เครือซีพีขับเคลื่อนโครงการ “ซีพีเพื่อความยั่งยืน” ดึงพลังคนซีพีแก้ปัญหาสังคม ชู 28 โครงการต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ประกาศขับเคลื่อนโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานในทุกประเทศทั่วโลกดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในเชิงรุกในทุกพื้นที่ที่เครือฯ มีธุรกิจ โดยจัดให้มีการคัดเลือกโครงการเพื่อสังคมที่มีความโดดเด่นเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี

โดยในปีนี้มีโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติรวมทั้งสิ้น 28 โครงการ จาก 204 โครงการที่ส่งเข้าประกวด ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันให้ผู้บริหารและพนักงานได้มีส่วนร่วมในการก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ.2563 ของเครือฯภายใต้ยุทธศาสตร์ “Heart การดำเนินธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน-Health การสร้างสังคมสู่ความยั่งยืน-Home การปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน”ที่มีเจตนารมณ์ในการสร้างธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับคู่ค้าและพันธมิตรทั้งระบบเศรษฐกิจ ประชาชนและประเทศชาติ

โครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 โดยจัดให้มีการคัดเลือกผลงานโดดเด่นเป็นประจำทุก 2 ปี ในปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มธุรกิจของทุกเขตประเทศทั่วโลก และมุ่งหวังให้คนซีพีทุกคนมีส่วนร่วมในการทำโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน

สำหรับปีนี้ ได้จัดให้มีการประกาศผลโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนครั้งที่ 2 ปี 2561 ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยจัดขึ้นในงานประชุมสัมมนาวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ครั้งที่ 1/2562 ที่มีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยซีอีโอของทุกกลุ่มธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมงานด้วยเป็นจำนวนมาก

โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้มอบรางวัลซีพีเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 2 ปี 2561 จำนวน 28 โครงการ

แยกเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวม 18 โครงการ อาทิ โครงการธนาคารสัตว์น้ำชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ ICT Talent โครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า

โครงการก้าวที่พลาดสู่โอกาสสายอาชีพ โครงการน้ำผึ้งชันโรงดอกเสม็ดขาวแห่งป่า 3 น้ำ โครงการส้มปลอดภัยคนไทยยิ้มได้ โครงการหาย (ไม่ห่วง) โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยกล้วยหอมทอง เป็นต้น

ส่วนที่เหลืออีก 10 โครงการ เป็นโครงการในต่างประเทศ ได้แก่ โครงการในประเทศเวียดนาม เช่น โครงการบริจาคโลหิตและให้ความรู้โรคธาลัสซีเมีย โครงการอาสาสมัครเพื่อสุขภาพอนามัยประชาชน โครงการสร้างบ้านพักแก่ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย โรงพยาบาลมะเร็งแห่งชาติ เป็นต้น

ในส่วนของผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2563 ได้มีการเร่งขับเคลื่อนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยปัจจุบันกล่าวได้ว่ามีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และถือเป็นครึ่งทางของการดำเนินงานสู่เป้าหมายปี 2563 โดยสามารถดำเนินงานบรรลุเป้าหมายบางข้อแล้ว อาทิ การแสดงความโปร่งใสของการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลและความยั่งยืนผ่านการเปิดเผยข้อมูลในรายงานความยั่งยืนของเครือฯประจำปี ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจใน 21 ประเทศทั่วโลก

และมีการสนับสนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มเปราะบาง มากกว่า 100,000 ราย มีการลดปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยรายได้เกินกว่าร้อยละ 10 การพัฒนากระบวนการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสียของแต่ละกลุ่มธุรกิจ

ส่วนเป้าหมายอื่นส่วนใหญ่มีความก้าวหน้าตามแผนงาน และเริ่มขยายผลออกสู่หน่วยงานในต่างประเทศ เช่น ด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ สำหรับเป้าหมายที่มีความก้าวหน้าน้อยกว่าแผนงานคือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยรายได้ ที่กำลังเร่งดำเนินการในปี 2562-2563


นอกจากนี้ ยังมียังมีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมขึ้นมา คือการลดการใช้พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยให้สามารถนำมาใช้ซ้ำ ใช้ใหม่ หรือย่อยสลายได้ 100% ภายในปี 2568