“อะไลท์” ชี้ความสำเร็จองค์กร บริหารคนเชื่อมโยงเทคโนโลยี

การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีส่งผลต่อการทำงานของเอชอาร์ (HR-human resource) ซึ่งฝ่ายเอชอาร์แต่ละองค์กรมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีแตกต่างกันไป ในฐานะที่ อะไลท์ โซลูชั่นส์ (Alight Solutions) เป็นผู้ให้บริการชั้นนำด้านโซลูชั่นเกี่ยวกับทุนมนุษย์ มีศูนย์การทำงาน 19 แห่งทั่วโลก เล็งเห็นว่ามีความจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับการปรับตัวของเอชอาร์ในเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะในเรื่องการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล จึงทำการสำรวจในหัวข้อ “The State of HR Transformation Study” ปี 2018-2019 ที่มุ่งเน้นเรื่องเอชอาร์ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ การสำรวจครั้งนี้ได้ส่งแบบสอบถามไปตามองค์กรในเอเชีย-แปซิฟิกกว่า 670 แห่ง ที่มีพนักงานรวมกันแล้วกว่า 6.1 ล้านคน

“วิครานท์ คานนา” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจการทรานส์ฟอร์มงานด้าน HR ประจำภูมิภาคเอเชีย ของอะไลท์ โซลูชั่นส์ กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ค่อนข้างแตกต่างจากการสำรวจที่มีทำขึ้นส่วนใหญ่ เพราะส่วนใหญ่มักพูดถึงภาคธุรกิจคาดหวังอะไรจากเอชอาร์ แต่การสำรวจนี้เราเจาะลึกถึงฝ่ายเอชอาร์ว่าจะจัดการตัวเองอย่างไรเพื่อให้ตรงกับความต้องการเชิงธุรกิจ

จากผลสำรวจเราพบว่าบริษัทในเอเชีย-แปซิฟิกกว่า 60% ต์มีรูปแบบเอชอาร์ที่ชัดเจนและเหมาะสม ซึ่งบ่งบอกว่าองค์กรนั้น ๆ มีการพัฒนาที่ดี และยังพบด้วยว่าองค์กรที่ได้พัฒนาด้านเอชอาร์จะมีความมั่นใจต่อความพร้อมในอนาคตของตนเองมากกว่าองค์กรอื่น ๆ เกือบ 5 เท่า และสามารถดำเนินงานด้านเอชอาร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า 2 เท่า

“เทคโนโลยีด้านเอชอาร์มีความสำคัญมากต่อความสำเร็จในการเตรียมความพร้อมให้กับอนาคตขององค์กร ยกตัวอย่างในเรื่องของระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวข้องกับการให้ฟีดแบ็ก ซึ่งจำเป็นต้องมีตลอดและต่อเนื่อง เทคโนโลยีจะช่วยให้การให้ฟีดแบ็กเป็นไปได้ทั่วถึงจากพนักงานทุกคน และทุกเวลา”

นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า ภายในปี 2020 มีองค์กรในเอเชีย-แปซิฟิก 67% จะใช้โปรแกรมการอบรมพนักงานราวครึ่งหนึ่งในรูปแบบวิดีโอ โดยมีเนื้อหาสั้น ๆ มากกว่าการอบรมในห้องเรียนแบบเดิม ๆ และใช้เทคโนโลยีให้คนสามารถเรียนรู้แบบออนดีมานด์ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ , 63% ขององค์กรจะใช้แพลตฟอร์มของอุปกรณ์เคลื่อนที่ทำงานด้านเอชอาร์ทั้งหมด, 50% จะใช้ AI (artificial intelligence) ขับเคลื่อนกระบวนการจัดการราวครึ่งหนึ่ง และ 80% คาดว่าจะใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อรองรับการตัดสินใจส่วนใหญ่เกี่ยวกับบุคลากร

ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (analytics) เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิผล ความสามารถ ประสิทธิภาพการทำงาน และการดึงดูดบุคลากร ผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 3 มีแผนที่จะปรับใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลบุคลากรที่แข็งแกร่งมากขึ้นในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า

รายงานผลการศึกษานี้ยังระบุแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในองค์กรต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก ภายในปี 2020 ว่า เกือบครึ่งหนึ่งขององค์กรคาดว่าจะมีธุรกรรมด้านเอชอาร์ส่วนใหญ่ (80%) เป็นแบบสั่งงานด้วยเสียง และบริษัทเกือบครึ่งหนึ่ง (47%) คาดว่าจะดำเนินกระบวนการราวครึ่งหนึ่งบนเทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ (wearable)

“วิครานท์ คานนา” บอกว่า ประเทศไทยมีคะแนนความพึงพอใจในการใช้เทคโนโลยีด้านเอชอาร์มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก แต่ก็ยังสามารถทำได้ดีขึ้นอีก โดยไทยมีความน่าพอใจอยู่ที่ 53% และค่าเฉลี่ยของเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ 45%

ปัญหาช่องว่างด้านความสามารถและการประสานงานที่ไม่เพียงพอ เป็นเหตุผลที่ทำให้ฝ่ายเอชอาร์ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เอชอาร์ต้องเปลี่ยนไมนด์เซตด้านเทคโนโลยี ต้องใส่ใจหาวิธีที่จะประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้กับงานมากขึ้น และต้องเพิ่มทักษะด้านการสื่อสาร การวิเคราะห์ และการเล่าเรื่อง และจากการสำรวจพบว่าองค์กร 3 ใน 4 แห่งมีแผนที่จะเพิ่มยอดใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของเอชอาร์ในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า

เมื่อก่อนองค์กรจะมองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายไอทีเท่านั้น แต่ปัจจุบันไม่ใช่ เอชอาร์ต้องเป็นผู้ที่เรียนรู้เทคโนโลยี และทำตัวเป็น change agent โดยเอชอาร์สามารถใช้ระบบคลาวด์ได้โดยไม่ต้องพึ่งไอทีด้วยซ้ำองค์กรต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก จำเป็นต้องผนวกรวมแพลตฟอร์มต่าง ๆ และบริการหลากหลายช่องทางเข้าด้วยกัน จะช่วยสร้างความแตกต่างที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเอชอาร์ในโลกดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

ฝ่ายเอชอาร์ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การทรานส์ฟอร์มทางธุรกิจประสบความสำเร็จ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม-วัฒนธรรมของคนทำงานในองค์กร ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของฝ่ายเอชอาร์ที่จะต้องเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีร่วมกัน เมื่อทั้งสองส่วนเชื่อมโยงแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กรแน่นอน