บทบาท “GCNT” ปี’62 เพิ่ม 100 องค์กร-ผลักดันสิทธิมนุษยชน

ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกตระหนัก และให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขกรณีพบการใช้แรงงานแบบผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ในธุรกิจประมง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และการค้าขายระหว่างประเทศจากการแบนสินค้าจากไทย โดยรัฐบาลภายใต้การบริหารของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงแรงงาน เร่งแก้ไข พร้อมกับดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้แก้ปัญหา

สมาคมถูกก่อตั้งโดยการรวมตัวของ 15 องค์กรไทย จากหลายภาคธุรกิจในปี 2560 ที่มีความมุ่งมั่นจะส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเปิดตัวสมาคมอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2561 ตอนนี้มีองค์กรไทยทยอยเข้าร่วมเป็นสมาชิกต่อเนื่อง ปัจจุบันมียอดสมาชิก 40 องค์กร และภายในสิ้นปี”62 คาดจะเพิ่มเป็น 100 องค์กร โดยมี “ศุภชัย เจียรวนนท์” ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

“ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร” กรรมการและรองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand : GCNT) กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมเครือข่ายมีสมาชิกถึง 40 องค์กร (จากช่วงเริ่มต้นก่อตั้งที่มี 15 ราย) รวมไปด้วยอุตสาหกรรมหลายประเภท ตั้งแต่อุตสาหกรรมพลังงาน ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจเกษตรและอาหาร ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจโรงพิมพ์

“ทั้งนี้สมาคมวางแผนจะขยายเครือข่ายในไทยให้เพิ่มเป็น 100 องค์กรภายในปี 2562 นี้ โดยสมาชิกจะได้ใช้ประโยชน์ในแง่ของฐานข้อมูลและองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้กับธุรกิจของตัวเอง ทั้งยังสามารถร่วมแลกเปลี่ยนแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน จากทั้งเครือข่ายในไทย และเครือข่ายระดับโลก เนื่องจากเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กถือเป็นสมาคมระดับโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีสมาชิกกว่า 13,000 องค์กร
ใน 160 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศในอาเซียนนอกจากไทยแล้ว ยังมีมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และเมียนมา ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอีกด้วย”

“สมาชิกจะได้พบกับธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน และได้แนวทางในการแก้ไขปัญหา และสามารถใช้องค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญนำมาปรับใช้เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิจากการทำธุรกิจ ที่สำคัญเครือข่ายนี้ยังเชื่อมโยงกับองค์การสหประชาชาติ (UN) สามารถช่วยสมาชิกให้มีองค์ความรู้ ที่สามารถไปปฏิบัติได้จริง”


“ดร.เนติธร” กล่าวเพิ่มอีกว่า สมาคมยึดแนวทางหลัก 4 ด้าน ตามแนวทางความยั่งยืน ที่ประกอบไปด้วย 1) สิทธิมนุษยชน 2) มาตรฐานแรงงาน 3) สิ่งแวดล้อม และ 4) การต่อต้านการทุจริต โดยช่วงเริ่มต้นเครือข่ายนี้จะเน้นที่การให้องค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนที่ภาคธุรกิจจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีสมาคมจัดงานประชุมสัมมนาเพื่อให้ความรู้ และอัพเดตบริษัทระดับโลกว่ามีพัฒนาการในมิติของความยั่งยืนอย่างไรบ้าง

“ขณะนี้เรากำลังพัฒนาคู่มือสำหรับภาคธุรกิจไทยในการจะดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน และทำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การร่างนโยบาย การตรวจสอบรอบด้าน กระบวนการเยียวยา ตามเป้าหมายของเราในปีนี้จะสร้างทิศทางด้านสิทธิมนุษยชนให้ชัดเจนมากขึ้น”

“รุจีนุช วรรณโก” ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ปตท.เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยมีการสร้างกฎ กติกาเพื่อเป็นมาตรฐานในการรวบรวมความรู้ พร้อมกับดึงความร่วมมือจากต่างประเทศ และช่วยเหลือภาครัฐในการแก้ไขปัญหาแรงงานเถื่อนและการค้ามนุษย์ รวมไปจนถึงปัญหาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำธุรกิจและปัญหาคอร์รัปชั่น

“นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังให้ความร่วมมือในการแสดงความเห็นเรื่องการกำหนดมารยาทกลาง เพื่อดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนออกมาบังคับใช้ หรือที่เรียกว่า แผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่อยู่ระหว่างดำเนินการของคณะกรรมการกำหนดแนวทางในการจัดทำ ติดตาม และประเมินผลตามแผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรม ซึ่งความคืบหน้าเบื้องต้นคือมีการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้”

“สำหรับ ปตท.เราให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจภายใต้แนวความคิดยั่งยืน ซึ่งทำให้ ปตท.ได้รับความเชื่อถือในด้านการทำธุรกิจอีกด้วย แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การช่วยเหลือภาครัฐในการป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ และลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม”

นับเป็นความร่วมมือในการสร้างแนวทางปฏิบัติของบริษัทไทย ให้ยกระดับความเป็นผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนไปสู่สากล