กลางปี 62 รับแรงงานเพิ่ม 3 หมื่นตำแหน่ง งานขาย-บัญชี-วิศวะ แชมป์สูงสุด

สมัคร​งาน
ต้องยอมรับว่าในปี 2651 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากสงครามการค้า รวมถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ส่งผลทำให้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ชะลอตัวลง

นอกจากปัจจัยจากต่างชาติที่ส่งผลกระทบแล้ว ในส่วนของไทยภาวะความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยเกิดการชะลอตัวในปีที่ผ่านมา จนทำให้ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมต่างต้องมีการปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อรับกับสภาวะที่เกิดขึ้น โดยในส่วนของภาคแรงงานนั้น ในปีผ่านมาหลายองค์กรได้มีการปรับโครงสร้างการทำงาน ปรับรูปแบบและวิธีการทำงานใหม่ หรือการลดขนาดขององค์กร จนทำให้เกิดการเลิกจ้างต่างๆ มากมาย

@ไตรมาส 2 ปีคาดต้องการแรงงาน 30,000 อัตรา

แต่ในทางกลับกัน ปี 2562 นี้ ทิศทางความต้องการแรงงานในสาขาต่างๆ ยังถือว่ามีเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลจาก “บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด” ได้ระบุถึง 10 สายงานที่เป็นที่ต้องการในตลาดงานประจำปี 2562 โดยมีสัดส่วนดังนี้ 1) งานขาย งานบริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ 2) งานไอที-อีคอมเมิร์ซ 3) งานวิศวกรรม 4) งานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล 5) งานบัญชี 6) งานการตลาดและงาน PR 7) งานธนาคาร งานการเงิน 8) งานท่องเที่ยว งานโรงแรม งานบริการอาหารและเครื่องดื่ม 9) งานขนส่ง และ 10) งานการผลิต (4%)

ทั้งนี้จากฐานข้อมูลของเว็บไซต์ jobsDB คาดว่าในไตรมาส 2 ของปี 2562 ผู้ประกอบการยังต้องการแรงงานอยู่มากถึง 30,000 อัตรา ในทุกๆ สายงานรวมกัน ซึ่งคนทำงานจะยังเป็นหัวใจและต้นทุนหลักขององค์กร โดยบริษัทต่างๆ จะให้ความสำคัญในการสรรหาผู้สมัครงานผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อลดเวลาในการทำงาน ลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และลดการสูญเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ในด้านของผู้สมัครงานนั้นต้องใช้เทคโนโลยีในการหางานอย่างเต็มตัว ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้สมัครงาน 1 คน จะฝากเรซูเม่หรือโปรไฟล์ไปทุกเว็บไซต์ ในขณะเดียวกันก็จะประเมินคุณภาพตำแหน่งงานที่ได้รับจากเว็บไซต์ต่างๆ ไปในตัวด้วย หากเว็บไซต์ไหนสามารถหางานที่ตรงใจให้ได้จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและกลับมาใช้ต่อ จนกระทั่งนำไปบอกต่อไม่สิ้นสุด

สมัคร​งาน

@งานขาย-ตลาด-บัญชี-วิศวะ ตลาดต้องการสูง

ขณะที่ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ผู้นำที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมแรงงานกว่า 80 ประเทศทั่วโลก และในประเทศไทย ระบุว่า จากผลการสำรวจอัตราความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันมีสัดส่วนความต้องการจัดเป็น 10 อันดับ ประกอบด้วย

10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ 1) งานขายและการตลาด 2) งานบัญชีและการเงิน 3) งานวิศวกรและการผลิต 4) งานไอที 5) งานธุรการ 6) งานบริการลูกค้า 7) งานระยะสั้นต่างๆ 8) งานระดับผู้บริหาร 9) งานทรัพยากรบุคคล และ 10) งานโลจิสติกส์

