ครบ 100 ปี สัมพันธ์ไทย – ILO ปลื้มไทยจริงจังแก้ปัญหาแรงงาน

กระทรวงแรงงานเร่งเดินหน้าประชาสัมพันธ์กิจกรรมการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 100 ปี ขององค์กรการแรงงานระหว่างประเทศ (International Lebour Organization – ILO) พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่นานาประเทศในการรับรู้ว่าประเทศไทยในฐานะ 1 ใน 42 ประเทศสมาชิกร่วมก่อตั้ง ILO มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการยกระดับมาตรฐานแรงงานเพื่อสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน โดยการทำงานอย่างใกล้ชิดและขับเคลื่อนโดยองค์กรภาคี นายจ้าง ลูกจ้างที่เข้มแข็ง

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ภายในงานการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส 100 ปี ของ ILO ในปี 2562 ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 11 เมษายน 2562 ประเทศไทยได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 24 ประเทศสมาชิก โดยจะมีการถ่ายทอดสดกิจกรรม ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาในการถ่ายทอดสดประเทศละ 1 ชั่วโมง ซึ่งประเทศไทยถ่ายทอดสดเป็นลำดับที่ 4 ในช่วงเวลา 10.00 – 11.00 น. ตามเวลาไทย

“ไฮไลท์ของการจัดงานมี 3 เรื่อง คือ เรื่องการจัดทำและเผยแพร่หนังสือประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย  ILO 100 ปี จัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึกเพื่อจำหน่าย และที่สำคัญคือการลงนามแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า (Decent Work Country Program : DWCP) ฉบับแรกของประเทศไทยระหว่างผู้แทนกระทรวงแรงงาน องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และ ILO เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนโดยประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานของ ILO จำนวน 2 แห่ง ณ อาคารสหประชาชาติ ได้แก่ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และสำนักงานแรงงานระหว่างประหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาว”

ทั้งนี้ประวัติศาสตร์อันยาวนานของ ILO เริ่มในปี 2462 ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง โดยมีเป้าหมายหลักการก่อตั้ง ILO คือการส่งเสริมเรื่องสิทธิในการทำงาน สนับสนุนให้เกิดโอกาสแห่งการจ้างงานที่มีคุณค่า การคุ้มครองทางสังคม และการปรึกษาหารือในประเด็นต่างๆโดยยึดหลักความยุติธรรมทางสังคม

แกรม บัคลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาว กล่าวว่า ขอชื่นชมการทำงานของประเทศไทยเป็นอย่างมาก สำหรับปี 2561 ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในด้านแรงงานและความก้าวหน้า

“ในปี 2562 การที่ประเทศไทยเป็นแนวหน้าในการให้สัตยาบันอนุสัญญาในเรื่องการทำงานในภาคประมง นับว่าเป็นการเริ่มต้นด้วยดี ซึ่งก้าวต่อไปเป็นเรื่องของการออกกฎหมายในเรื่องนี้ และตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณา เมื่อมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาเป็นธูปธรรมแล้ว ลำดับต่อไปก็คือการนำมาปฏิบัติ”

ส่วนในเรื่องแรงงานข้ามชาติซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศมาก สิ่งสำคัญก็คือการจัดระบบแรงงาน และ ณ ขณะนี้ประเทศไทยมีการทำงานได้อย่างดี เป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนในเรื่องของการจัดระบบระเบียบแรงงานข้ามชาติ


กิจกรรมครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพ บทบาทและความสำเร็จของประเทศไทยในการยกระดับมาตรฐานแรงงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน และแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าที่จะมีการลงนามดังกล่าว เป็นการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานในทุกมิติ เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งการทำงานในอนาคตได้อย่างราบรื่น