยากกระจายงานของเราไปที่เชียงใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ในพื้นที่ร่วมพัฒนาองค์กรเรา ส่วนเรื่องค่าแรง น้อง ๆ จะได้เท่ากับพนักงานในตำแหน่งเดียวกันกับที่ทำงานอยู่สำนักงานใหญ่ใน กทม. และอนาคตเราอาจมีการเพิ่มสำนักงานของเราในจังหวัดอื่น ๆ เช่นกัน”

“แสงเดือน” อธิบายถึงจ๊อบไทย โมบาย แอปพลิเคชั่นว่า ก่อนจะมาเป็นเวอร์ชั่นใหม่ เราทำการสำรวจคนทำงานทั่วประเทศ จำนวนกว่า 3,000 คน ผ่านหัวข้อมุมมอง และพฤติกรรมต่อการบริการหางาน สมัครงานออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้งานในปัจจุบันมากที่สุด และจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเรา (big data) ทำให้พบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการหางาน สมัครงานบนจ๊อบไทยผ่านสมาร์ทโฟน มีสัดส่วนสูงถึง 64.27% เมื่อเทียบกับเดสก์ทอปที่มีเพียง 35.73%

“เราตั้งใจออกแบบจ๊อบไทย โมบาย แอปพลิเคชั่น 2019 ที่มาพร้อมฟีเจอร์ที่ช่วยให้การหางาน สมัครงานสะดวก และง่ายมากขึ้น เช่น จ๊อบส์ เนียร์ มี (Jobs Near Me) ช่วยการค้นหางานที่อยู่บริเวณใกล้บ้าน ถึงแม้เราจะอยู่ในยุคที่คนทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ แต่เรากลับพบว่ายังมีคนที่ต้องการใช้ฟีเจอร์นี้หางานจำนวนมาก ซึ่งเราเคยทดลองเอาออกจากแพลตฟอร์ม แต่มีคนเรียกร้องให้นำกลับมาอีก โดยเวอร์ชั่นใหม่นี้จะมีการแสดงผลในรูปแบบแผนที่ที่ทางบริษัทพัฒนาขึ้นเอง พร้อมกับแนะนำวิธีการเดินทาง พร้อมคำนวณเวลา และค่าใช้จ่ายโดยประมาณ มาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนการสมัครงาน”

นอกจากนั้น ยังมีการค้นหางานอย่างละเอียด ด้วยการระบุช่วงเงินเดือน ประเภทธุรกิจ สถานที่ปฏิบัติงาน ประเภทงานหลัก ประเภทงานย่อย หรือการพิมพ์ keyword รวมถึงฟีเจอร์การสมัครงานถึง 4 ช่องทาง ได้แก่

หนึ่ง สมัครด่วน โดยจุดเด่นของช่องทางนี้ คือ ผู้ใช้งานสามารถกดสมัครงานได้ทันที และไม่จำเป็นต้องแนบเอกสารใด ๆ ส่วนผู้ใช้งานที่มีประวัติในระบบของเราแล้ว จะเพิ่มโอกาสที่องค์กรสามารถค้นหาประวัติเพื่อเรียกสัมภาษณ์ได้ง่ายอีกด้วย

สอง อัพโหลดไฟล์ประวัติ (resume) เป็นวิธีสมัครล่าสุดที่จ๊อบไทยเพิ่มเข้ามา โดยผู้ใช้งานสามารถแนบไฟล์ประวัติที่ออกแบบเอง ซึ่งสามารถอัพโหลดได้สูงสุดถึง 5 ไฟล์

สาม ส่งอีเมล์ถึงองค์กรที่ต้องการทำงานด้วย

สี่ กรอกประวัติแบบย่อ อีกหนึ่งวิธีสมัครล่าสุดที่เราเพิ่มเข้ามา โดยวิธีนี้จะเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งานที่ไม่มีไฟล์ประวัติ เพื่อเขียนการนำเสนอตนเอง และใส่ข้อมูลที่องค์กรต้องการในแบบฟอร์มย่อที่ใช้งานได้ง่าย และสามารถแนบไฟล์เพื่อส่งไปยังองค์กรได้เช่นกัน

ความพิเศษของการสมัครงานแบบอัพโหลดประวัติ ส่งอีเมล์ และกรอกประวัติโดยย่อ คือ ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ หรือสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ผู้ใช้งาน 53.29% ที่ต้องการสมัครงานโดยไม่ต้องเข้าสู่ระบบ หรือการสมัครสมาชิก

“แสงเดือน” กล่าวต่อว่า ผลจากการสำรวจทำให้ทราบข้อมูลเชิงลึกในหลายด้าน เช่น คนทำงานทั่วประเทศ 98.55% ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการหางาน สมัครงาน โดยช่องทางเลือกใช้มากที่สุด ได้แก่ เว็บไซต์หางาน คิดเป็น 97.39% ตามมาด้วยเว็บไซต์ขององค์กรที่ต้องการสมัคร คิดเป็น 44.20% และการใช้เสิร์ชเอ็นจิ้นคิดเป็น 28.72%

