เทรนด์ด้านความยั่งยืนปี 2019

คอลัมน์ CSR Talk

โดย ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

Sustain Ability บริษัทที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนออกรายงานถึงเทรนด์ด้านความยั่งยืนปี 2019 โดยระบุว่า โลกของเราจะยังคงเห็นความไม่แน่นอนด้านการเมือง ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และมีการสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ เราจะยังได้เห็นการพัฒนานวัตกรรมและการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของหลาย ๆ ธุรกิจ เมือง และภูมิภาคต่างๆ

ทั้งยังได้เห็นชาว Gen Z ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมไปถึงการที่คนบนโลกเริ่มตระหนักรู้ถึงประเด็นปัญหาด้านขยะพลาสติก ผลเช่นนี้ จึงทำให้ดิฉันขอสรุป 5 ประเด็นหลัก ที่ทาง SustainAbil-ity มองว่าเป็นเทรนด์ด้านความยั่งยืนในปี 2019 ไว้โดยย่อ ดังนี้

1.วิกฤตด้านสภาพอากาศ มีรายงานว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทั่วโลกในปี 2018 อยู่ที่ประมาณ 2.7% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งรายงานล่าสุดของ IPCC ได้กล่าวถึงความรุนแรงของผลกระทบที่ทั่วโลกกำลังเผชิญจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1 องศา และย้ำถึงความอันตรายอย่างมีนัยสำคัญ หากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 องศา โดยอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในปัจจุบันนี้ได้สร้างความเสียหายแก่ทั่วโลก ทั้งการเกิดน้ำท่วม พายุ ความแห้งแล้ง หรือไฟป่า นับเป็นมูลค่านับหลายพันล้านดอลลาร์ และแน่นอนว่าความเสียหายจากเหตุเหล่านี้จะยังเพิ่มสูงขึ้นในปี 2019

นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่ามีหลายประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งในสหภาพยุโรปที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษา momentum การลดการปล่อยก๊าซนี้ โดยสาเหตุใหญ่มาจากความล้มเหลวของประเทศเยอรมนีในการล้มเลิกการใช้ถ่านหิน สหรัฐอเมริกามีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2018 อยู่ที่ 3.4% สูงที่สุดในรอบ 8 ปี รวมไปถึงจีน และอินเดีย ที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงปี 2030 และ 2033 ตามลำดับ

ด้วยความท้าทาย และอันตรายดังที่กล่าวมา จึงมีความพยายามที่จะค้นหาวิธีการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่ถูกกล่าวถึง และกำลังได้รับความสนใจ คือ การดัดแปลงภูมิอากาศ หรือ geoengineering interventions ด้วย 2 วิธีการหลัก ๆ คือ การจัดการกับแสงอาทิตย์ (solar radiation management หรือ SRM) และการกำจัดหรือลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ (removal and storage of carbon dioxide)

แต่กระนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าการกระทำในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ สำหรับภาคธุรกิจยังต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรับผลกระทบจากสภาวะความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศนี้ และต้องร่วมมือกันให้มากขึ้นเพื่อหาทางออกในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงการหารือร่วมกับภาครัฐถึงนโยบาย และการปฏิบัติที่จะสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวให้จริงจังมากยิ่งขึ้น

2.อำนาจพลเมือง พลังของประชาชนเราได้เห็นประชาชนทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทั้งสถาบัน ธุรกิจ ตลอดจนรัฐบาลต่าง ๆ ช่วยกันสร้างสังคมโลกที่มีความเท่าเทียม และยั่งยืนมากขึ้น อาทิ การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในอินเดีย เพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีโดยผู้หญิงกว่า 5 ล้านคน ที่ออกมาเดินขบวนประท้วงให้ยกเลิกข้อกฎหมายที่ห้ามหญิงสาวผู้อยู่ในช่วงอายุที่สามารถมีบุตรได้เข้าสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา หรือชาวอเมริกันที่ออกมาประท้วงในเรื่องต่าง ๆ ทั้งความรุนแรงของการพกพาอาวุธปืน ความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงการพรากบุตรจากพ่อแม่ที่เป็นผู้อพยพ หรือผู้ลี้ภัย เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังรวมถึงการได้เห็นชาว Gen Z ผู้ที่กำลังจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดภายในปี 2020 กลายมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่ออกมาเรียกร้อง และเคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงของเด็กนักเรียนกว่าพันคนในกว่า 20 เมืองของประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากรัฐบาลเพิกเฉยต่อวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ “เกรต้า ทูนเบิร์ก” (Greta Thunberg) สาวน้อยชาวสวีเดนวัย 15 ปี ที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้ใหญ่รักษาโลกที่สวยงามเอาไว้ให้คนรุ่นหลังอย่างเธอ

