เราจะประเมินระดับความยั่งยืน ขององค์กรอย่างไร

คอลัมน์ CSR Talk โดย ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

ในระหว่างการสนทนาเรื่องสัพเพเหระทั่วไปกับน้องที่ทำงานในแวดวงความยั่งยืนคนหนึ่ง จู่ ๆ ก็มีคำถามขึ้นมาว่า เราจะประเมินระดับความยั่งยืนขององค์กรได้อย่างไร ?

คำถามสั้น ๆ แต่ต้องคิดอยู่พักหนึ่งเลยทีเดียวว่าจะตอบอย่างไร ไม่ใช่ว่านึกไม่ออก แต่เพราะในหัวมีภาพขึ้นมาเต็มไปหมด ความท้าทายคือจะแปลงภาพที่ปรากฏในสมองออกมาเป็นคำพูดที่เข้าใจง่ายและไม่ยืดเยื้อสำหรับผู้ฟังได้อย่างไร

สำหรับดิฉันการจะประเมินระดับความยั่งยืนขององค์กรนั้นสามารถแยกได้เป็น 2 ส่วน คือ ภายในและภายนอกองค์กร

ภายในองค์กร ได้แก่ (1) องค์กรนั้น ๆ มีเจตนารมณ์และคำมั่นสัญญาในเรื่องความยั่งยืน (sustainability commitment) อย่างไร และสามารถทำได้ตามนั้นหรือไม่ ซึ่ง ณ ปัจจุบันหลาย ๆ องค์กรได้รวมแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าไปกับวิสัยทัศน์หรือพันธกิจขององค์กรด้วยแล้ว หรือ (2) ประเมินความรู้ความเข้าใจของพนักงานในองค์กรที่มีต่อเรื่องความยั่งยืนว่าเป็นอย่างไร สามารถนำแนวคิดเรื่องนี้ไปปรับใช้กับงานประจำได้อย่างไร หรือ (3) อาจดูจากในกรณีเกิด crisis ว่าบริษัทสามารถบริหารจัดการเคสที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน และสามารถสร้างความพึงพอใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างไรบ้าง

สำหรับการประเมินจากภายนอกองค์กรอาจเป็นการประเมินหรือแบบสำรวจจากสถาบันทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), MSCI, FSTE4Good, Thailand

Sustainability Indices (หุ้นยั่งยืน) และ ESG 100 เป็นต้น ความท้าทายคือ แบบประเมินและดัชนีที่เป็นการประเมินจากภายนอกองค์กรนั้นเป็นการวัดผลปลายทางที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตอบโจทย์นักลงทุนเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หลาย ๆ บริษัทตั้งใจตอบแบบประเมินเพื่อจะได้รับเลือกให้มีชื่อติดอยู่ในดัชนีนั้น ๆ

และอาจลืมมองถึงความเป็นจริงว่าการมีรายชื่อติดอยู่ดัชนีเหล่านี้คือเป็นเพียงการได้รับการยอมรับจากภายนอก แต่ภายในองค์กรอาจจะไม่ได้ดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืนอย่างแท้จริงก็เป็นได้

ดังนั้น เสียงสะท้อนและมุมมองของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรในด้านต่าง ๆ นั้น จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และบริษัทควรเปิดใจรับฟังด้วยความเป็นกลาง เพื่อสามารถรับทราบความจริงที่เป็นอยู่ และวิธีการที่จะพัฒนาบริษัทให้เติบโตไปได้อย่างยั่งยืนที่ถูกต้อง

จากที่ได้เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่ ๆ เพื่อน ๆ คนทำงานในแวดวงความยั่งยืน ความท้าทายร่วมกันที่พวกเราทุกคนประสบ คือ คนส่วนใหญ่ในองค์กรยังไม่เข้าใจเรื่องความยั่งยืนจริง ๆ พวกเขามองไม่เห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในความยั่งยืนขององค์กรอย่างไร

ผู้จัดการด้านความยั่งยืน (sustainability manager) ของบริษัทอาหารแห่งหนึ่งในสวีเดนเคยแบ่งปันประสบการณ์การทำงานให้ฟังว่า ถ้าเลือกได้เขาจะขอเปลี่ยนตำแหน่งของตัวเองจาก ผู้จัดการ (manager) เป็นผู้ประสานงาน (coordinator) เพราะทุกครั้งที่บริษัทมีแนวคิดด้านความยั่งยืน ทุกคนจะรอให้เขาเป็นผู้มาลงมือทำและบอกว่านี่เป็นเรื่องความยั่งยืน ดังนั้น เป็นงานของเขาที่ต้องทำ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความยั่งยืนถือเป็นความร่วมมือกันของทุกคนในบริษัทต่างหาก

“Mr.Lars Svenson” Sustainability and Communication Director, IKEA Southeast Asia เคยพูดถึงความตั้งใจเมื่อครั้งมาพูดถึงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของ IKEA ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าจะทำให้ไม่มีหน่วยงานด้านความยั่งยืนแยกออกมาต่างหาก เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคนในองค์กรที่จะต้องร่วมมือกัน

“คุณกานต์ ตระกูลฮุน” อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี เคยเมตตาแชร์ให้ฟังครั้งหนึ่งว่า ที่ SCG นั้นทุกครั้งที่มีการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ จะต้องมีช่วงที่ท่านจะพูดคุยเรื่องความยั่งยืนกับพนักงานใหม่ทุกรุ่น อย่างน้อยประมาณ 1-2 ชั่วโมงด้วยตัวเอง ทำให้พนักงานใหม่ทุกคนได้รับทราบว่าองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากเพียงใดและความรู้สึก

ตัวอย่างที่เล่ามาข้างต้น ล้วนแล้วตอกย้ำให้เห็นว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทุกคนในองค์กรต้องร่วมมือกันและช่วยกันสร้าง ไม่ใช่งานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น องค์กรจะต้องส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกในเรื่องนี้ให้อยู่ใน DNA ของเหล่าพนักงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถนำแนวคิดนี้ไปลงมือทำควบคู่กับงานประจำ จนเกิดเป็นความเชื่อ ความศรัทธา สร้าง passion not fashion จนกลายเป็นวัฒนธรรมด้านความยั่งยืนขององค์กรที่แข็งแกร่งในที่สุดได้

และหากพนักงานมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนอย่างแท้จริง จะสามารถวางแผนการทำงานที่สอดคล้องกับความยั่งยืนขององค์กรได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อต้องตอบแบบประเมินใด ๆ ด้านความยั่งยืนก็จะไม่ใช่การทำเพื่อปิดช่องว่างในเรื่องที่ (ควรทำแต่) ยังไม่ได้ทำอีกต่อไป