Design Thinking นำองค์กรล้ำหน้าความเปลี่ยนแปลง

ต้องยอมรับว่าหลังจากที่ “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) มีโอกาสไปเรียนหลักสตูร Leading in a Disruptive World (LDW) ของ South East Asia Center (SEAC) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา จนทำให้ประจักษ์ชัดกับคำว่า “disruption” มากยิ่งขึ้น กระทั่งเป็นเหตุให้เขาเกิดคำถามตามมามากมายโดยเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ว่าจะเกิดดิสรัปชั่น

เมื่อไหร่ ? อย่างไร ? และถ้าเกิดขึ้นจริงจะแข่งขันอย่างไรกันต่อ ? อะไรเป็นจุดขาย ? รวมถึงมุมมองของลูกค้าต่อเราจะเป็นอย่างไรต่อไป ?

คำถามทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่ “อนุพงษ์” พยายามค้นหาคำตอบ และกลับมาทบทวนว่า สิ่งที่เอพี ไทยแลนด์ จะดิสรัปต์มีอะไร อย่างไรบ้าง ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจร่วมทำวิจัยกับสแตนฟอร์ด โดยโฟกัสว่าเอพี ไทยแลนด์ ทำอะไร ขายอะไร ส่วนสิ่งที่ขาด จะเติมเต็มได้อย่างไร จนเกิดเป็นหัวข้อที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นจุดขายของเอพี ไทยแลนด์ คือ การส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด (quality of life) ให้แก่ลูกค้า

แต่การจะทำให้เกิด quality of life ได้นั้น เอพี ไทยแลนด์ จึงนำเรื่อง “design thinking” เข้ามาเป็นหลักคิดในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างรูปแบบวิธีการใหม่ๆ ให้กับคนในองค์กร ทั้งยังรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต

จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่เอพี ไทยแลนด์ นำเรื่อง “design thinking process” มาปรับใช้ในองค์กร ซึ่ง “อนุพงษ์” กล่าวว่า หากย้อนไปก่อนหน้านั้น การทำงานภายในองค์กรถือว่าติดขัดพอสมควร ทั้งเรื่องกระบวนการ และการเติบโต แต่หลังจากนำ design thinking มาใช้ รวมถึงการปรับโครงสร้างการทำงานภายในองค์กรให้เป็นอิสระจากกัน ทำให้กระบวนการทำงานภายในมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ส่งผลต่อรายได้ขององค์กรโตเพิ่มขึ้นปีละกว่า 10-15% โดยเห็นชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ผ่านมา

“เพราะธุรกิจของเราเติบโตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประมาณ 30% จากปี 2560 ส่งผลให้บริษัทขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้สูงสุดของเมืองไทย ซึ่งการเติบโตแบบสวนกระแสแบบนี้ นอกจากจะเป็นผลสำเร็จในทุกธุรกิจที่ดำเนินกิจการ ยังได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดอีกด้วย จนทำให้ยอดขาย และยอดการโอนกรรมสิทธิ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี”

“อนุพงษ์” กล่าวอีกว่า เอพี ไทยแลนด์ พยายามนำเรื่อง design thinking เข้ามาใช้ในองค์กรมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากหลากหลายโปรดักต์ในปีที่ผ่านมาที่ถูกคิดค้นด้วยกระบวนการดังกล่าว และแม้ว่าจะมีความยากในการทำก็ตาม โดยเฉพาะการทำ empathize ที่เป็นการทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าในทุกแง่มุม ซึ่งไม่ใช่แค่สัมภาษณ์พูดคุยเท่านั้น แต่ต้องเข้าไปศึกษา และเรียนรู้พฤติกรรมในแต่ละวันของลูกค้าด้วย

“ขณะที่การ define ที่เป็นการกำหนดกรอบ และทิศทาง เพื่อให้ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน รวมถึงการทำ ideate ซึ่งเป็นการระดมความคิดเพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ๆ ที่หลากหลาย และฉีกไปจากกรอบคิด หรือมุมมองแบบเดิมๆ ก็ถือว่าเป็นความยากในอีกระดับหนึ่ง ตรงนี้ถ้าเราดูแล้วว่าโครงการไหน หรือโปรเจ็กต์ไหนไปไม่รอดจะให้หยุดทันที”