ไม่เพียงเท่านี้ พลังของประชาชนในฐานะผู้บริโภคยังเรียกร้องให้ธุรกิจต่าง ๆ ดำเนินธุรกิจโดยนึกถึงประเด็นด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ดังที่ผลวิจัยของ Accenture Strategy ที่สอบถามจากประชาชน 30,000 คน ใน 35 ประเทศ พบว่า 62% ของผู้บริโภคต้องการให้บริษัทมีความชัดเจนในเรื่องความยั่งยืน ความโปร่งใส และการจ้างงานที่เป็นธรรม ซึ่งคาดว่าผู้บริโภคจะให้ความสนใจ และสนับสนุนบริษัทที่สามารถสร้างคุณค่าต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเข้มข้นและชัดเจน และสิ่งนี้จะเป็นแรงกดดันให้ธุรกิจหันมาสนใจกับประเด็นเหล่านี้มากขึ้น

3.ภัยคุกคามด้านความปลอดภัยโดยภัยแรก ได้แก่ ภัยบนโลกไซเบอร์ ซึ่งรายงานเรื่อง Global Risks ในปี 2018 ของ World Economic Forum ระบุว่า การรั่วไหลของข้อมูลบนโลกไซเบอร์ (security breaches) ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่อันตรายที่สุดของมนุษย์ และเราต่างได้เห็นว่าภัยบนโลกไซเบอร์นั้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ IOT และระบบ cloud computing (ระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อการใช้งานบนอินเทอร์เน็ต) จะยิ่งเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการโจมตีบนโลกไซเบอร์สูงขึ้น ดังที่เราได้เห็นบริษัทชั้นนำต่าง ๆ อาทิ Facebook และ Google+ เป็นต้น ที่ประสบกับปัญหานี้ในปี 2018

ภัยที่สอง คือ ความตึงเครียดด้านการค้า ที่อาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจโลก อาทิ ความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่ง IMF รายงานว่า ความตึงเครียดนี้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัวลงได้ถึง 0.5% ภายในปี 2020

อย่างไรก็ตาม ภัยที่ถือว่าส่งผลกระทบเป็นอันดับหนึ่งต่อการคุกคามความปลอดภัยของโลก ได้แก่ ภัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งผลกระทบที่เกิดกับพืชสวนไร่นา ปัญหาเรื่องการบริโภคน้ำสะอาดซึ่งอาจกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ได้ ประเด็นนี้ค่อนข้างได้รับความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากหากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ความใส่ใจในเรื่องการพัฒนาสู่ความยั่งยืนก็อาจลดลง จากภัยในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ธุรกิจต้องเริ่มลงทุนในระบบรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ให้มากขึ้น และร่วมมือกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ออกมาตรการที่จะมาคุ้มครองพลเมืองของพวกเขาได้

4.การรักษาระบบนิเวศวิทยาผลการประเมินเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาของโลกจากหลาย ๆ หน่วยงาน ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาต่างพบว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต เกิดการสูญหายของสายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วถึงพันเท่าจากระยะเวลาปกติ นอกจากนี้ รายงานเรื่อง Living Planet ในปี 2018 ของ World Wildlife Fund หรือ WWF พบว่า การบริโภคอย่างมากมายเกินจำเป็นของมนุษย์ คือ สาเหตุหลักสำคัญของวิกฤตการสูญหายนี้ เรายังพบอีกว่ามีมลพิษทางอากาศเพิ่มสูงขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกประเมินว่า ประชากร 9 ใน 10 คน ต้องหายใจเอาอากาศพิษนี้เข้าสู่ร่างกาย และมีประชากรทั่วโลกราว

