โครงการน้ำในหลวง ร.10 สร้างความอยู่ดีกินดีสู่ราษฎรชายแดนใต้

เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืช สัตว์ และมนุษย์ ดังเช่นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2539 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความตอนหนึ่งว่า

“…หลักสําคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…”

สะท้อนให้เห็นถึงการใส่พระราชหฤทัยในเรื่องน้ำ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานแนวทาง โครงการพระราชดำริ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำไว้อย่างมากมาย

เช่นเดียวกับ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรทุกหมู่เหล่า อย่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มากถึง 37 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 14 อำเภอ ใน 3 จังหวัด นับตั้งแต่ปี 2543 จวบจนปัจจุบัน

โดยนราธิวาสเป็นจังหวัดที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” มากถึง 19 โครงการ และทุกโครงการเป็นโครงการพระราชดำริตรงทั้งสิ้น เพื่อจัดหาน้ำให้แก่ราษฎร, ชุมชน, ศาสนสถาน และโรงเรียนในพื้นที่ เฉกเช่นโครงการจัดหาน้ำให้ราษฎร หมู่ที่ 8 (บ้านธนูศิลป์) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

“อาดือเร๊ะ ดาโอ๊ะ” กำนันตำบลโคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เล่าให้ฟังว่า กลุ่มบ้านธนูศิลป์ ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แห่งนี้ เป็นหนึ่งหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นโดยนิคมสร้างตนเองศรีสาคร จ.นราธิวาส เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน โดยได้จัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 18 ไร่ ในการประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้

“ด้วยสภาพพื้นที่เ”ด้วยสภาพพื้นที่เชิงเขา มีความลาดชัน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตเพราะขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้นํ้าจากลำธารจากภูเขามาดื่มกินและใช้อาบ ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้าน มีเพียงฝายชั่วคราวขนาดเล็กที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น ทำให้ต้องซื้อน้ำเป็นแกลลอนมาไว้ดื่ม ไว้ใช้ ขณะที่ถนนหนทางที่ใช้สัญจรในพื้นที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เดินทางไปมาลำบาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนจะออกไปไหนมาไหนไม่ได้เลย ที่สำคัญ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนย้ายออกไปอยู่พื้นที่อื่น ๆ แทน”

“เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2545 “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ขณะดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ได้เสด็จพระราชดำเนินตาม “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9” มายังศูนย์ศิลปาชีพวัดชนาราม บ้านไทยสุข ต.ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส พระองค์ท่านได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรในพื้นที่บ้านธนูศิลป์ ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพปัญหาในพื้นที่ชุมชน จึงได้มีพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยจัดหาน้ำอุปโภค-บริโภคให้แก่ราษฎรในพื้นที่หมู่ที่ 8 ทั้งหมู่บ้าน และปรับปรุงถนนหนทางให้สามารถใช้สัญจรไปมาได้สะดวก”

 

“อดินันต์ หลานหมาด” หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานนราธิวาส กล่าวว่า สำหรับโครงการจัดหาน้ำให้ราษฎรหมู่ที่ 8 (บ้านธนูศิลป์) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ที่ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” พระราชทานให้ชาวบ้าน เป็นโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดสูง 2 เมตร ยาว 10 เมตร พร้อมระบบท่อส่งน้ำ ความยาวรวม 2,650 เมตร และมีอาคารประกอบต่าง ๆ รวมถึงการก่อสร้างถังเก็บน้ำขนาดความจุ 500 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 แห่ง

“เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถจัดหาน้ำเพื่อสนับสนุนด้านการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรบ้านธนูศิลป์ หมู่ 8 ต.โคกสะตอ จำนวน 42 ครัวเรือน 158 คน และพื้นที่การเกษตร จำนวน 820 ไร่

ส่งผลให้ชาวบ้าน มัสยิดประจำชุมชน และสถานศึกษาในพื้นที่มีน้ำไว้กินไว้ใช้ อีกทั้งยังสามารถใช้เพาะปลูกในครัวเรือน รวมถึงสวนผลไม้ในพื้นที่ได้อีกด้วย”

“อาหะมะ เง๊าะ” ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านธนูศิลป์ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จแล้วสามารถส่งน้ำให้กับชาวบ้านได้ใช้อุปโภคบริโภค จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้น โดยช่วงแรกนั้นการดูแลบำรุงรักษายังไม่ได้มีกฎกติกาเข้มงวดอะไรมากมาย

“เมื่อเกิดปัญหาต้องมีการซ่อมบำรุงต่าง ๆ ต้องรอเจ้าหน้าที่จากชลประทานเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขให้ บางครั้งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาหลายวัน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนในเรื่องน้ำ จากปัญหาดังกล่าวสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำจึงร่วมกันคิดแก้ไข เพราะถ้าอยากให้ปัญหาการซ่อมแซมในโครงการถูกแก้ไขโดยเร็ว ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ไม่ติดขัด จำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน”

“เราจึงได้ตั้งกฎกติกา การเก็บค่าน้ำครัวเรือนละ 15 บาทต่อเดือน นอกเหนือจากค่าสมาชิกแรกเข้า 150 บาท เพื่อให้เป็นกองทุนในการดูแลโครงการ ซึ่งถ้าเกิดปัญหาซ่อมแซมหรือบำรุงโครงการเล็ก ๆ น้อย ๆ จะสามารถดำเนินการแก้ไขกันได้เองด้วย นอกจากนี้เงินในส่วนดังกล่าวยังถูกแบ่งมาช่วยเหลือและพัฒนาชุมชน อย่างจัดซื้อเครื่องเสียงให้แก่มัสยิด และสนับสนุนเงินสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน”

ถึงตรงนี้ “อาดือเร๊ะ” กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้การดำเนินชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะน้ำไว้กินไว้ใช้ในครัวเรือน อีกทั้งยังสามารถใช้ในการทำการเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน รวมถึงการทำสวนผลไม้ อย่างสวนทุเรียน สวนลองกอง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความอยู่ดีกินดี ครอบครัวมีความสุข

“นอกจากโครงการจัดหาน้ำให้ราษฎรหมู่ที่ 8 (บ้านธนูศิลป์) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณแล้ว หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จฯมา หมู่บ้านแห่งนี้ยังได้รับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งถนนหนทางที่ดีขึ้น การสัญจรไปมาของราษฎรสะดวกสบายขึ้น และมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านที่ย้ายออกไป ย้ายกลับเข้ามาในหมู่บ้านนี้อีกครั้ง”

นับเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ช่วยพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้มีความอยู่ดี กินดีขึ้น อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้