สื่อบ้านนอกจับมือ “ปิดทองฯ” เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนชายแดนใต้

วิถีชีวิตชนบทของไทยแม้จะมีการระดมจากทุกภาคส่วนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ แต่ก็เป็นเพียงการพัฒนาในระดับผิวเผิน เพราะส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ตัวชี้วัดความสำเร็จจากการยกระดับความเจริญในด้านวัตถุเท่านั้น ยังไม่สามารถลงลึกไปถึงมิติด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม และประเพณี และยังขาดการพัฒนาทางด้านทักษะเพื่อให้ชุมชนได้อยู่อย่างพอเพียงและมีความสุข

จากเหตุผลข้างต้น ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มนักข่าวอาวุโสจากสื่อหลายสำนัก ภายใต้ชื่อ “ชมรมสื่อบ้านนอก” ที่มุ่งหวังที่จะนำประสบการณ์จากการทำงานจริงในพื้นที่ข่าวในหลากหลายมิติ มาเป็นส่วนเล็ก ๆ เพื่อเติมสิ่งที่ขาดให้แต่ละพื้นที่ ชมรมดังกล่าวได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก “มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ” เพื่อรณรงค์ให้เกิดการปฏิรูปองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับชนบทไทย ครอบคลุมทั้งเชิงวัตถุ, วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนชนบทตามสภาพของภูมิสังคมในแต่ละท้องถิ่น

นอกจากนี้ ชมรมสื่อบ้านนอกยังมีบทบาทในการลดช่องว่างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารระหว่างชนบทกับเมือง และสร้างเสริมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะความเข้าใจถือเป็นฐานรากสำคัญของแต่ละชุมชน โดยเฉพาะปีนี้ชมรมสื่อบ้านนอก พร้อมด้วยมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จัดกิจกรรม “โครงการตะลุยบ้านนอกครั้งที่ 1” ครอบคลุมพื้นที่ จ.นราธิวาส และสงขลา เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ผ่านโครงการจัดหาน้ำให้ราษฎรหมู่ที่ 8 (บ้านธนูศิลป์) อันเนื่องมาจากพระราชดําริ หมู่ที่ 8 บ้านธนูศิลป์ ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

โดยโครงการดังกล่าวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง ทั้งยังสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรเพื่อใช้เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี เมื่อมีอาชีพ ก็มีรายได้ ส่งผลให้ในแต่ละชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นชมรมสื่อบ้านนอก ยังได้ร่วมลงพื้นที่ที่น่าสนใจอย่างพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ในโครงการทุเรียนคุณภาพ ถือเป็นการต่อยอดโครงการส่งเสริมการปลูกทุเรียนคุณภาพที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 ในพื้นที่ จ.ยะลา โดยพื้นที่ต.เนอะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา ที่นับเป็นพื้นที่ต้นแบบตามยุทธศาสตร์ “ทุเรียนซิตี้” ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3.8 เท่า

“การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ” ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า มูลนิธิปิดทองหลังพระได้นำศาสตร์พระราชามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจน เพราะไม่มีอาชีพ ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

และเห็นความสำเร็จได้ชัดเจนจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดภาคใต้ ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในปี 2561 ที่ได้ส่งเสริมความรู้ การดูแล บำรุงรักษา และเชื่อมโยงตลาดให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจำนวน 18 ราย รายละประมาณ 20 ต้น

“เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยรายละ 129,856 บาท และมีรายได้ต่อต้นอยู่ที่ 8,578 บาท เมื่อเทียบกับการปลูกแบบเดิมมีรายได้แค่เพียง 2,252 บาทต่อต้น ถือเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 3.8 เท่าต่อต้น จึงเป็นความสำเร็จในการร่วมมือกันของประชาชน ภาครัฐ และเอกชน”

“การัณย์” ยังกล่าวถึงการดำเนินงานในปี 2562 ว่า มูลนิธิปิดทองหลังพระ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขยายผลวิธีการดำเนินงานให้ครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส) ใน 13 อำเภอ 37 ตำบล มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 664 ราย จำนวน 22,508 ต้น เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรในเรื่องการตัดทุเรียนอ่อน การถูกกดราคา การขายแบบเหมาสวน การดูแลแบบรอฟ้ารอฝน และส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาการปลูกทุเรียนให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ โครงการยังได้คัดเลือกอาสาทุเรียนคุณภาพ จำนวน 91 คน และส่งไปฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง โดยจะเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ตั้งแต่การดูแลไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ระหว่างเดือนธันวาคม 2561-พฤษภาคม 2562 สำหรับอาสาสมัคร 1 คน จะทำหน้าที่ติดตามทุเรียนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 300 ต้น ในทุกวัน พร้อมทั้งรายงานผลลงสมุดบันทึกเพื่อส่งต่อไปยังอำเภอต่อไป

“การัณย์” กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถือเป็นอีกพื้นที่เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 43 คน จำนวน 3,100 ต้น และมีอาสาทุเรียนคุณภาพที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการจำนวน 11 คน ซึ่งการจะทำให้ผลผลิตทุเรียนดี ต้องดูแลตามหลักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบน้ำ การตัดแต่งกิ่ง และดอกทุเรียน การให้ปุ๋ย รวมถึงการดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ด ที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ของทุเรียนในพื้นที่ และถ้าทำได้ดีคาดว่าจะสามารถขายได้ถึง 70-80 บาทต่อกิโลกรัม

“สำหรับตัวชี้วัดผลของโครงการนั้น คาดว่าเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่รวม 1,250 ราย จะมีกำไรจากการจำหน่ายผลผลิตทุเรียนไม่ต่ำกว่า 146,900 บาทต่อราย ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคงและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

“ที่สำคัญ ยังสามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต พร้อมกับสร้างช่องทางการจำหน่ายในรูปแบบใหม่ เกิดการขยายผลด้านอาชีพและเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในพื้นที่ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากพืชเศรษฐกิจเดิมในพื้นที่ได้ด้วย”

นอกจากนี้ ในกิจกรรมโครงการตะลุยบ้านนอกครั้งนี้ยังได้ไปเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านพระพุทธ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มแม่บ้านทั้งชาวไทยพุทธ และมุสลิม 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ 2 และ 7 ใน ต.เทพา อ.เทพา จ.สงขลา ตั้งแต่ปี 2530 เพื่อผลิตกะปิที่มีคุณภาพส่งจำหน่ายทั่วประเทศมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย


อันเป็นการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างคนชนบทกับคนเมือง ผ่านกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้