บทเรียนจากการเลือกตั้ง

คอลัมน์ HR Corner

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

ผมสนใจการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เคยมีความฝันอยากเป็นนักการเมืองถึงขนาดไปขอลาออกจากบริษัท แล้วบอกกับเจ้านายว่าจะไปทำงานด้านการเมือง หัวหน้านึกว่าผมเพี้ยน

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว ความสนใจเรื่องการเมืองยังมีอยู่ แต่ความคิดจะเล่นการเมืองมอดไปนานแล้ว ตั้งแต่เห็นคนเก่ง ๆ ดี ๆ ค่อย ๆ ทยอยมีอันเป็นไปทุกคนที่ลงเล่นการเมือง

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ผมติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ 2 ประการ คือ

หนึ่ง หิวกระหายการเลือกตั้งเพราะว่างเว้นมากว่า 7 ปี (ไม่นับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เป็นโมฆะ เนื่องจากมีการขัดขวางการเลือกตั้ง)

สอง เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ปี 2560 ที่มีกฎกติกาสลับซับซ้อนมากที่สุดฉบับหนึ่งการเลือกตั้งคราวนี้ มีเรื่องประหลาดมหัศจรรย์เกิดขึ้นหลายอย่าง ชนิดที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูเป็นอนุสรณ์ เหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นต้องถือว่าเป็นที่สุดของที่สุดจริง ๆ อย่างเช่นพลิกล็อกที่สุด คงไม่มีใครเกินพรรคประชาธิปัตย์ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยินแบบถล่มทลาย ชนิดที่หลาย ๆ ฝ่ายเรียกว่าเกือบจะสูญพันธุ์ทางการเมืองเลยทีเดียว

เดิมทีประชาธิปัตย์เคยครองแชมป์พรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดในเขตกรุงเทพฯ แต่คราวนี้ต้องถือว่าหมดรูปจริง ๆ ยังดีที่ภาคใต้และปาร์ตี้ลิสต์ ช่วยชีวิตเอาไว้น่าสงสารที่สุดคือหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
ที่ต้องฮาราคีรีตัวเอง หลังจากนำพรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างไม่น่าเชื่อ อันที่จริงท่านเคยลาออกมาแล้วครั้งหนึ่ง
แต่ทำแค่พอเป็นพิธี ไม่นานก็กลับมาใหม่ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือพรรคยังหาหัวหน้าที่เหมาะสมไม่ได้ แต่คราวนี้คงไม่ง่ายเหมือนเดิมแล้ว เพราะศรัทธา และบารมีร่อยหรอลงไปมาก

วันที่ประกาศลาออก บางคนอาจเสียใจ แต่หลายคนดีใจ ดูท่านโดดเดี่ยวเดียวดายจริง ๆ มาแรงที่สุดคือกระแสความเบื่อหน่ายการเมืองแบบเดิม ๆ โดยนักการเมืองกลุ่มเดิม ๆ ที่มีให้เห็นอย่างชัดเจน จนเป็นเหตุให้พรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ กวาดที่นั่งแบบถล่มทลาย ชนิดหักปากกาเซียนทุกค่าย ฉีกโพลของทุกสำนัก หลายคนเลือกพรรคนี้โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้สมัครเป็นใคร ชื่ออะไร ซ้ำร้ายบางคนไม่รู้ด้วยว่านโยบายของพรรคนี้คืออะไร เห็นแค่ว่าหัวหน้าพรรคเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ดูเอาจริงเอาจัง และพูดได้โดนใจหลายเรื่อง…แค่นั้นเลย

เนื้อหอมที่สุดคือพรรคภูมิใจไทย ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ตอนนี้นั่งกระดิกเท้ารอคนมาขอให้ไปร่วมรัฐบาลแบบสบายใจเฉิบ ยิ่งเวลาผ่านไป อำนาจต่อรองของภูมิใจไทยยิ่งเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ไม่ต้องรีบร้อนอะไร นั่งจิบไวน์ไปพลาง ๆ รอเทียบเชิญจากทั้ง 2 ฝั่ง แล้วค่อยดูว่าใครเสนอผลประโยชน์ให้มากกว่ากัน ยิ่งนิ่งยิ่งได้เปรียบ เป็นกลยุทธ์การต่อรองขั้นเทพ ใช้วิธีสงบสยบเคลื่อนไหว