“วันนี้มีพนักงานที่เรารับเข้ามาเฉพาะในโครงการที่เรียกว่า core team จำนวน 5 คน มีหน้าที่ในการสร้างสินค้า และบริการใหม่ๆ ให้กับองค์กร ด้วยการนำคนของเอพีไทยแลนด์ เดิมที่อยู่เข้ามาร่วมในการทำงาน โดยเรียกว่า team mem ซึ่งกลุ่มน้องๆ core team จะเป็นผู้หาไอเดีย หาความต้องการของลูกค้าในมิติต่างๆ ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมี team mem เข้ามาร่วมกันคิดเพื่อให้สิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นสินค้า และบริการในที่สุด”

“ที่สำคัญ เรายังมีทีมผู้บริหารเข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ทั้งเรื่องของความเป็นไปได้ การตลาด และการลงทุน เป็นต้น เพราะเมื่อ team mem สามารถทำงานไปได้อย่างไม่ติดขัดแล้ว น้องๆ core team จะออกมาคิดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ เพื่อทำให้เกิดสินค้า และบริการใหม่ๆ ให้แก่เอพี ไทยแลนด์ จนเกิดเป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อยๆ”

นอกจากการเติบโตขององค์กรที่นำเรื่อง “design thinking” มาปรับใช้ ยังมีการปรับโครงการสร้างการทำงานขององค์กรด้วย โดยในปี 2562 เอพี ไทยแลนด์ ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ คือ “AP World, A New Vision of Quality of Life”

สำหรับเรื่องนี้ “อนุพงษ์” บอกว่า วิสัยทัศน์ใหม่จะเป็นการสร้างพิมพ์เขียวแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีในวันข้างหน้าที่จะสมบูรณ์ไปด้วยระบบนิเวศ (eco system) ที่เอพีพัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่ริเริ่มสร้างสรรค์โลกแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งยังมีการเปิดตัว 3 ธุรกิจใหม่ (disruptive business) ได้แก่ VAARI, CLAYMORE และ SEAC อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ เอพี ไทยแลนด์ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ในการวิจัยเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรเดิมให้เป็น innovation culture ที่จะสอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวทางของ design thinking

“การปรับวัฒนธรรมองค์กรครั้งนี้ถือว่าเชื่อมโยงกับสิ่งที่เอพี ไทยแลนด์ ทำมาตลอด 3 ปี เพราะเราไม่รู้เลยว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง วันนี้ เอพี ไทยแลนด์ มีการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในสินค้า และบริการให้กับลูกค้า ซึ่งต้องไม่ใช่แค่นั้น เพราะสิ่งที่เป็นนวัตกรรม และเทคโนโลยี จะต้องเข้าไปอยู่ในวิธีคิด และดีเอ็นเอของพนักงานทุกกลุ่ม ทั้งเก่าและใหม่ของเอพี ไทยแลนด์”

“เราเชื่อว่าการปรับวัฒนธรรมองค์กรครั้งนี้ นอกจากจะทำให้สินค้า และบริการของเอพีดีขึ้น ยังจะตอบโจทย์ลูกค้า และพนักงานของเอพีมากขึ้น เพราะนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้นมาจะไม่สำเร็จเลย ถ้าไม่มีคนใช้ ที่สำคัญ จะต้องมี passion ในการนำไปใช้ และการจัดการอีกด้วย”

ถึงตรงนี้ “อนุพงษ์” กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เอพี ไทยแลนด์ ทำมาตลอด 3 ปี ถือเป็นการเตรียมตัวเพื่อเอาตัวรอดจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตต่อไปไม่มีใครรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือมีความท้าทายอย่างไรบ้าง

“ดังนั้น การขยายองค์กรสู่ 3 ธุรกิจใหม่ของเอพี ไทยแลนด์ เราจึงเชื่อว่าน่าจะช่วยตอบโจทย์ และเติมเต็มวิสัยทัศน์ในการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประสบความสำเร็จ เคียงคู่ไปกับ core business คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทในเครือให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2565 รายได้รวมทั้งหมดจะเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ 60,000 ล้านบาท และทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เอพี ไทยแลนด์ วิ่งนำออกไปบนโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงเรียบร้อยแล้ว และเราจะก้าวต่อๆ ไปอย่างยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย”

อันเป็นสิ่งที่ “อนุพงษ์” กล่าวย้ำอย่างหนักแน่น