“บ้านปู”นำเข้าทีมงานต่างชาติ ซื้อหัวกะทิหวังปักธุรกิจใหม่ต่างประเทศ

สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

“บ้านปู” อิมพอร์ตทีมต่างชาติช่วยพัฒนาคนรับยุคดิจิทัล-ซื้อตัวหัวกะทิช่วยมอนิเตอร์ธุรกิจใหม่ปักหลักใน ตปท. พร้อมเดินหน้าลงทุนด้านพลังงานสีเขียว ลุยธุรกิจออกแบบติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ลูกค้า ชูเป็นบริษัทพลังงานครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ 

“สมฤดี ชัยมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้ความผันผวนของราคาพลังงาน ร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยี “disruptive” นั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านพลังงานจะต้องปรับตัว และสร้างพนักงานให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด โดยบ้านปูได้ดำเนินการใน 3 รูปแบบ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา และพัฒนาบุคลากรของบ้านปูรองรับธุรกิจในอนาคต 3 แนวทาง คือ

1) นำเข้าผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบุคคล เพื่อพัฒนาคนให้มี “digital mind set” 2) ซื้อตัวผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ประมาณ 20-30 คน เพื่อมองแนวโน้มเทรนด์พลังงานของโลก พร้อมกับหาโอกาสในการเข้าไปลงทุนเพื่อต่อยอดจากธุรกิจที่บ้านปูดำเนินการอยู่ใน 3 ประเภท คือ ธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจผลิตพลังงาน และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ที่มีอยู่ 10 ประเทศ คือ ประเทศไทย, อินโดนีเซีย, จีน, ออสเตรเลีย, ลาว มองโกเลีย, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม และ

3) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการเตรียมความพร้อมและพัฒนานักศึกษา โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบ ซึ่งคาดว่าใน 2 ปีข้างหน้าจะมีคนทำงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

นอกจากนี้ บ้านปูยังมีนโยบายที่จะสร้างบรรยากาศในการทำงาน ด้วยการจัดพื้นที่ “coworking space” เพื่อเพิ่มสีสันการทำงานให้กับพนักงาน รวมถึงในบางแผนกที่ไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานก็สามารถทำงานจากที่อื่นได้ ถือเป็นนโยบายของบ้านปูที่ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่น พร้อมกับดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงานมากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน กิจกรรมอื่น ๆ ที่มีพื้นฐานอยู่แล้วยังคงทำต่อ พร้อมทั้งยังเปิดโอกาสให้พนักงานเสนอว่าต้องการทำกิจกรรมอะไรที่แตกต่างจากเดิม โดยบ้านปูจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับพนักงานด้วย

“เทรนด์เรื่องพลังงานที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงานอย่าง energy storage system แต่ยังไม่มีใครการันตีได้ว่าจะมาแบบฟูลสเกลเลย หรือค่อย ๆ มา แต่สำหรับบ้านปูไม่ว่าเทรนด์จะไปอย่างไร เราพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมคนทำงานให้มีความพร้อมเป็นอันดับแรก เพราะองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจก็คือ คนทำงาน”

“สมฤดี” กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการพัฒนาคนที่บ้านปูให้ความสำคัญแล้ว การวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นอีกประเด็นที่บ้านปูให้น้ำหนัก อย่างเช่น การศึกษาถ่านหินว่าจะพัฒนาไปสู่โปรดักต์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับถ่านหินได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันราคาถ่านหินในตลาดโลกค่อนข้างต่ำ ประกอบกับทั่วโลกต่างโฟกัสไปที่พลังงานประเภทอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกระทบต่ออุณหภูมิของโลกให้น้อยที่สุด

“ฉะนั้น บ้านปูในปัจจุบันจึงเน้นไปที่การทำธุรกิจพลังงานสีเขียว อย่างเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะในรูปแบบของโซลาร์รูฟท็อปที่บ้านปูมีความเชี่ยวชาญ และในอนาคตจะลดสัดส่วนในธุรกิจถ่านหินให้ลดลง เพราะธุรกิจถ่านหินมีไว้ช่วยในแง่ของกระแสเงินสด อย่างไรก็ตาม บ้านปูคาดการณ์ว่า ตั้งแต่ปี 2020 ความต้องการใช้ถ่านหินจะลดลงไปเรื่อย ๆ และในปี 2025 จะลดลงเหลือต่ำกว่า 45% ได้ แต่ความต้องการใช้ถ่านหินทั่วโลกที่ยังมีอยู่ จึงไม่ได้ทำให้ถ่านหินหายไปทันทีทันใด”

สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ของบ้านปูต่อจากนี้ “สมฤดี” บอกว่า ตามแผนดำเนินการของบ้านปู คือ การพัฒนาแหล่งเชลก๊าซ ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ถือเป็นธุรกิจต้นน้ำ คือ ตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจและผลิต โดยตั้งงบประมาณไว้ที่ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ บ้านปูได้ลงทุนก่อสร้างสำนักงานบริหารการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติไปแล้ว ทั้งยังมองถึงโอกาสการลงทุนด้านพลังงานอีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการทำงานของบ้านปูที่ต้องการเป็นบริษัทพลังงานครบวงจร และมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจพลังงานทดแทนมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

 

“บ้านปู” รุกสมาร์ทซิตี้โซลูชั่น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บ้านปูและโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ประเทศไทย ได้ร่วมเปิดตัวการให้บริการด้านสมาร์ทซิตี้โซลูชั่น ที่บ้านปูเป็นผู้ออกแบบระบบ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และสมาร์ทโซลูชั่นด้วยเทคโนโลยีสะอาด ทันสมัย และครบวงจร ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าภายใต้ราคาที่เหมาะสม

มีความเสถียรต่อเนื่องและมีราคาที่เหมาะสม ประกอบด้วยนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์แบบไมโครกริด ระบบกักเก็บพลังงาน ระบบการบริหารจัดการพลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า และสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ซึ่งสมาร์ทซิตี้โซลูชั่นนี้จะช่วยส่งเสริมให้โรงเรียนนานาชาติรักบี้ เป็น “ต้นแบบสมาร์ทแคมปัส” ที่มีการใช้พลังงานอย่างมีคุณภาพและคุ้มค่า และช่วยส่งเสริมการเรียนของเด็กในยุคใหม่ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ


โดยในเฟสแรกจะเน้นเพื่อรองรับระบบไมโครกริดในอนาคตของโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ที่บ้านปูติดตั้งรวม 752 กิโลวัตต์ และคาดว่าภายใน 1 ปี จะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ 560 ตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้มากกว่า 32,700 ต้น ลดการใช้น้ำได้ 1 ล้านลิตร และประหยัดไฟฟ้าได้ 3.6 ล้านบาท/ปี รวมถึงในพื้นที่โรงเรียนยังได้นำเทคโนโลยีเช่น โซลาร์คีออสก์ (solar kiosk) ระบบออนและออฟกริด ที่ใช้ได้ทั้งไฟบ้านและโซลาร์แชร์ ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้แบบ 100% อีกด้วย