“SCG” ฟื้นเหมืองปูนคืนสู่ป่า ปรับปรุงพื้นที่ก่อนคืนสัมปทาน

เหมืองปูนในพื้นที่จังหวัดลำปาง ของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ตั้งอยู่ใน ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม นั้น เหลืออายุสัญญาสัมปทาน 25 ปี เพราะปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า มีปริมาณสำรองสูงถึง 190 ล้านตัน ในขณะที่ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) มีการผลิตอยู่ที่ 2.5-3 ล้านตัน/ปีเท่านั้น ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานจะต้องฟื้นคืนธรรมชาติให้เหมือนเดิมให้มากที่สุด รวมถึงดูแลวิถีชุมชนในพื้นที่ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ นั่นหมายถึงว่า ถ้าชุมชนสามารถอยู่อาศัยได้ตามปกติ ผู้ประกอบการก็อยู่ได้เช่นกัน ซึ่งพิสูจน์ได้จากปัจจุบันที่วิถีชีวิตของชุมชนโดยรอบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญมีอาชีพและสร้างรายได้ด้วยโครงการต่าง ๆ กลายเป็นชุมชนเข้มแข็งและเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นเข้ามาศึกษาแล้วนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชนของตัวเอง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่เหมืองปูนดังกล่าว พบว่า ภายในเหมืองปูนมีการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมคู่ขนานไปกับการผลิตซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับหน้าที่ดูแลผืนป่าโดยรอบ ลักษณะของพื้นที่เหมืองปูนถูกล้อมด้วยป่าสงวน โดยด้านบนมีพื้นที่ติดกับเขื่อนกิ่วลม ลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นหินปูนและหินดินดาน ในวันแรกที่เริ่มต้นพัฒนาเหมืองปูนนั้น ผู้รับสัมปทานตั้งใจที่จะรักษาทัศนียภาพด้านนอกเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติเดิมที่มีอยู่ และยังช่วยป้องกันฝุ่นและป้องกันเสียงออกสู่ด้านนอก ด้วยรูปแบบการทำเหมืองที่เรียกว่า “semiopen cut” เพราะเป็นวิธีที่กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดคือ มีทั้งแบบการตัดยอด (open cut) และ การขุดตัก (open pit) เหมือนการปลอกแตงโมแล้วคว้านเอาเฉพาะแค่เนื้อด้านในเท่านั้น

จนถึงวันนี้เหมืองปูนยังทำหน้าที่เป็นต้นทางการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อรองรับความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับรองรับธุรกิจของบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ที่มีอยู่ 3 ประเภท คือ เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เคมิคอลส์ และเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ซึ่งถือว่า SCG มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างครบวงจรที่สุดในอาเซียน
ในพื้นที่ยังมีกล่องบ้านดินที่ใช้ดินอัดแน่นเข้าด้วยกันมาสร้างเป็น “ศูนย์เรียนรู้การฟื้นฟูเหมืองปูนลำปาง”

ที่มีข้อมูลอดีต ปัจจุบัน และสิ่งที่เตรียมไว้สำหรับอนาคตของเหมืองปูน เจ้าหน้าที่ของศูนย์เรียนรู้ฯให้ข้อมูลถึงขั้นตอนการฟื้นฟูเหมืองปูนว่า จะเริ่มจากพื้นที่ที่มีการระเบิดเหมืองและเกิดการแตกร้าว ต้องปรับสภาพความสูงจากปัจจุบันที่ 15 เมตร ให้เหลือ 5 เมตร ซึ่งเป็นความสูงเดิมก่อนที่จะมีการพัฒนาเหมือง นอกจากนี้ยังดำเนินการควบคู่ไปกับการปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ที่ผ่านการศึกษาพื้นที่ใกล้เคียงก่อน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มเพาะเมล็ดและดำเนินการปลูก ซึ่งก่อนที่จะปลูกอะไรก็ตามจะต้องศึกษาพื้นที่ป่าใกล้เคียง และนำเมล็ดพันธุ์มาเพาะ เมื่อปลูกต้นไม้ในพื้นที่แล้วจะมี “ตัวชี้วัดความสำเร็จ” ที่มีอยู่ 4 ตัว คือ 1) โครงสร้าง 2) ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ 3) การทำงานของระบบนิเวศ และ 4) มวลชีวภาพ

การสำรวจพื้นที่เมื่อปี”59 ทั้งในส่วนที่เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติและพื้นที่ป่าปลูก พบว่า พื้นที่ป่าปลูกใหม่ทดแทนมีความอุดมสมบูรณ์ใกล้เคียงพื้นที่ป่าธรรมชาติค่อนข้างมาก ในขณะที่ตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพ ยังพบว่า มีสัตว์ป่าที่สำรวจได้จากพื้นที่โดยรอบว่า 182 ชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และนกพันธุ์ต่าง ๆ ในขณะที่เมื่อย้อนกลับไปในช่วงปี 2555 พบสัตว์ป่าเพียง 138 ชนิดเท่านั้น และได้วางกรอบไว้ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือในปี 2564 จะต้องสำรวจอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม SCG ยังให้ความสำคัญกับซากใบไม้ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงเกิดโปรเจ็กต์ “ผลิตปุ๋ย” ขึ้นในปี 2535 โดยใช้ใบไม้เป็นวัตถุดิบ หลังจากนั้นนำมาเทกองในห้องซีเมนต์ ในโปรเจ็กต์นี้ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่และหน่วยงานราชการที่เชี่ยวชาญด้านปุ๋ยอีกด้วย

ด้วยลักษณะทางกายภาพในพื้นที่เป็นภูเขาสูง ทำให้มีน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ผลิต จึงต้องสร้าง “บ่อกักตะกอน” ที่สามารถใช้เป็นพื้นที่ตรวจระบบนิเวศได้ นอกจากนี้ยังสามารถน้ำตะกอนในบ่อมาผสมทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าในพื้นที่อาจจะปลูกได้เพียงพืชท้องถิ่นเป็นหลัก เนื่องจากสภาพดินไม่มีคุณภาพและเป็นดินแดงจึงต้องมีกระบวนการปรับปรุงสภาพก่อน และภายในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ยังได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองด้วย


เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้ฯพาไปยังศูนย์เพาะชำ เพื่อศึกษาความแตกต่างของพันธุ์ไม้ พันธุ์ไม้บางชนิดต้องเก็บข้อมูลละเอียดตั้งแต่ช่วงเวลาการออกดอก โดยทีมงานต้องจัดทำปฏิทินเพื่อกำหนดเวลาการเข้าไปเก็บเมล็ดพันธุ์ เพื่อนำมาเป็นเมล็ดพันธุ์ในอนาคต รอบพื้นที่ศูนย์เพาะชำเต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์มากมายอีกด้วย การดูแลป่าไม่ยาก และก็ไม่ง่าย เพียงแต่ต้องจริงจัง ตั้งใจและมีความต่อเนื่อง