ผลกระทบ Disrupt ยังไม่จบ มิส คอนซัลท์ ระดมสมองตั้งรับ

ถึงแม้ว่ากระแสการตื่นตัวในเรื่องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค disruptive มีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นหัวข้อที่ได้รับการพูดถึงตลอดเวลา เพราะองค์กรต่าง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และมีประสบการณ์ใหม่อยู่ตลอด เพราะจะช่วยให้การบริหารจัดการองค์กรได้ง่ายขึ้น

ด้วยเหตุนี้ บริษัท มิส คอนซัลท์ (M.I.S.S.CONSULT) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพบุคคลบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ด้วยหลักจิตวิทยาเชิงบวกและประสาทวิทยาศาสตร์ จึงได้จัดสัมมนาเตรียมความพร้อมให้องค์กรเพิ่มศักยภาพบุคลากร เน้นเพิ่มทักษะผู้นำรับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี ตอบรับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ในหัวข้อ FUTURE CHANGE : What should companies do for CHALLENGE ahead ?

โดยในครั้งนี้มี “พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ” รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ IT Challenge, “ศลิษา หาญพานิช” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายเฟิร์ส และผู้บริหารสายเซ็กเมนต์แมเนจเมนต์ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มุมมองในเรื่องของ Wealth Challenge และการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจธนาคาร ต่อด้วยมุมมองในเรื่อง Organization and Human Capital Challenge จาก “ชุติมา สีบำรุงสาสน์” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บ.ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึง “ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินกลุ่ม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ในเรื่องของ Financial Challenge และปิดท้ายด้วย “กัลยา แก้วประเสริฐ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท M.I.S.S.CONSULT ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาการพัฒนาบุคลากร ในหัวข้อ People Development Challenge

เทคโนโลยีขับเคลื่อนคน

“พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์” เล่าย้อนถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงว่า ในอดีตการเปลี่ยนแปลงธุรกิจโทรคมนาคมช้ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ใช้เวลาไม่กี่เดือนก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ยกตัวอย่าง

จากเดิมการสื่อสารผ่านโทรศัพท์บ้าน เมื่อเข้าสู่ยุค 1G โทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกนำมาใช้แทน เป็นยุคที่เรียกได้ว่าธุรกิจโทรคมนาคมเริ่มได้รับผลกระทบ ตามมาด้วยยุค 2G ที่สื่อสารกันด้วยข้อความ คือ แพ็คลิ้งค์นั่นเอง ส่วนในยุค 3G มีจุดแข็งที่ความเร็วและสามารถสื่อสารด้วยรูปภาพได้ด้วย และถือเป็นรอยต่อสำคัญ เพราะเริ่มมีการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย จนมาถึงยุค 4G ที่เครื่องมือสื่อสารสามารถดูหนังและฟังเพลงได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ และล่าสุดการมาของยุค 5G ที่สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อระหว่างเครื่องกับเครื่อง (machine to machine)

“ในยุค 5G ที่จะมาถึง ภาคธุรกิจต้องเรียนรู้และหาแผนรองรับปรับการทำงาน เพราะยุคของ 5G เครื่องมืออุปกรณ์จะเรียนรู้และตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น ในเรื่องของการจดจำใบหน้าของคน ที่ส่งผลให้หลายธุรกิจ เช่น ธนาคารเริ่มเอาระบบ facial recognition มาใช้ ตามมาด้วยบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออีกด้วย”

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์อธิบายต่อว่า ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เห็นว่าธุรกิจต้องปรับตัว ตอนนี้กลายเป็นว่า “ปลาเร็ว” กินรวบทั้งปลาใหญ่และปลาเล็ก เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนคน (technology drives people) ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตควรต้องพิจารณาเรื่องการนำเอา IOT มาใช้ ส่วนธุรกิจค้าปลีกควรเน้นเรื่องโซเชียลมีเดีย และออนไลน์ และธุรกิจบริการต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ big data และใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) มากขึ้น

