SET เชิดชูผู้ทำความดี พลังความดีสร้างสังคมไทยยั่งยืน

นอกจากบทบาทสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความก้าวหน้า พร้อมกับความสมดุลทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับบรรษัทภิบาล ภายใต้วิสัยทัศน์ตลาดทุนระยะยาวสู่ปี 2563 ที่ว่า “Towards Sustainable Growth” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ จึงได้จัดตั้ง “มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ในปี 2549

ด้วยการจัดสรรเงินรายได้ของ ตลท.ในสัดส่วน 1 ใน 3 ของกำไรในแต่ละปี มาสนับสนุนการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม และมุ่งดำเนินกิจกรรม สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อสังคมขององค์กรสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ อันเป็นการสร้างประโยน์ในด้านการพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมให้แก่สังคมไทย เฉกเช่นเดียวกับ “โครงการ SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กิจกรรมหลักเพื่อสังคม ที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯมุ่งยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล หรือองค์กรที่ทำความดี เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ทำความดี และสร้างต้นแบบคนดีของสังคมที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง

โดยตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯร่วมมือกับ 7 องค์กรในการค้นหาบุคคล หรือกลุ่มบุคคลผู้ทำความดี ที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน อันสอดคล้องกับเป้าหมายของแต่ละองค์กร เพื่อรับรางวัลเกียรติยศ “ผู้ทำความดีเพื่อสังคม” ใน 7 สาขา ประกอบด้วย

หนึ่ง สาขาการพัฒนาห้องสมุด คัดเลือกโดย สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ

สอง สาขาการพัฒนาการศึกษา คัดเลือกโดย มูลนิธิศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย

สาม สาขาการพัฒนาสังคมชนบท คัดเลือกโดย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน

สี่ สาขาการพัฒนาสังคมเมือง คัดเลือกโดย มูลนิธิวิมุตตยาลัย

ห้า สาขาการส่งเสริมดนตรี คัดเลือกโดย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

หก สาขาการส่งเสริมกีฬา คัดเลือกโดย สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย

และเจ็ด สาขาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนและสังคม คัดเลือกโดย มูลนิธิดวงประทีป

โดยล่าสุดมีการจัดงาน SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม ประจำปี 2561 ขึ้นที่ จ.เชียงราย เพื่อมอบรางวัลเชิดชูเกียรติคนดีที่อุทิศตน ทำความดีแก่สังคมไทย ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาการส่งเสริมดนตรี “รางวัลสุกรีเจริญสุข” มอบแก่ “อัญชลี เมฆวิบูลย์” ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

สาขาการพัฒนาสังคมเมือง “รางวัลอิสรเมธี” มอบแก่ “โครงการเจมส์ คันนาทองคำ” ที่ก่อตั้งโดย “ดร.ทวีพงษ์ อินวงศ์สกุล” และ “โครงการพี่สร้างสรรค์ น้องสร้างศิลป์ กลุ่มเมล็ดพันธุ์พบดินเพื่อพ่อ” ก่อตั้งโดย “ชยานนท์ ปัญญาธีรพงษ์”

สาขาการพัฒนาการศึกษา “รางวัลศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย” มอบแก่ “ดร.กัญญา สมบูรณ์” ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ โรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

“กฤษฎา เสกตระกูล” รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว บทบาทที่สำคัญของ ตลท.อีกประการหนึ่ง คือ การสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคม และสิ่งแวดล้อม

“เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเจริญก้าวหน้าจะก่อให้เกิดความสูญเสีย หรือสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องเหล่านี้นอกจากตลาดทุนแล้ว บริษัท หรือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องสร้างความสมดุลทั้ง 3 มิติ ให้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการมีหลักธรรมาภิบาล (good governance)

ขณะเดียวกัน การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาบุกรุกทำลายป่า, ปัญหาครอบครัว, ปัญหาด้านการศึกษา, ปัญหาขยะ เป็นต้น ต่างทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงมีคน หรือองค์กรต่าง ๆ ออกมาแก้ไข และช่วยเหลือในมิติต่าง ๆ”

ด้วยเหตุนี้ ตลท.จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกย่องผู้ที่ทำความดีช่วยเหลือสังคม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับกลุ่มคนในด้านต่าง ๆ ที่เสียสละแรงกาย แรงใจ อันเป็นที่มาของโครงการ SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม โดยที่ผ่านมามูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดำเนินงานร่วมกับ 7 องค์กร ที่ทำงานพัฒนาสังคมในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการพัฒนาส่งเสริมการศึกษา และแหล่งเรียนรู้

การพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมเมืองและสังคมชนบท การลดปัญหายาเสพติดในชุมชน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านร่างกายและจิตใจด้วยดนตรีและกีฬามากว่า 12 ปี ทั้งยังได้ประกาศเกียรติคุณ และมอบทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนต่อยอดความดีแก่คนดีไปแล้วกว่า 100 ราย

“การขยายกรอบการทำงานเพื่อสังคมผ่านการมอบรางวัลเชิดชูผู้ทำความดีใน 7 สาขาของ ตลท.นั้น ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่ออกมาสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมเป็นอย่างดี เพราะการค้นหา หรือคัดเลือกผู้ทำความดีของแต่ละมูลนิธิไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่หากเฟ้นหากลุ่มคน หรือองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย”

“แม้การมอบรางวัลให้กับผู้คน หรือองค์กรที่ทำความดี หากประเมินจะถูกมองเป็นเพียง out-put เท่านั้น แต่ในทางกลับกัน ผลที่เป็น out-come ที่มาจากการทำความดีของกลุ่มคนเหล่านั้น ถือเป็นผลกระทบเชิงบวก ที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้อย่างมากมาย และตรงนี้ถือเป็น social return ที่สร้างผลกระทบที่ยั่งยืนให้แก่สังคมในระยะยาวต่อไป”

“พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี” ประธานมูลนิธิวิมุตตยาลัย กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทั้ง 4 ท่านในครั้งนี้ เพราะทำงานอย่างเสียสละและอุทิศตน เพื่อประโยชน์ต่อสังคมนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และการทำความดีนั้นไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลไหนก็ตามจะมีคนเห็น อย่างรางวัลศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ที่มอบแก่ ดร.กัญญา สมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน คือ บุคคลตัวอย่างที่ดี”

“สำหรับรางวัลอิสรเมธี ที่มูลนิธิวิมุตตยาลัย และมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯคัดเลือก และมอบแก่โครงการเจมส์ คันนาทองคำ โดย ดร.ทวีพงษ์ อินวงศ์สกุล และโครงการพี่สร้างสรรค์ น้องสร้างศิลป์ กลุ่มเมล็ดพันธุ์พบดินเพื่อพ่อ โดยชยานนท์ ปัญญาธีรพงษ์นั้น ทั้งสองโครงการถือว่าอาตมาได้เห็นพัฒนาการมาตั้งแต่ระยะก่อร่างสร้างตัว บุกป่าฝ่าดง เพื่อยืนหยัดทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อ จนกระทั่งได้รับการยกย่องจากสังคม จึงนับเป็นเรื่องที่น่าชื่นใจ”

“การทำความดีที่อาตมากล่าวถึง และใช้คำว่าบุกป่าฝ่าดงนั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องไปบุกร้างถางดง แต่หมายถึงการฝ่าฟันความยากลำบากในการทำงาน รวมถึงการลงแรง ลงใจ ลงกำลังทรัพย์ เพื่อให้ความฝันของตัวเองนั้นเป็นจริง และยิ่งไปกว่านั้นต้องฝ่าดงของคำคน เพราะไม่มีป่าดงพงหนามใดน่ากลัวเท่ากับคำคนที่เห็นต่างจากเรา”

“ฉะนั้น ถ้าการทำดีง่าย คนทุกคนก็เป็นคนดีกันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว แต่การทำความดีนั้นยาก เพราะต้องฝืนกิเลส ฝืนจิตใจ ฝืนกระแสสังคมบ้าง อย่างไรก็ตาม เราทุกคนจึงต้องช่วยกันส่งเสริมการทำความดีต่อไป และการมอบรางวัลครั้งนี้เสมือนเป็นเพียงบันไดขั้นต้นเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญในขั้นต่อไป คือ การขยายเครือข่ายของคนดีให้แพร่หลายออกไปสู่ระดับประเทศ และระดับโลกมากยิ่งขึ้น”

เพราะการทำความดีไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบ หรือลักษณะแบบใด แต่ถ้าเราทำดี ไม่ใช่เพราะอยากให้ใครเห็นว่าเราเป็นคนดี แต่เราทำดี เพราะอยากให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิม