ปตท.รื้อโครงสร้างCSRสู่SE เสริมทัพรับโปรเจ็กต์ใหม่-ต่อยอดธุรกิจ

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ปตท.อัพเกรด CSR-พี.อาร์. สู่ SE เต็มรูปแบบ “ชาญศิลป์” สั่งเกลี่ยคนเสริมทัพรับโปรเจ็กต์ใหม่ “สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม” ในแก่งกระจานและชุมพร เพิ่มมูลค่าพื้นที่ป่า ปลูกกาแฟป้อนร้านอเมซอน ต่อยอดธุรกิจ สร้างความยั่งยืน 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ลงลึกให้สอดคล้องกับเป้าหมาย หลังปรับโครงสร้างใหม่เมื่อต้นปี โดยเฉพาะเรื่องภาพลักษณ์องค์กร ธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้หน่วยงาน Governance Risk Complyanse (GRC) รวมงานด้านประชาสัมพันธ์และ CSR (Corporrate Social Responsibility) โดยมุ่งไปที่ Social Enterprise หรือ SE เพื่อความยั่งยืน จึงต้องเตรียมคนให้พร้อมกับปริมาณงานที่มากขึ้น

“งานด้านซีเอสอาร์ทั้งหมดในเครือ ปตท.ต้องชัดเจนขึ้น เหมือนที่บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ทำอยู่ โดยดูโครงการใน SE ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 7 บริษัทในเครือ เพื่อแก้ปัญหาให้ชุมชน การทำ SE ที่ดี คือ การนำปัญหามาแก้ไขให้ดีขึ้น”

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ปตท.ทำ CSR อยู่ 2 ประเภท คือ “คน” ที่เน้นเรื่องการศึกษา ให้คิดได้และคิดดี และ “สิ่งแวดล้อม” ที่เน้นไปที่เพิ่มการปลูกต้นไม้มากขึ้น และขณะนี้กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยออร์แกนิก ชื่อโครงการ “ปุ๋ยสั่งตัด” โดยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังคัดเลือกพื้นที่นำร่อง แล้วนำรูปแบบ SE มาปรับใช้กับโครงการนี้

นางอัจฉริยา เจริญศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า หลังหารือร่วมกับแผนก CSR และ SE แล้ว สรุปให้รวม 2 แผนก พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เครื่องมือ และคนทำงาน เพราะแผนก SE มีเพียง 7 คน มาจากด้านไฟแนนซ์, วิศวกร และบัญชี ซึ่งไม่มีประสบการณ์ ส่วน CSR มี 100 คน จึงให้เสริมโครงการ SE พร้อมปรับเป็น business unit ใหม่ของ ปตท.ในอนาคต

รูปแบบ SE ปีนี้จะนำ business model ของปางขอน จังหวัดเชียงราย ที่ ปตท.สนับสนุนการปลูกกาแฟ และรับซื้อกาแฟจากชุมชนด้วยราคาที่สูงกว่าตลาด รวม 2 โครงการ คือ 1.ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ในแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และ 2.ร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เตรียม MOU พัฒนาพื้นที่ป่า

นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ ปตท. กล่าวว่า การรวมหน่วยงานด้าน CSR และการประชาสัมพันธ์มาไว้ในกลุ่ม GRC เพื่อใช้ศักยภาพที่มีอยู่เดิม มาจัดหมวดหมู่และสร้างระบบให้สามารถทำงานได้ครบทุกมิติ และสานต่อในรูปแบบ SE ที่ตอบโจทย์การดูแลสังคมและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจ นอกจากนี้ รูปแบบ SE พิสูจน์แล้วว่า ชุมชนแต่ละพื้นที่ตอบรับดี ใช้งบประมาณน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ แผนก GRC ต้องทำหน้าที่ “ปิดความเสี่ยง” ที่อาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร ภาคธุรกิจ และป้องกันไม่ให้เกิดคอร์รัปชั่นภายในองค์กรให้เป็นศูนย์ เช่น กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ ธุรกิจปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย และการทุจริตในขั้นตอนจัดหาวัตถุดิบของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!