Big Data สร้างธุรกิจใหม่

ด้าน “ศลิษา” กล่าวว่า ธุรกิจการเงินการธนาคารต้องปรับตัวอย่างหนัก ทั้งในด้านโครงสร้างองค์กร และการพัฒนาบุคลากรที่ต้องเน้นการใช้ประโยชน์จาก big data เพราะองค์กรใดที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่และใช้เป็น จะยิ่งเพิ่มโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ได้อีกด้วย อย่างเช่น อาลีบาบา และเฟซบุ๊ก ที่ใช้ฐานข้อมูลจากธุรกิจอื่นในเครือมาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า จนปั้นธุรกิจใหม่เกี่ยวกับ lending และ payment นับว่าเป็นการทำธุรกิจในสายเดียวกันกับธนาคาร เท่ากับว่าเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดอีกด้วย

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ใช้ big data ในการทำธุรกิจเช่นกัน โดยเราพบว่าลูกค้าธนาคารใช้ mobile banking เพิ่มขึ้น จาก 3 ล้านราย เป็น 8 ล้านราย ภายใน 3 ปี และการเข้าใช้บริการสาขาธนาคารลดลงปีละ 10% การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เข้ามากระตุ้นให้ตัดสินใจเปลี่ยนใน 5 เรื่องหลัก ๆ คือ หนึ่ง ต้องทำองค์กรให้เบา (lean) หรือมีความคล่องตัว และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานให้มากขึ้น ยกตัวอย่างการเปิดบัญชี ในอดีตต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่ในปัจจุบันแค่ 10 นาทีก็เรียบร้อยแล้ว

สอง ต้องมี digital acquisition คือ ใช้ต้นทุนต่ำ ด้วยการอาศัยระบบข้อมูลที่ดี หาโมเดลใหม่ ๆ มาบริหารจัดการ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้มาก

สาม data capabilities คือ ความสามารถในการนำเอาข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเข้าถึงความต้องการของลูกค้า สี่ new growth มีการสร้างบริการใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของลูกค้า เช่น การพัฒนาด้านการให้บริการด้านคำปรึกษาด้าน lending หรือ wealth management โดยใช้แอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถวางแผนด้านการเงินเองได้ และ ห้า bank as a platform คือ การสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดยเราปรับรูปแบบการบริหารงาน ปรับวัฒนธรรมองค์กร เป็นลักษณะของ agile เพื่อให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น มีการตั้งทีม Ten X เป็นหน่วยงานใหม่ที่มีอิสระทางความคิด

อันดับแรกต้อง “ปรับคน”

ในมุมของ “ชุติมา” เธอบอกว่า disruption ส่งผลกระทบใน 3 เรื่อง คือ ผลกระทบด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและคน ซึ่งเปรียบเสมือนชีพจรที่เต้นอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น องค์กรต้องเริ่มปรับที่คน เพื่อใช้องค์ความรู้ของคนไปปรับเปลี่ยนองค์กร นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของคนทำงานที่ประกอบด้วยหลากหลายอายุ รวมประมาณ 5 เจเนอเรชั่น ต้องมองในเรื่องความสามารถของคนทำงานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัล องค์กรจะต้องสร้างแรงจูงใจ และปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

“ความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวขององค์กร คือ แนวโน้มด้านแรงงานที่กำลังเจอปัญหาการขาดแคลนทาเลนต์ในยุคดิจิทัล เพราะต้องการคนที่มี digital skill อย่างมาก และต้องการคนที่มีความสนใจด้าน STEM (scientific, technology, engineering, mathematic) ในขณะที่ความสนใจของคนรุ่นใหม่มีน้อยมากที่จะพัฒนาทักษะด้านนี้ แต่สนใจการจ้างงานในแบบ GIG economy ที่มีความเป็นอิสระ ทำให้องค์กรส่วนใหญ่เผชิญปัญหาการสร้างผู้นำในอนาคต”

