ซีไลฟ์ฯ ลุยสานต่อพันธกิจ “บริหารอควาเรียมแบบยั่งยืน” พายเรือคายัคเก็บขยะ – ขัดบ่ออนุบาลเต่าทะเลบาดเจ็บ จ.ภูเก็ต

ขยะที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากร ก่อให้เกิดความสูญเสียให้กับท้องทะเล  เช่น การตายของปะการัง เพราะมีอวนจำนวนมากปกคลุมในแนวปะการัง การติดอวนของสัตว์ทะเลจนตายหรือติดเชื้อ สัตว์ทะเลหลายชนิดมักจะกินพลาสติกโดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งทำให้สัตว์ขาดอาหารและอาจถึงตายในที่สุด นอกจากนี้ขยะพลาสติกยังเป็นอันตรายโดยการถูกรัด และทำให้บาดเจ็บ ซึ่งกลายเป็นปัญหาหนักที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญ รวมถึงประเทศไทย

“ซีไลฟ์ แบงคอก” นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหน้าสานต่อพันธกิจ “หลักการบริหารอควาเรียมแบบยั่งยืน” (Sustainability) มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 สำหรับ “กิจกรรมรักษ์ผืนน้ำและแนวชายฝั่ง” ภายใต้วิสัยทัศน์ยึดมั่นหัวใจแห่งนักอนุรักษ์ และด้วยสภาวะปัญหาท้องทะเลและแนวชายฝั่งที่เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว โดยผสานความร่วมมือกับสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจหัวใจแห่งการอนุรักษ์ด้วยกัน ณ จังหวัดภูเก็ต

ด้วยการลงพื้นที่ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ตลอด 2 วัน 1 คืน ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 เพื่อศึกษาธรรมชาติเส้นทางป่าชายเลน พายเรือคายัคเก็บขยะตามแนวป่าโกงกางท่าฉัตรไชย ซึ่งมีขยะจำนวนมากที่พัดพามาจากทะเลพร้อมน้ำขึ้น แต่กลับไม่หายไปเมื่อน้ำลง ติดค้างอยู่ตามรากต้นโกงกางจำนวนมาก และเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อช่วยทำความสะอาดบ่อเต่าพักฟื้นและขัดทำความสะอาดเต่าทะเลที่ขึ้นมาเกยตื้นเพราะเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากหลายสาเหตุ อาทิ ติดเชื้อ เกิดอุบัติเหตุในทะเล อย่าง ถูกฉลามกัด และติดอวนประมง

“นพดล ประพิมพ์พันธ์” ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจกรุงเทพ ภายใต้บริษัท เมอร์ลิน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ส จำกัด และผู้บริหารแบรนด์ซีไลฟ์ แบงคอก กล่าวว่า ภารกิจการสานต่อ หลักการบริหารอควาเรียมแบบยั่งยืน ของ ซีไลฟ์ แบงคอก นั้นเราต้องเริ่มต้นจากการปลูกจิตสำนึกแก่พนักงานทุกคน ซึ่งเปรียบเสมือนคนในครอบครัวซีไลฟ์ ให้ตระหนักถึงความจำเป็นและสร้างการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยจิตใจอนุรักษ์ มุ่งมั่น และใส่ใจต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมปัจจุบัน ปีนี้ เราจึงตัดสินใจจัดกิจกรรมรักษ์ผืนน้ำและแนวชายฝั่งสองครั้ง เพิ่มจากที่จัดทุกปี เพื่ออุทิศตนเป็นหนึ่งในกำลังที่จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ในพื้นที่ป่าชายเลนนั้นจะมีขยะที่ถูกพัดขึ้นมาติดอยู่ตามรากโกงกางเป็นจำนวนมาก มีทั้งชิ้นเล็กและชิ้นใหญ่ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการพายเรือคายัคเข้าไปเก็บขยะออกมาทุกครั้งเมื่อเสร็จสิ้นจากภาระกิจอื่น แต่การลงเก็บขยะในแต่ละครั้งนั้นก็ไม่สามารถเก็บออกมาได้ทั้งหมด เพราะขยะดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมาทุกครั้งเมื่อช่วงเวลาน้ำขึ้นและถูกคลื่นซัดเข้ามา ซึ่งในแต่ละครั้งปริมาณของขยะที่เก็บได้ราว 3-4 กิโลกรัมต่อครั้ง

สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับทรัพยากร ประชาการของสัตว์ทะเลหายาก และรายงานว่าขณะนี้สัตว์เหล่านี้มีแนวโน้มประชากร เนื่องจากปัจจุบันสัตว์ทะเลหายาก อาทิ เต่าทะเล โลมา วาฬ และพยูน จะมีอัตราการลดจำนวนลงเป็นจำนวนมาก

และอีกหน้าที่หลักคือการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากในช่วงเวลาที่สัตว์เหล่านี้ขึ้นมาเกยตื้น ซึ่งการเกยตื้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสัตว์เหล่านั้นมีการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย อย่าง อาทิ การเจ็บป่วยเพราะติดเชื้อจากในร่างกายเอง หรือการที่ได้รับอุบัติเหตุในทะเล ไม่ว่าจะเป็นการติดเครื่องมือประมง อย่างเต่าทะเลที่บางตัวก็จะเห็นว่าแขน-ขา ขาด  ผิวหนังอักเสพ และมีปัญหาการกลืนกินพลาสติก เพราะด้วยความที่เต่าทะเลมักจะกินแมงกะพรุนเป็นอาหาร และเมื่อพบเข้ากับถุงพลาสติกโดยสัญชาตญาณก็จะคิดว่าเป็นอาหาร ทำให้เป็นผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารและเป็นปัญหาที่พบมากในประเทศและทั่วโลก

ดังนั้นทางเจ้าหน้าที่จะเข้าให้การดูแล และจัดพื้นที่อนุบาลเพื่รองรับเต่าทะเลที่มาเกยตื้น โดยเต่าที่อยู่ในการดูแลขณะนี้มีทั้งหมด 3 ชนิด จาก 5 ชนิด คือเต่าตะหนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า อีกสองชนิดที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลก็คือ เต่าหัวค้อน และเต่ามะเฟือง

เมื่อทำการรักษาเสร็จแล้วเต่าตัวไหนที่มีอาการที่ดีขึ้นก็จะเข้าขั้นเตรียมพร้อมปล่อยลงในทะเล ก็จะทำการคัดแยกให้ไปอยู่รวมในบ่อใหญ่ แต่ตัวไหนที่ยังคงไม่แข็งแรงและต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด ทางเราก็จะทำการแยกเอาไว้ในบ่อเดี่ยวก่อนจนกว่าร่างกายจะหายดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกดูแลโดยสัตวแพทย์และทีมงานผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนการทำความสะอาดทำความสะอาดกระดองเต่าต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากกระดองค่อนข้างที่จะมีความคม ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ขัดคือสก๊อตไบร์ และน้ำยาทำความสะอาดพิเศษ ที่ใช้ในโรงพยาบาลเพื่อฆ่าเชื้อ โดยขนำสก๊อตไบร์จุ่มลงในน้ำยาทำความสะอาดพิเศษ และถูเบาๆ ให้ทั่วกระดองเต่าแล้วล้างน้ำออกให้สะอาด

และก่อนที่กิจกรรมนี้จะจบลงไป “นพดล” ในฐานะผู้บริหารได้กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

“หลังจากภารกิจสองวันหนึ่งคืนของเราในครั้งนี้ เราได้รับทราบจากทีมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบ่อพักฟื้นเต่าทะเลเกยตื้นว่า ภารกิจทำความสะอาดและดูแลเต่าทะเลที่ซีไลฟ์ฯ มาทำนั้น ไม่เคยมีใครมาทำ ปกติเจ้าหน้าที่ต้องทำความสะอาดกันเองทั้งหมด ทำให้อาจดูแลได้ไม่บ่อยครั้งเท่าที่จำเป็น เรารู้สึกดีใจมากที่ ซีไลฟ์ แบงคอก สามารถช่วยเป็นกำลัง แม้เพียงส่วนหนึ่ง ให้สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเลได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเราจะเดินหน้าปฏิบัติภารกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืนต่อไปตามที่เราให้คำมั่นไว้”