หัวหน้าที่ลูกน้องต้องเข้าใจ 

คอลัมน์ HR CORNER 

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

 

ก่อนหน้านี้ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับลูกน้องที่หัวหน้าอาจลืมไป โดยอยากให้หัวหน้าได้เข้าใจในมุมมองของฝั่งลูกน้องไปแล้ว

เพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ในฐานะที่ผมเองก็เคยใส่หมวกความเป็นหัวหน้ามาแล้วเหมือนกัน ก็เลยอยากจะเอาฟากฝั่งของหัวหน้ามาบอกให้คนที่เป็นลูกน้องได้เข้าใจธรรมชาติของคนที่เป็นหัวหน้าด้วยตามตัวอย่างนี้ครับ

1.หัวหน้าต้องรับแรงกดดัน และความเครียดสูงกว่าลูกน้อง เพราะหัวหน้าไม่ใช่คนที่อยู่บนสุด เหนือหัวหน้าก็ยังมีหัวหน้าที่เหนือกว่า ดังนั้น หัวหน้าจึงต้องรับแรงกดดันที่ถูกอัดลงมาจากข้างบน และถูกโวยจากข้างล่าง (คือลูกน้อง) หวังว่าลูกน้องจะเข้าใจหัวหน้าบ้างว่าทำไมถึงมู้ดดี้พูดจาเสียงแข็งเสียงเข้ม และดุในเวลาที่กดดัน และเครียด

2.หลายเรื่องที่หัวหน้าสั่งให้ลูกน้องทำเป็นเรื่องนโยบายจากหัวหน้าระดับสูงกว่า ซึ่งหัวหน้าก็ไม่ได้เห็นด้วยเสียทุกเรื่อง แต่หัวหน้าก็ไม่สามารถจะไปพูดกับลูกน้องได้ว่า “พี่ก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน” เพราะจรรยาบรรณค้ำคออยู่ ทำให้ลูกน้องคับข้องใจว่าทำไมหัวหน้าถึงสั่งให้ทำในเรื่องที่ nonsense แถมหัวหน้าก็ไม่อธิบายบอกเหตุผลอะไร ได้แต่บอกให้ทำไปเถอะ

3.หัวหน้าไม่อยากให้งานในความรับผิดชอบของตัวเองเสียหายในสายตาหัวหน้าที่เหนือขึ้นไป ก็เลยเอางานสำคัญ ๆ ไปให้ลูกน้องที่ทำงานดี ไว้วางใจได้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับงานนั้นทำแทน ซึ่งก็อาจจะทำให้ลูกน้องมือดีเหล่านี้หงุดหงิดใจว่าทำไมหัวหน้าต้องเอางานของคนอื่นมาให้เราทำ ด้วยเงินเดือนก็ได้แค่นี้เอง จะเอาอะไรกันนักหนา

แต่ถ้าลูกน้องคนไหนสามารถปรับวิธีคิดใหม่ได้ว่านี่จะทำให้เราได้เรียนรู้งานใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้เราเก่งขึ้น ที่พี่เขาเอางานนี้ให้เราทำเพราะเขาไว้ใจเรา ฯลฯ ก็จะลดความหงุดหงิดเหล่านี้ลงได้

4.หัวหน้ามี 2 ประเภทหลัก คือ มุ่งงานกับมุ่งคน หัวหน้าที่มุ่งงานจะทำทุกทางเพื่อให้งานที่รับผิดชอบบรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็จะมีแนวโน้มเป็นเผด็จการ และเน้นการลงโทษ หากลูกน้องทำไม่สำเร็จ ส่วนหัวหน้าที่มุ่งคนมักจะตามใจลูกน้องไม่เน้นผลสำเร็จของงานไม่กล้าว่ากล่าวเมื่อลูกน้องเกเร ซึ่งลูกน้องมักจะไม่ชอบหัวหน้าประเภทมุ่งงานเพราะรู้สึกว่าหัวหน้าเอาแต่งาน ไม่สนใจความรู้สึกของลูกน้อง และลูกน้องจะชอบหัวหน้าประเภทมุ่งคน เพราะรู้สึกว่าหัวหน้าอยู่ในโอวาทจะบอกอะไรพี่ก็ตามใจทุกเรื่อง ใครจะได้หัวหน้าประเภทไหนอ่านตรงนี้แล้วจะได้เข้าใจสไตล์ของหัวหน้าของตัวเองนะครับ

5.หัวหน้ามักไม่ชอบลูกน้องที่เซลฟ์จัดจนเกินพอดี หรือทำตัวกระด้างกระเดื่องเสียงแข็ง ลูกน้องอาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกับหัวหน้าได้ แต่ควรอธิบายด้วยเหตุผลด้วยน้ำเสียงที่ไม่แข็งกระด้าง หรือทำท่าดูถูกความคิดของหัวหน้าประเภทเบะปากมองบน

6.หัวหน้าชอบให้ลูกน้องรายงานความคืบหน้าของงานเป็นระยะ โดยไม่ต้องให้หัวหน้าถาม แต่ลูกน้องอาจคิดว่าถ้าหัวหน้าอยากรู้ก็ควรถามเองสิ

7.เวลาลูกน้องทำดีหัวหน้าไม่ค่อยจำ แต่พอทำพลาดหัวหน้ามักไม่ค่อยลืม

8.หัวหน้ามีโอกาสเลือกลูกน้องได้ แต่ลูกน้องไม่มีสิทธิเลือกหัวหน้า และหัวหน้าออกหนังสือตักเตือนลูกน้องได้ แต่ลูกน้องออกหนังสือตักเตือนหัวหน้าไม่ได้

9.หัวหน้าไม่ชอบให้ลูกน้องพูดหักหน้า โต้แย้งในที่สาธาณะ หรือในห้องประชุม เมื่อหัวหน้าทำเรื่องผิดพลาด หรือพูดไม่ถูกต้อง แม้ลูกน้องจะเป็นฝ่ายถูกหรือมีเหตุผลที่ดีก็ตาม ลูกน้องควรหาโอกาสพูดกับหัวหน้าเป็นการส่วนตัวจะดีกว่า

10.แม้ลูกน้องจะมีเหตุผลที่ดีกว่าหัวหน้าก็ไม่ควรไล่ต้อนหัวหน้าให้จนมุมเพื่อให้ตัวเองชนะ เพราะในที่สุดลูกน้องที่คิดว่าตัวเองเอาชนะหัวหน้าได้ก็อาจจะต้องแพ้ในที่สุด

11.กรณีที่หัวหน้ากับลูกน้องมีปัญหาขัดแย้งกันหนักหนาจริง ๆ จนจำเป็นต้องเลือกว่าใครจะอยู่ใครจะไป บริษัทมักจะเลือกหัวหน้ามากกว่าลูกน้อง

12.หัวหน้าไม่ชอบลูกน้องที่ข้ามหัว เช่น การไปฟ้องหรือไปรายงานเรื่องต่าง ๆ กับหัวหน้าระดับสูงขึ้นไป โดยไม่บอกให้หัวหน้าโดยตรงให้รู้เสียก่อน

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหวังว่าลูกน้องจะเข้าใจหัวหน้าขึ้นบ้างแล้วนะครับ ??

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!