“KKU Team” คีย์ความสำเร็จ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ

ต้องยอมรับว่านับแต่มีการประกาศรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA) และรางวัลบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class-TQC) มาตั้งแต่ปี 2545 ปรากฏว่ายังไม่มีสถาบันการศึกษาของรัฐได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติสักราย มีแต่ในปี 2549 ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ กับในปี 2561 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศเช่นเดียวกัน

แต่กระนั้น ก็เป็นการรับรางวัลในระดับคณะของสถาบันอุดมศึกษา ไม่ได้รับรางวัลในฐานะมหาวิทยาลัย ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2561 ในระดับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จึงถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรก และแห่งเดียวที่รับรางวัลครั้งนี้

คำถามจึงเกิดขึ้นว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการบริหารจัดการองค์กร ? และทำไมเขาถึงนำองค์กรเข้าตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติครั้งนี้ ?

คำตอบคือ “รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการนำองค์กรเข้าตรวจประเมิน จนทำให้ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศในที่สุด

“รศ.ดร.กิตติชัย” บอกว่า สาเหตุหลัก ๆ ที่เรานำองค์กรเข้าตรวจประเมินเพราะต้องการท้าทายตัวเอง เพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหา”ลัยต่างจังหวัด ที่สำคัญอายุของมหา”ลัย 55 ปีแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับคนถือว่าอยู่ในวัยผู้ใหญ่เต็มที่

“และผ่านมาเราทำเรื่องมาตรฐานการศึกษามาหลายสิบปี โดยเฉพาะเรื่องเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence-EdPEx) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการตามแนวทางของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (The Baldrige National Quality Award-BNQA) หรือต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่เราสมัครตรวจประเมินครั้งนี้”

“และผ่านมาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เราทำ EdPEx คะแนนดีขึ้นเรื่อย ๆ จากปีแรกมีคะแนน 200 กว่า พอปีถัดมา เรานำจุดอ่อนมาปรับปรุงจนได้คะแนน 300 กว่า จึงคิดว่าไหน ๆ เราก็ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว พอปีที่ 3 จึงยื่นตรวจประเมินทั้งในส่วนของ EdPEx และรางวัลคุณภาพแห่งชาติไปพร้อม ๆ กัน ปรากฏว่าเราได้ทั้ง EdPEx และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ TQC ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยรัฐแห่งแรกที่ได้รับรางวัลนี้”

“ถึงแม้เราจะไม่ได้รางวัล TQA แต่ก็มีความภูมิใจมาก เพราะผ่านมาเราสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างต่อเนื่องมาตลอดถึง 20 ปี ดังนั้น การที่เราได้ทั้ง EdPEx และ TQC ในปีเดียวกัน จึงทำให้รู้สึกว่าการทำเรื่องมาตรฐานทางการศึกษาของมหา”ลัยขอนแก่นเดินมาถูกทางแล้ว เพราะหลังจากที่ได้รับ feedback report คะแนน TQC สูงถึง 375 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนที่เราพอใจมาก ๆ”

นอกจากนั้น “รศ.ดร.กิตติชัย” ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อองค์กรที่เป็นเลิศทั้ง 7 หมวด โดยเฉพาะหมวดที่ 1 การนำองค์กร (leadership) เราได้คะแนนสูงพอสมควร ผมมองว่าเรื่องของภาวะผู้นำไม่ใช่ผมคนเดียว แต่หมายถึงสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ต่างเห็นความสำคัญในเรื่องมาตรฐานการศึกษา เพราะกรรมการสภาทุกท่านเป็นผู้กำหนด direction ของมหา”ลัย

“ผมแค่นำ direction มาแปลงเป็นยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์, นักศึกษา, บุคลากร ตลอดจนชุมชนโดยรอบมหา”ลัย ประชาชน, ส่วนราชการทุกภาคส่วนต่าง ๆ ของจังหวัดเพื่อชักชวนให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ นำเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาของมหา”ลัย”

