“ซีพีเอฟ” รักษ์นิเวศ ฟื้นฟูป่า “เขาพระยาเดินธง”

ฝีมือมนุษย์และการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตไฟป่าในช่วงฤดูร้อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าที่ไม่มีมาตรการป้องกันและดูแลรักษา ทำให้สภาพผืนป่าเสื่อมโทรมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดโครงการ “ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ และจิตอาสาของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ โดยมีเป้าหมายระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่ปี 2559-2563 โดยปีนี้เข้าปีที่ 4 รวมพื้นที่ของโครงการทั้งสิ้น 5,971 ไร่

“อภิชาติ แก้วกิ่ง” รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า บริเวณเขาพระยาเดินธงเป็นป่าผืนแรกของประเทศไทยที่มีการนำนวัตกรรมการปลูกป่า 4 รูปแบบ มาช่วยให้การฟื้นฟูป่าเร็วขึ้นกว่าการปล่อยให้ป่าฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ คือ 1) ปลูกป่าแบบพิถีพิถัน จัดทำระบบให้น้ำแบบหยดทั่วทั้งแปลง เพิ่มอัตราการรอดของต้นไม้สูงกว่า 80% 2) ปลูกป่าเชิงนิเวศ เป็นการปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ ไม่มีระบบน้ำหยด 3) ปลูกป่าแบบเสริมป่า เป็นพื้นที่มีต้นไม้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ไม่กระจายทั่วพื้นที่ จึงต้องปลูกต้นไม้เสริมและกำจัดเถาวัลย์ที่ปกคลุมยอด ให้แสงส่องถึงลูกไม้ที่อยู่พื้นดิน และ 4) การส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ

โดยกิจกรรมแรกของปี 2562 นี้ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการทำกิจกรรม ที่แปลงปลูกป่าเชิงนิเวศ พื้นที่ 50 ไร่ เพื่อบำรุงรักษากล้าไม้ในแปลงดังกล่าวที่ปลูกเลียนแบบธรรมชาติ ไม่มีระบบน้ำหยด ที่ทางเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ร่วมกับชุมชน และจิตอาสาซีพีเอฟกว่า 150 คน ได้ร่วมกันเติมปุ๋ยให้ป่า เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารจำเป็นต่อการเติบโตของพืช

ทั้งกล้าที่ปลูกใหม่และลูกไม้เดิมตามธรรมชาติ ด้วยการขุดหลุมเพื่อใส่ปุ๋ยและรดน้ำ หรือปุ๋ย EM เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน เป็นการช่วยกักเก็บและดูดซับน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพของอัตรารอดตายของกล้าไม้ในแปลง

“ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สู่ความยั่งยืนของธุรกิจ ภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่” ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาในการทำธุรกิจของซีพีเอฟ คือ สร้าง 3 ประโยชน์ คือ ประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร”

ขณะที่ “ชาตรี รักษาแผน” ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันป่าไม้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยยังต้องได้รับการฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการรอดของต้นไม้ แม้ว่าภาครัฐจะมีการดำเนินการอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูป่าไม้ แต่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ ช่วยให้ป่าคืนสู่สภาพสมบูรณ์เร็วขึ้น ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้เป็น 40% ของพื้นที่ประเทศ

อีกทั้งยังมีกิจกรรมซ่อมแนวกันไฟทางตรวจการณ์ เป็นการป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าโดยกำจัดเชื้อเพลิงจำพวกใบไม้ กิ่งไม้แห้ง หญ้า และไม้พื้นล่างเล็ก ๆ ออก และกิจกรรมลอกคลองไส้กรอก เป็นการขุดตะกอนดินที่ทับถมจากฤดูฝนที่ผ่านมา รวมถึงการเก็บเศษกิ่งไม้บริเวณคันดิน และปรับระดับร่องน้ำตามแนวความลาดชัน เพี่อกระจายน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับต้นไม้ ปรับแนวคันดินเพื่อเตรียมแนวสำหรับปลูกหญ้าแฝก กำแพงธรรมชาติที่มีชีวิตเพื่อลดความลาดชันของพื้นที่และลดอัตราการไหลบ่าของน้ำบนผิวดิน


นับว่าเป็นพื้นที่ต้นแบบกิจกรรมที่ภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ พยายามสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของป่าไม้ในประเทศ ที่จะอุดมสมบูรณ์หรือเสื่อมโทรมไปอย่างไร้ประโยชน์ ก็อยู่ที่มือคน