ลูกน้องที่หัวหน้าหลงลืม

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ http://tamrongsakk.blogspot.com 

 

คนส่วนใหญ่ก่อนที่จะเป็นหัวหน้า ต้องเคยเป็นลูกน้องมาก่อน ซึ่งก็น่าจะเข้าใจมุมมองในฝั่งของลูกน้องว่าหลายครั้งจะต่างจากมุมมองทางฟากฝั่งของหัวหน้า

แต่หัวหน้าบางคนพอได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็อาจจะหลงลืมวันเก่า ๆ ที่ตัวเองเคยเป็นลูกน้องว่าเคยมีมุมมองเป็นอย่างไร เคยรู้สึกอย่างไรก็เลยเล่นบทหัวหน้าฟากเดียว

แบบจัดเต็มจนเกิดปัญหาตามมาอีกหลายเรื่อง

ผมจึงนำเอามุมของลูกน้องกลับมาเตือนใจหัวหน้า ด้วยมุ่งหวังที่อยากจะให้ทำงานร่วมกันแบบใจเขา-ใจเราอีกครั้งดังนี้ครับ

1.ลูกน้องคือพนักงานคนหนึ่ง (เหมือนกับหัวหน้า) ไม่ใช่คนรับใช้ที่จะดุด่าว่ากล่าวอย่างไรก็ได้ การด่าไม่ได้ทำให้งานดีขึ้น ตำหนิได้แต่อย่าด่าเพราะไม่มีลูกน้องคนไหนอยากถูกหัวหน้าด่าว่าด้วยอารมณ์

2.ลูกน้องยุคนี้ไม่ต้องการหัวหน้าที่เป็นเจ้านาย แต่ต้องการหัวหน้าที่เป็นพี่เป็นเพื่อน เป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำ สอนและช่วยกันแก้ปัญหา หัวหน้าที่เป็นที่ปรึกษาลูกน้องที่ดีมักจะรักษาลูกน้องที่ดีให้อยู่กับเราได้นานกว่าหัวหน้าที่ทำตัวเป็นเจ้านาย

3.เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลาออก หรือพ้นสภาพพนักงานไปแล้วก็จบความเป็นหัวหน้ากับลูกน้องทันที แต่ความเป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนจะมีต่อไปได้ ถ้าทั้งสองฝ่ายมีใจ (heart) ให้กันในตอนที่ทำงานร่วมกัน

4.ลูกน้องที่ไม่ประจบประแจง ป้อยอหัวหน้าด้วยคำหวาน ไม่ได้แปลว่าลูกน้องคนนั้นทำงานไม่ดี ไม่ควรประเมินผลงาน และตัดสินลูกน้องจากบุคลิกภาพ หน้าตา หรือการประจบประแจง

5.ลูกน้องมักแอบนินทาหัวหน้าอยู่เสมอ เพราะเมาท์อะไรก็ไม่มันเท่าเมาท์หัวหน้า หัวหน้าจึงควรระวังพฤติกรรมคำพูดคำจาที่แสดงออกกับลูกน้องอยู่เสมอ เพราะลูกน้องชอบเมาท์พฤติกรรมที่มีปัญหาของหัวหน้ามากกว่าการเมาท์พฤติกรรมที่ไม่มีปัญหา

6.ลูกน้องอยากให้หัวหน้าเห็นว่าตัวเองก็เป็นคนสำคัญคนหนึ่งเหมือนกัน

7.ลูกน้องต้องการคำชมเชยจากหัวหน้าเมื่อทำงานได้ดี และต้องการกำลังใจหรือคำพูดดี ๆ จากหัวหน้าเมื่อเจอปัญหาหนัก ๆ

8.หัวหน้าที่ลูกน้องชื่นชม เคารพรัก ศรัทธามักไม่ใช่หัวหน้าที่ทำงานเก่ง ฉลาดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นหัวหน้าที่มีทัศนคติดี ควบคุมอารมณ์ได้ดี มีภาวะผู้นำ และมีทักษะในการบริหารคนเป็นหลัก

9.ลูกน้องมักคิดว่าตัวเองทำงานหนัก เหนื่อย ทุ่มเทเต็มที่แล้ว แต่ทำไมหัวหน้ากลับเห็นความทุ่มเทเหล่านี้น้อยกว่าที่เขาคิด

10.ลูกน้องมักจะเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องเงินเดือน ทั้งนั้น เพราะเป็นสัจธรรมที่ว่า

“เงินเดือนเราได้เท่าไหร่ ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่” ถ้าหัวหน้าไม่ยุติธรรมในเรื่องนี้ก็มักจะมีปัญหาอีกหลายเรื่องตามมา

11.ลูกน้องไม่ใช่เซเว่นอีเลฟเว่น ลูกน้องต้องการมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง โดยเฉพาะหลังเวลางานไปแล้ว การเรียกใช้ลูกน้องนอกเวลางานควรเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนจริง ๆ ไม่ใช่นึกจะเรียกเมื่อไหร่ก็ได้ และคาดหวังว่าลูกน้องจะต้องพร้อมให้จิกได้เสมอตลอด 24 ชั่วโมง

12.เรื่องครอบครัวของลูกน้องเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก ระวังคำพูด การกระทำในทางลบกับครอบครัวของลูกน้อง เช่น ลูกน้องมาบอกว่าคุณแม่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ระยะนี้อาจจะต้องมาสายบ้างเพราะต้องดูแลคุณแม่ หัวหน้าก็บอกว่าที่บ้านไม่มีญาติพี่น้องคนอื่นช่วยดูแลบ้างเลยหรือ หรือคุณคิดว่าจะต้องดูแลคุณแม่ไปอีกกี่เดือน เป็นต้น

ผมหวังว่าหัวหน้าที่เคยหลงลืมความเป็นลูกน้องไปแล้ว จะเข้าใจหัวอกคนที่เป็นลูกน้องมากขึ้นบ้างนะครับ ??

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!