เท่าทันความท้าทาย

คอลัมน์ CSR Talk

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 

ในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่โหมพัดระลอกแล้ว ระลอกเล่าอย่างไม่มีท่าทีว่าจะหยุดนิ่งของยุคดิจิทัล โฉมหน้าของ CSR องค์กรก็คงเป็นรูปแบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกต่อไป

“รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ” และ “ดร.สมชัย จิตสุชน” กล่าวถึงประเด็นความท้าทายของสังคมไทยในงานสัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสวันสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวาระครบรอบ 65 ปี ชวนคิดไปถึงการทำ CSR ขององค์กรต่าง ๆ ที่คงต้องเท่าทันความท้าทายเหล่านี้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

หมดเวลาของ CSR แบบเลื่อนลอย ไม่มีที่มา ไม่มีเป้าหมายที่มีคุณค่า และไม่สามารถจับต้องหรือชี้วัดได้อีกต่อไป

ที่มาหรือ approach คือ จุดเริ่มต้นของการกำหนดแผนกลยุทธ์ ไปจนถึงกิจกรรมปฏิบัติการ และเมื่อองค์กรต้องการจะมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าแก่สังคม ก็ควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจปัญหาให้ชัดเจน ซึ่งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสองท่านได้กล่าวถึงความท้าทายของสังคมไทยสรุปได้ดังนี้

หนึ่ง การเมืองระดับโลก และระดับประเทศมีแนวโน้มที่โลกจะชื่นชมการใช้อำนาจมากกว่าประชาธิปไตย ซึ่งมีแนวโน้มของการลิดรอนสิทธิ มุมมองต่อความยากจนที่ไม่นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด นำไปสู่การขยายตัวของความขัดแย้ง แบ่งฝ่ายกันมากขึ้น มีผลต่อความเป็นชุมชน ในการลงไปทำงานกับชุมชนจะก้าวข้ามปัญหานี้อย่างไร

สอง ความเหลื่อมล้ำ ที่นับวันจะถลำลึก มีคนรวยขึ้นอย่างที่ไม่สมควรจะรวย และมีคนจนลงอย่างไม่สมควรจะจน การเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นปัจจัยเร่งทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น และสร้างโอกาสในการควบคุม และครอบงำชีวิตคนในสังคม จนทำให้ละเลยสิทธิขั้นพื้นฐาน นั่นคือสิทธิในการมีชีวิต และสิทธิในการแสวงหาความสุขที่ทุกคนควรมีอย่างเท่าเทียมกัน

การทำงานกับชุมชน อาจไม่ใช่การลงไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยตรง แต่อย่างน้อยก็เป็นการสร้างโอกาสในสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนในชุมชนควรจะได้รับ เช่น สิทธิในการศึกษา การได้รับการรักษาพยาบาล การเข้าถึงทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และสิทธิที่เท่าเทียมกัน

สาม social media ที่ปลุกกระแสความเกลียดชัง อคติ ความเชื่อที่ขาดเหตุผล มายาคติที่ไม่มีตรรกะ มีงานวิจัยจาก Michigan University และ University of Wisconsin-Milwaukee ระบุว่า มีนักศึกษาจำนวน 380 คน ยอมรับว่าเกิดความอิจฉาเมื่อได้เห็นชีวิตของคนร่ำรวยใน Facebook

นอกจากนั้น ยังพบว่ามีคนในวัย 18-34 จำนวน 1,500 คน รู้สึกว่าตนไม่ดีพอเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น การไม่รู้เท่าทัน และการเสพติด social media จึงทำให้เกิดปัญหาต่อความสัมพันธ์ ความมั่นใจในตนเอง และการตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ใช้ social media เป็นเครื่องมือ ในการทำงานกับคนในชุมชนจึงไม่ใช่ปัญหาของความไม่รู้ ขาดข้อมูล แต่เป็นปัญหาของการที่ไม่รู้จักการแยกแยะข้อมูล ไม่มีความสามารถในการอ่านข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความลวง อย่างที่ รศ.ดร.วรากรณ์ เคยนำเสนอบทความเรื่อง data literacy นั่นเอง

สี่ สังคมสูงวัย งานวิจัยของ TDRI ระบุว่า จากสัดส่วนผู้สูงวัยร้อยละ 35 พบว่า มี 73% ของผู้สูงวัยที่ไม่มีหลักประกันด้านรายได้เลย จากผลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง (ปี 2557) จำนวน 8.8 แสนคน เป็นชาย 3.2 แสนคน และหญิง 5.6 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมมากพอสำหรับการดูแลตนเอง ทำอย่างไรที่จะให้คนกลุ่มนี้ได้มีสิทธิในการใช้ชีวิตและมีความสุขอย่างเท่าเทียมในช่วงเวลาสุดท้าย

ความท้าทายที่ได้กล่าวมาทั้ง 4 ประเด็น เป็นจุดตั้งต้นหรือ approach ที่ชัดเจนในการนำไปสร้าง initiative topic ในการทำ CSR ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น องค์กรก็จะบรรลุถึงเป้าหมายการยกระดับ CSR ไปสู่ CSV-creating shared value คือ การสร้างความสำเร็จร่วมกันทั้งองค์กรและสังคม

การก้าวไปถึง CSV ได้นั้นจึงต้องมีความรู้อย่างถ่องแท้ถึงความท้าทายที่จะช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้คนในสังคม โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสก้าวข้ามไปด้วยกัน เพราะไม่มีสังคมใดที่จะยั่งยืนได้โดยการทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ข้อมูลอ้างอิง-http://www.bbc.com/future/story/20180104-is-social-media-bad-for-you-the-evidence-and-the-unknowns

https://tdri.or.th/