น่าเป็นห่วงที่สุดคือสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง ที่มองดูแล้วความปรองดองไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนทหาร พวกนี้ต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง กับอีกฝ่ายที่สนับสนุนทักษิณ และเครือข่าย พวกนี้ต้องการเห็นประชาธิปไตยแบบที่ไม่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาเกี่ยวข้อง การตั้งรัฐบาลและสรรหานายกรัฐมนตรีไม่น่าจะมีปัญหา คงเดินหน้าไปตามใบสั่ง แต่การบริหารงานของรัฐบาลมีปัญหาแน่นอนไม่ว่าฝ่ายใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล เพราะคะแนนผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่าย สูสีกันมาก

น่าผิดหวังที่สุดคือการทำรัฐประหารที่ผ่านมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกครั้งที่สูญเปล่าโดยสิ้นเชิง รัฐบาลทหารไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกในสังคมไทยได้เลย อันที่จริงถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา คสช. และรัฐบาลแทบไม่ได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาทั้ง 2 เรื่องนี้อย่างจริงจังตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองแม้จะดูสงบก็จริง แต่เป็นความสงบบนพื้นผิว ลึกลงไป ความขัดแย้งยังคุกรุ่น และรอการปะทุอย่างรุนแรงอยู่

เละเทะที่สุด เป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก กกต.ที่บริหารงานเน่าที่สุด มีปัญหาตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งทั่วไป การนับคะแนน ไปจนถึงการประกาศผล เรียกได้ว่ารักษามาตรฐานความไม่มีประสิทธิภาพได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เสียดายภาษีที่ต้องเอามาจ่ายเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สวัสดิการ และการไปดูงานต่างประเทศที่ผลาญเงินไปนับ 10 ล้านบาท โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย ตอนนี้กำลังมีกระแสลงชื่อเพื่อถอดถอน กกต.ระบาดไปทั่วสื่อโซเชียลมีเดีย ตามดูกันต่อไปว่างานนี้จะออกหัวหรือก้อย

น่าอับอายที่สุดคือการส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจากประเทศนิวซีแลนด์กลับมาไม่ทันการนับคะแนนที่เมืองไทย นี่เป็นตัวอย่างของการทำงานเสร็จ แต่ไม่สำเร็จ ของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างน้อย 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานฑูตไทยในประเทศนิวซีแลนด์ กระทรวงการต่างประเทศ บริษัทการบินไทย และ กกต.ทุกองค์กรต่างออกมาชี้แจงยืดยาวว่าตนเองทำงานเสร็จตามหน้าที่แล้ว การที่บัตรมาไม่ทัน เป็นปัญหาของคนอื่น โยนเผือกร้อนกันไปมา สะท้อนให้เห็นวิธีคิดและแนวทางการทำงานที่น่าอดสู ฟังแล้วสลดใจ ฝรั่งต่างชาติไม่เข้าใจ แบบนี้ประเทศไทยมีไทยแลนด์โอนลี่จริง ๆ

แต่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล และจะอยู่ได้หรือไม่ อยากให้ปล่อยไปตามวิถีการเรียนรู้ และเติบโต (learning & growth) ของระบอบประชาธิปไตย ประเทศบอบช้ำมามากพอแล้ว แต่ไม่ใช่เพราะการจลาจล หรือการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เป็นเพราะการล้มกระดานด้านการปกครอง โดยอำนาจนอกระบบ จึงทำให้ระบบประชาธิปไตยของไทย ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด 80 กว่าปีที่ผ่านมา

การเมืองจะเป็นอย่างไร ประชาชนต้องเป็นผู้ตัดสิน และรับผิดชอบต่อผลของการตัดสินใจนั้นร่วมกัน ดูอย่างคนอเมริกาที่เลือกทรัมป์ คนฝรั่งเศสที่เลือกมาครง คนฟิลิปปินส์ที่เลือกดูเตเต คนมาเลเซียที่เลือกนาจิบ ราซัก เป็นต้น ผู้นำเหล่านี้หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่ง ก็มีปัญหา ประชาชนจำนวนมากไม่ชอบ และไม่พอใจ ออกมาประท้วงบนท้องถนน บางแห่งรุนแรงถึงขั้นเกิดการจลาจลเผาบ้านเผาเมืองไม่ต่างจากบ้านเรา บางคนถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่นขั้นรุนแรง แต่เขาก็อดทน และใช้ระบบประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา ไม่ใช้วิธีการนอกกติกาอย่างที่เราชอบทำ

ประชาธิปไตยต้องเดินหน้า และอาศัยเวลาในการฟูมฟักเพื่อเติบโตและเข้มแข็ง หากเราไม่มีความอดทนเพียงพอต่อกระบวนการนี้ โอกาสที่ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่แข็งแรง ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยอยากเห็นแค่นี้แหละ หวังมากไปรึเปล่าก็ไม่รู้