ส่วนการเตรียมความพร้อมขององค์กรในยุคนี้ ต้องสร้าง 5 ด้าน คือ หนึ่ง ecosystem โครงสร้างองค์กรต้องกระชับและคล่องตัว มีการทำงานเป็นทีมเพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วในรูปแบบการบริหาร agile และควรสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ สอง ต้องส่งเสริมคนให้คนมี learning DNA อยู่ตลอดเวลา ให้โอกาสคนได้กล้าคิดและกล้าลองเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งสร้าง growth mindset ที่ไม่ตัดสินว่าคนเรา ฉลาดหรือโง่ เพราะคนทำงานสามารถพัฒนาเพื่อศักยภาพในแต่ละด้านได้

สาม ต้องพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำต้องเป็นตัวอย่างในการเปลี่ยนแปลง และสี่ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงต้องลดงานที่ต้องทำซ้ำ และให้คนไปทำงานด้านอื่นที่เครื่องจักรยังไม่สามารถทำได้ เช่น งานด้านการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า งานวิเคราะห์วางแผน เป็นต้น และห้า human ต้องมีการวางแผนด้านการ reskill สร้างเสริมทักษะคนให้แข็งแกร่งท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจได้

ฝ่ายการเงินต้องยืดหยุ่น

“ไตรทิพย์” กล่าวว่า บทบาทของอาชีพสายการเงินก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เช่น ตำแหน่งงาน CFO หรือ chief financial office ที่ถูกเปลี่ยนเป็น CPO หรือ chief performance office นั่นหมายถึงการที่ต้องมีทักษะอื่นนอกหนือจากด้านการเงิน โดยต้องควบรวมเรื่องดูแลด้านประสิทธิภาพขององค์กรเข้าไปด้วยฝ่ายการเงินไม่ใช่ผู้ที่คุมกฎระเบียบ แต่กลายมาเป็นผู้ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งเป็น business partner ให้กับทุกหน่วยงานเพื่อความคล่องตัวในการตัดสินใจ ซึ่งบทบาทที่เปลี่ยนไปนั้น

บุคลากรฝ่ายการเงินจะเป็นไปในลักษณะที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและบอกทิศทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในองค์กร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คนทำงานด้านการเงิน “หายาก” ที่ยากยิ่งกว่า คือ การรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้กับองค์กรได้นานที่สุด

ที่น่าแปลกใจ คือ บุคลากรในสายงานการเงินมักจะถูกละเลยในการให้ความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องธุรกิจที่ทำอยู่ ซึ่งคนการเงินในปัจจุบันต้องมีทักษะแนวทางที่คิดวิเคราะห์ โดยสามารถเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเก็บบันทึกข้อมูล เพื่อที่คนจะได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ในเรื่องที่ต้องใช้ทักษะการติดต่อสื่อสาร

คนสร้างการเปลี่ยนแปลง

“กัลยา” พูดถึงหัวข้อความท้าทายในการพัฒนาคนว่า องค์กรต้องเน้นเรื่อง mind set หรือการปักธงทางความคิดว่า ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดในการบริหารคน คือ ความเข้าใจ เพราะผู้นำส่วนใหญ่จะเป็นคนละเจเนอเรชั่นกับลูกน้อง ดังนั้น ในฐานะผู้นำจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากตนเอง เพื่อดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาในจุดที่เราต้องการ โดยผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะประกอบด้วยอำนาจ 3 อย่าง คือ position power อำนาจทางตำแหน่งหน้าที่, personal power อำนาจทางบารมี และ expert power อำนาจจากความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ อำนาจด้านบารมี หรือจิตใจ จะมีความยั่งยืนที่ดึงดูดคนให้อยู่กับองค์กรได้มากที่สุด

ทุกองค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะการบริหารจัดการบุคลากรขององค์กรให้สอดประสานกับการใช้เทคโนโลยีและสามารถแข่งขันได้ในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ไม่เพียงตอบสนองต่อการสร้างการแข่งขัน แต่ต้องตอบสนองต่อการสร้างบุคลากร ให้มาถึงจุดที่สามารถแข่งขันในธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนทำงานก็ต้องเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!