ILO ดึง 6 ชาติเอเชีย พัฒนาสิทธิแรงงานตอบโจทย์โลก

การทำธุรกิจในโลกปัจจุบันถือว่ามีข้อจำกัดและอุปสรรคน้อยลงมาก ส่งผลให้นักลงทุนที่มองเห็นโอกาสเข้าไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น บริษัทข้ามชาติเข้ามามีบทบาทในการใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในทวีปเอเชียอย่างต่อเนื่อง หากมองในแง่ของความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานแล้ว หากไม่มีการควบคุมอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบทั้งต่อสังคมและแรงงานเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ และเรื่องดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่สำคัญคือ จะต้องมีความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

จากข้อ “กังวล” ดังกล่าว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (International Labour Organization-ILO) ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักการอันเป็นข้อแนะนำให้กับรัฐบาล องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และบริษัทข้ามชาติ จึงเกิดโครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นความร่วมมือของสหภาพยุโรป (European Union-EU) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development-OECD) ที่จะช่วยกันผลักดันทุกภาคส่วนที่เป็น
องค์ประกอบของห่วงโซ่อุปทานในทวีปเอเชียให้ปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

“แกรม บัคลี่” ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว ของไอแอลโอ กล่าวว่า สำหรับบริษัทข้ามชาติที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และต้องคำนึงถึงความยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นมาตรฐานแรงงานและสภาพการจ้างงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากอียู มีระยะเวลาดำเนินการรวม 3 ปี เพื่อให้ภาคธุรกิจได้แลกเปลี่ยนหารือถึงความท้าทายและโอกาสในประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

ภายใต้โครงการดังกล่าวได้มีการจัดขึ้นใน 6 ประเทศในเอเชีย คือ ประเทศจีน, ญี่ปุ่น, เมียนมา, ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีกรอบการทำงานที่ต่างกัน อย่างจีนจะมุ่งเน้นในเรื่องอุตสาหกรรมไฟฟ้าและสิ่งทอ ด้านญี่ปุ่นเน้นไปที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ขณะที่เมียนมามุ่งเน้นไปที่เรื่องอาหารทะเลและเกษตรกรรม ฟิลิปปินส์เน้นไปที่เกษตรกรรมอาหาร ไทยเน้นไปที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และเกษตรกรรม และเวียดนามเน้นไปที่งานไม้ อาหารทะเล และเกษตรกรรม

เมื่อมาโฟกัสที่ประเทศไทยมีกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการรวม 4 ส่วน คือ 1) การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการทำแผนภูมิ (mapping) ของนโยบายองค์กรต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นฐานในการดำเนินโครงการ รวมไปถึงขั้นตอนการเจรจา ที่สำคัญจะต้องสื่อสารอย่างมีเป้าหมายมากขึ้น 2) การจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้แนวทางปฏิบัติระดับชาติและนานาชาติ 3) รณรงค์นโยบายการให้ความร่วมมือทางด้านเทคนิค และ 4) การจัดอบรมแนวทางการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับสากลให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ

จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายในหลายเรื่อง โดยเฉพาะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การว่างงาน ขาดแคลนแรงงาน รวมไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้าง-นายจ้าง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ได้กระทบไปถึงห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจทั้งสิ้น กระทรวงแรงงานในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบายนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และการพัฒนาระบบตรวจแรงงานเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิ์ และการจัดการแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยได้รับการยกระดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาอยู่ที่ระดับเทียร์ 2 ในปี 2560 ที่ผ่านมา

“พล.ต.อ.อดุลย์” กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการให้ความสำคัญในเรื่องข้อบังคับทางกฎหมายแล้ว มีการส่งเสริมให้สถานประกอบการใช้กรอบมาตรฐานแรงงานไทย หรือ TLS และแนวทางการปฏิบัติที่ดี หรือ GLP มาดำเนินการธุรกิจได้ตามความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม แม้แต่กระทรวงแรงงานก็ยังใช้แนวทางดังกล่าวมาใช้ในการปฏิบัติงาน 3 ระดับที่ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วน (agenda based), นโยบายระดับพื้นที่ (area based) และนโยบายการบริหารการพัฒนา (administration based)

ทั้งนี้ ในโอกาสที่ฉลองครบรอบ 100 ปีของ ILO กระทรวงแรงงานได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 24 ประเทศร่วมถ่ายทอดสดในวันที่ 21 เม.ย. 2562 โดยในวันดังกล่าวจะมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) แผนงานระดับชาติที่เป็นความร่วมมือของ 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล องค์กรนายจ้าง-ลูกจ้าง และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนส่งเสริมคุณค่าการทำงาน (decent work) สำหรับทุกคน และใช้หลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่ยุคของ brain power หรือพลังปัญญาในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นยุคที่คนสามารถใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถในการทำงานที่ก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุด แต่ที่สำคัญคนทำงานต้องมีความสุขกับการทำงาน และมีความมั่นคงในชีวิต

“เปียร์ก้า ตาปิโอลา” เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการส่งเสริมนักลงทุนและผู้ประกอบการให้เข้าใจถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และสร้างสิ่งแวดล้อมนโยบายที่สนับสนุนแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ

“ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในการพยายามแก้ไขปัญหาแรงงานประมง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่กระบวนการที่ง่าย และถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่นำเสนอการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และถือว่าก้าวเป็นผู้นำได้ในระยะยาว มีความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น”


การที่ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบและโปร่งใสต่อห่วงโซ่อุปทานจะส่งผลให้สังคมมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงมิติด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของการประกอบธุรกิจผสานกันอย่างกลมกลืนอีกด้วย