“ผลสำรวจยังเจาะลึกให้เห็นถึง 5 ปัจจัยแรก ที่คนทํางานส่วนใหญ่ใช้พิจารณาในการเปลี่ยนงาน ได้แก่ เงินเดือน คิดเป็น 22.97%, สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ คิดเป็น 19.46%, หน้าที่ที่รับผิดชอบ คิดเป็น 15.34%, การเดินทางสะดวก คิดเป็น 12.63% และโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คิดเป็น 11.77%”

“ซึ่งจะเห็นว่ามีปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ปัจจัยเรื่องการเดินทาง ที่คนทำงานให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยพบว่า 31.91% ของคนทํางานประจํา เลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางไปทํางาน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคิดเป็น 9.56% ของเงินเดือนที่ได้รับ และผลสำรวจยังพบอีกว่า คนทำงานต้องเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานโดยต่อรถมากที่สุดถึง 5 ต่อ คิดเป็น 17.32% สำหรับระบบขนส่งสาธารณะที่เลือกใช้มากที่สุด คือ รถโดยสารประจําทาง 29.43% ตามมาด้วย รถจักรยานยนต์รับจ้าง 21.69%, รถตู้และรถไฟฟ้า BTS เท่ากันที่ 12.40% และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT 8.80% ตามลำดับ”

นอกจากนั้น ในเรื่องของ big data ของจ๊อบไทย “แสงเดือน” บอกว่า งานที่องค์กรซึ่งเป็นลูกค้าของเราอยากได้คนอันดับที่ 1 คือ งานขาย ซึ่งเป็นที่ต้องการกว่า 21,000 อัตรา, อันดับ 2 คือ ช่างเทคนิค จำนวน 1 หมื่นอัตรา, อันดับ 3 คนผลิตควบคุมคุณภาพ 8,200 อัตรา, อันดับ 4 ธุรการจัดซื้อ และวิศวกรรม 2 ตำแหน่งนี้มีอัตราเท่ากัน คือ 6,500 อัตรา และอันดับ 5 บัญชี 5,100 อัตรา ส่วนคนทำงานสายดิจิทัลมีความต้องการมากขึ้น แต่ตัวเลขยังไม่ได้สูงมาก

“ขณะที่ผู้สมัครงานเลือกสมัครงานที่สวนทางกับความต้องการขององค์กรอยู่บ้าง โดยตำแหน่งที่คนสมัครมากสุด คือ ธุรการจัดซื้อ 17%, งานผลิตควบคุมคุณภาพ 9.24%, บัญชี 6.6%, ช่างเทคนิค 5.7% และวิศวกรรม 5.4% เมื่อ ยุคนี้จึงเป็น gig economy ซึ่งแน่นอนว่าเปอร์เซ็นต์คนทำงานประจำน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต และสัดส่วนคนทำงานฟรีแลนซ์จะมีเพิ่มมากขึ้น โดยคิดเป็น 4.36% เมื่อเทียบกับคนทำงานประจำ”

“สำหรับช่วงอายุของคนที่สนใจทำงานฟรีแลนซ์ มีดังนี้ Gen X (คนที่มีอายุ 43 ปีขึ้นไป) = 6.62% จากคนที่สนใจทำงานฟรีแลนซ์ทั้งหมด, Gen Y (คนที่มีอายุ 25-42 ปี) = 78.65% และ Gen Z (คนที่มีอายุไม่เกิน 24 ปี) = 14.74%”

ที่สำคัญ “แสงเดือน” ยังให้คำแนะนำองค์กรในยุคออนไลน์ว่า ควรต้องทำความเข้าใจกับพฤติกรรมคนหางาน ซึ่งคนอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น และการบริหารคนในองค์กรต้องมีการปรับสวัสดิการให้สอดคล้องกับเจเนอเรชั่นของคน เช่น คน Gen X มีความต้องการด้านความมั่นคง อาจต้องให้พวกเขาในเรื่องประกันสุขภาพ และ Gen Z เป็นคนชอบเที่ยว ชอบอิสระ ดังนั้นจะต้องตอบโจทย์พวกเขาในด้านวันลา หรือเวลาการทำงานแบบยืดหยุ่น เป็นต้น

นับว่าการปรับเปลี่ยนของจ๊อบไทยครั้งนี้เป็นการให้ความสำคัญกับการใช้แบบสำรวจ และวิเคราะห์ big data ซึ่งทำให้จ๊อบไทยสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับทุกคน ทุกกลุ่มได้เป็นอย่างดี

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!