“ฉะนั้น เวลาผู้ตรวจประเมินมาตรวจองค์กร เราจึงมีเรื่องของ plan do check act-PDCA ครบถ้วนตามกระบวนการของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเราคำนึงถึงการเชื่อมโยงกับสังคมต่าง ๆ ด้วย ยกตัวอย่างงานวิจัยของคณะศึกษาศาสตร์, มนุษยศาสตร์ และแพทยศาสตร์เราไม่ได้ปล่อยให้งานวิจัยอยู่บนหิ้งเลย แต่เรากลับนำงานวิจัยเหล่านั้นไปช่วยเหลือสังคมจริง ๆ และไม่ใช่แต่เฉพาะจังหวัดขอนแก่นเท่านั้น”

“เรานำไปช่วยเหลือทั้งภาคอีสานเลย โดยเฉพาะกับงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จนเกิดเป็นคำพูดว่าถ้าจะต้องตายจริง ๆ จะขอกลับไปตายที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งตรงนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราได้คะแนนสูงในหมวดที่ 1”

แต่กระนั้น ความสำเร็จก็ใช่จะได้มาโดยง่าย เพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นองค์กรใหญ่ มีคณาจารย์กว่า 2,000 คน บุคลากร 8,000 คน และนักศึกษากว่า 40,000 คน “รศ.ดร.กิตติชัย” ยอมรับว่าการที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจในแนวทางของรางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นเรื่องยากพอสมควร ผมจึงใช้การสื่อสาร 2 ทางเพื่อชี้ให้ทุกคนเห็นความสำคัญเรื่องมาตรฐานการศึกษา

“เราอาจโชคดีที่เราทำ EdPEx มาก่อน จนเขาพอจะเข้าใจเรื่องนี้บ้าง แต่การจะทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะนักศึกษา เราจึงใช้วิธีการสร้างผู้ตรวจประเมินขึ้นมาเอง เพื่อทำการอบรมบุคลากรของเรา ขณะเดียวกัน ผู้ตรวจประเมินของเรายังเป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ด้วยอย่างสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) สมศ.ก็จะขอให้เราไปช่วยอบรมสถาบันการศึกษาต่าง ๆ”

“จนทำให้เรามีผู้ตรวจประเมินหลายระดับ และบางคนก็ไปเป็นผู้ตรวจประเมินให้กับ TQA และ TQC ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเราสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นเช่นนี้ ทุกคนจึงอยากเข้ามามีส่วนร่วม และที่สำคัญคณบดีทุกคณะลงมาเล่นกับเราตั้งแต่การทำ EdPEx จนมาถึงการนำองค์กรเข้าสู่รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ”

“แม้ตอนเริ่มต้นจะยาก แต่ถึงตอนนี้ผมเชื่อว่าบุคลากรของมหา”ลัยขอนแก่นทุกคนเริ่มรับรู้ถึงสิ่งที่ทุกคนช่วยกันพัฒนาทางด้านการศึกษา และไม่ใช่แต่เฉพาะแต่มหา”ลัยหลักเท่านั้น หากมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตจังหวัดหนองคาย ทุกคนก็มีความตื่นตัว และสนใจเรื่องเหล่านี้เช่นกัน”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า “next step” ต่อไปของมหา”ลัยขอนแก่นจะเป็นอย่างไร ?

“รศ.ดร.กิตติชัย” จึงบอกว่า แม้ตอนนี้ผมจะหมดวาระในตำแหน่งอธิการบดีแล้ว แต่ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมองค์กรที่เราสร้างมาจะยังคงอยู่ ที่สำคัญเรามีกองประกันคุณภาพการศึกษาที่จะเข้าไปเป็นกลไกหลักในการผลักดันผู้บริหาร เพราะนโยบายต่าง ๆ ของมหา”ลัย สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด

“ดังนั้น ต่อจะให้เปลี่ยนอธิการบดีสักกี่คน ในเรื่องของการประกันคุณภาพการศึกษาจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหมือนกับการทำ EdPEx หรือการนำองค์กรเข้าตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติก็จะต้องทำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ยิ่งอธิการบดีคนใหม่ (รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล) เคยเป็นคณบดีแพทยศาสตร์ มหา”ลัยขอนแก่นมาก่อน ทั้งยังเคยอยู่ในทีมทำงานด้วยกัน ท่านเป็นคนเก่ง มีความรู้กว่าผมมากมาย จึงเชื่อว่าท่านจะนำองค์กรให้ก้าวต่อไปอย่างน่าสนใจ”