ส่วน 10 อันดับแรกสายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน ได้แก่ 1) งานขายและการตลาด 2) งานวิศวกร 3) งานธุรการ 4) งานทรัพยากรบุคคล 5) งานบัญชีและการเงิน 6) งานบริการลูกค้า 7) งานโลจิสติกส์ 8) งานไอที 9) งานระดับผู้บริหาร และ 10) งานด้านการผลิต

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจการบริการ ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์, ค้าปลีกค้าส่ง, บริการเฉพาะกิจ และที่ปรึกษาด้านต่างๆ 2) ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์, วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และ 3) ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

@การตลาด-คลังสินค้า แชมป์อยากเปลี่ยนงาน

ด้าน “จ๊อบไทย (JobThai)” ผู้ให้บริการหางาน สมัครงาน ออนไลน์ อันดับ 1 ของประเทศไทย เผยข้อมูลรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมและมุมมองของมนุษย์เงินเดือนทั้ง 3 เจนเนอเรชันเกี่ยวกับสถานการณ์การทำงานในปัจจุบัน จากกลุ่มตัวอย่างคนทำงานประจำทั่วประเทศกว่า 1,800 คน พบว่าเป็นกลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนงาน คิดเป็น 59.26% และกลุ่มคนที่ยังไม่มีแผนจะเปลี่ยนงาน คิดเป็น 40.74%

โดยในกลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนงานพบว่ามี 3 อาชีพที่มีสัดส่วนคนมีแผนจะเปลี่ยนงานสูงที่สุด ได้แก่ 1) การตลาด คิดเป็น 31.67% ตามมาด้วย 2) คลังสินค้า คิดเป็น 28.26% และ 3) ประสานงานทั่วไป คิดเป็น 27.27% ในขณะที่ระดับตำแหน่งงาน (Level) ของคนที่ต้องการเปลี่ยนงานมากที่สุดคือ 1) ระดับปฏิบัติการ คิดเป็น 79.35% ตามมาด้วยระดับอาวุโส คิดเป็น 11.96% และระดับผู้จัดการ คิดเป็น 5.43%

นอกจากนี้ลักษณะงานที่คนมีแผนจะเปลี่ยนงานคาดหวังหลังย้ายงานยังคงต้องการทำงานประจำอยู่
พบว่า ลักษณะงานที่ต้องการมากที่สุดยังคงเป็นงานประจำ คิดเป็น 88.30% ตามมาด้วยเจ้าของธุรกิจ คิดเป็น 6.19% และฟรีแลนซ์ คิดเป็น 3.29% สำหรับลักษณะองค์กรที่อยากทำงานด้วยมากที่สุด ได้แก่ องค์กรเอกชนต่างชาติ คิดเป็น 39.75% องค์กรเอกชนไทย คิดเป็น 35.49% และรัฐวิสาหกิจ คิดเป็น 11.51% ตามลำดับ

ส่วนผลการสำรวจของกลุ่มคนที่ยังไม่มีแผนจะเปลี่ยนงาน (Passive Job Seekers) พบว่ามี 5 ปัจจัยที่ทำให้พึงพอใจในงานปัจจุบัน ได้แก่ 1) เงินเดือน คิดเป็น 15.49% 2) สวัสดิการที่ดี คิดเป็น 12.73% 3) การเดินทางสะดวก คิดเป็น 12.47% 4) เพื่อนร่วมงานที่ดี คิดเป็น 12.08% และ 5) หัวหน้างานที่ดี คิดเป็น 9.49%

@ยอดว่างงาน มี.ค.62 อยู่ที่ 3.5 แสนคน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังระบุถึงการทำงานของประชากรในเดือนมีนาคม 2562 ว่า ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.50 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.77 ล้านคน, ผู้ว่างงาน 3.50 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 3.80 แสนคน ทั้งนั้นหากเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบว่า จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 4.3 แสนคน (จาก 37.34 ล้านคน เป็น 37.77 ล้านคน) ผู้ว่างงานลดลง 9.4 หมื่นคน (จาก 4.40 แสนคนเป็น 3.46 แสนคน)