7 ล้านคน ต้องเสียชีวิตจากการสูดอากาศพิษนี้ และด้วยวิกฤตด้านระบบนิเวศวิทยาที่โลกกำลังประสบอยู่ จึงมีความพยายามในการหาทางลดขยะ และการใช้พลาสติกจากทั่วโลก อาทิ การประกาศตัวของรัฐบาลจีนที่จะยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก่อนหน้าการประกาศดังกล่าว จีนนำเข้าขยะพลาสติกในปริมาณมากถึง 2 ใน 3 จากทั่วโลก บริษัท เนสท์เล่ ก่อตั้งสถาบันบรรจุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (Institute of Packaging Sciences) เพื่อสร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือวัสดุพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลาย ๆ ธุรกิจจะเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น แต่กลับยังไม่สูงมากนัก เพราะพบว่าเป้าหมายด้านความยั่งยืนของโลก ในข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (life below water) และข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (life on land) เป็น 2 ข้อที่ได้รับความสนใจจากธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ น้อยที่สุด

5.ผู้นำกลุ่มใหม่ ช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา เราเห็นการเสื่อมความนิยมในรัฐบาลกลางของหลาย ๆ ประเทศที่ถือว่าเป็นผู้นำของโลก อันเนื่องมาจากความไม่สามารถจัดการกับหลาย ๆ ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนได้ อาทิ ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และจากการเสื่อมความนิยมนี้ ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นในหลาย ๆ ประเทศเริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาประเด็นดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงภาคธุรกิจที่ตื่นตัวในการเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างพนักงานและลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น

โดยมีบริษัทกว่า 500 แห่งทั่วโลกที่นำแนวคิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยฐานวิทยาศาสตร์ (science based targets) มาใช้ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของตน และเป็นที่คาดว่าธุรกิจ และรัฐบาลท้องถิ่นจะยังคงความเป็นผู้นำในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนต่อไป รวมไปถึงการสร้างความโปร่งใสในการทำงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

ส่วนตัวนั้น ดิฉันเห็นด้วยกับรายงานของ WWF ที่บอกว่า สาเหตุหลักสำคัญของการเสียสมดุลด้านนิเวศวิทยาเกิดจากการบริโภคที่มากเกินจำเป็นของมนุษย์เรา เมื่อบริโภคมากเกินจน ระบบนิเวศเสียสมดุลก็ส่งผลกระทบถึงวิกฤตสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างเป็นทอด ๆ ประเทศไทยเองที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของวิกฤตสภาพอากาศนี้

ภาพคนสวมหน้ากากเดินบนถนนและสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เกี่ยวกับอนาคตที่เคยดูว่ามนุษย์ต้องลงไปอาศัยอยู่ใต้ดิน เพราะอากาศเหนือพื้นดินเป็นพิษเกินไป และไม่มีแหล่งน้ำที่สะอาด ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้กล่าวไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2018 ว่า เรามีเวลา 12 ปี ในการดูแลรักษาไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกินไปกว่านี้ เพราะหากไม่สำเร็จ โลกใบนี้ของเราจะเลยจุดที่จะสามารถเยียวยารักษาได้อีกต่อไป ไม่อยากจะคิดว่าหากเราล้มเหลวในภารกิจนี้


สิ่งที่เคยเห็นในภาพยนตร์ก็คงจะเป็นจริงในไม่ช้า วันนี้เมื่อภาคธุรกิจลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการคิดหาทางออกต่อวิกฤตของโลกใบนี้ จึงอยากขอฝากแนวคิดการดำเนินธุรกิจด้วยความพอเพียง และรับผิดชอบต่อสังคม (อย่างแท้จริง) เพื่อช่วยกันรักษาโลกใบนี้ให้คงอยู่สำหรับลูกหลานของเราต่อไปค่ะ