“แต่จะไปถึง TQA ในปีถัดไปหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าการนำองค์กรของอธิการบดีคนใหม่คงจะค่อย ๆ ก้าวกระโดดไป โดยดูจากการทำ EdPEx ด้วย ถ้าคะแนนสูงมากพอ หรือได้ 450 คะแนนขึ้นไป ผมเชื่อว่าท่านคงจะนำองค์กรก้าวไปสู่ TQC Plus หรือรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า บุคลากร การปฏิบัติการ หรือนวัตกรรมอย่างแน่นอน เพราะรางวัลนี้รองแค่ TQA เท่านั้นเอง”

“ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราคาดหวัง แต่ถึงอย่างไรการได้รับรางวัล TQC ครั้งนี้ นอกจากจะทำให้การจัดการคุณภาพการศึกษาของเราเป็นที่ยอมรับมากขึ้น หากยังทำให้บัณฑิตของเราต่างได้รับการยอมรับในภาคราชการ และภาคเอกชน
ด้วย เพราะรางวัล TQC ถือเป็นรางวัลที่ถูกยอมรับในระดับนานาชาติ ดังนั้น หากพวกเขาไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือไปทำงานในประเทศต่าง ๆ เขาจะได้รับการยอมรับมากขึ้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามเชื่อมโยงกับโลกแห่งอนาคต”

ฉะนั้น เมื่อถามต่อว่าอะไรเป็นกุญแจความสำเร็จจนทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นรับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ “รศ.ดร.กิตติชัย” จึงอธิบายให้ฟังว่า เพราะเราให้ความสำคัญกับ “คน” เราเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมในการสร้างคนของเรา หรือที่เรียกว่า “KKU Team-Khon Kaen University Team” ค่อนข้างเข้มแข็ง

“ผมบริหารที่นี่มา 8 ปี มีรองอธิการบดีทั้งหมด 10 คน และทำงานกับคณบดีต่าง ๆ กว่า 50 คน ซึ่งทุกคนคือทีมเดียวกัน และในทีมเราจะพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ และไม่ทางการ เพราะผมมีการประชุมกับผู้บริหารอยู่หลายรูปแบบ ที่สำคัญผมเป็นประธานการสรรหาบุคลากร เราย่อมมองออกว่าคนไหนมีศักยภาพ ผมก็ให้เขาเข้ามาทำหน้าที่คณบดี จากนั้นเราจะสื่อสารกับเขา เชื่อมโยงกับเขา ทำตัวเสมือนเป็นพี่เลี้ยง หรือโค้ช”

“พอหมดวาระที่ 1 ผลงานของคุณใช้ได้ก็ต่อวาระ 2 เพราะฉะนั้น successor ของเราจะทำงานต่อเนื่อง และมีความเป็นทีมตามคอนเซ็ปต์ KKU Team ที่จะต้องทำงานร่วมกัน และไม่ใช่แต่เฉพาะผู้บริหารเท่านั้น หากยังจะต้องเชื่อมโยงกับบุคลากรส่วนอื่น ๆ ด้วย เพื่อพัฒนาเขาให้รู้จักศักยภาพของตัวเอง”

“โดยผ่านกระบวนการวิจัยที่เราเรียกว่า routine to research-R to R เพื่อให้พวกเขาไปดูว่างานประจำที่ทำทุกวันนี้เป็นอย่างไร มีอะไรที่อยากปรับเปลี่ยนบ้างไหม หรือจะมีนวัตกรรมอะไรเข้ามาปรับใช้บ้าง โดยให้เขามาประกวดกันในโครงการ Show & Share ดังนั้น พอใครได้รับรางวัล หรือกลุ่มไหน แผนกไหนได้รับรางวัลเรา เราจะเชิดชูเกียรติให้เขา จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ อยากทำเช่นนี้บ้าง”

เพราะการ “ทำดี” เป็นเรื่องที่ต้อง “ยกย่อง” อันเป็นคำตอบของ “รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เชื่อมั่นว่ากุญแจความสำเร็จในการรับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ใครเลยหากอยู่ที่ “KKU Team” นั่นเอง