ฟังเสียงผู้ใช้แรงงาน! ยันต้องขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำ-จัดสวัสดิการคุ้มครองแรงงานที่ครอบคลุม

วันที่ 1 พฤษาคมของทุกปีถือเป็นวันแรงงาน “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “น.ส.ธนพร วิจันทร์” รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ถึงความต้องการและข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน

โดย “น.ส.ธนพร” กล่าวยืนยันข้อเรียกร้องเดิมที่ คสรท. และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยื่นต่อรัฐบาลไปเมื่อปี 2560 นั้น ถือว่ามีสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ใช้แรงงาน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาตามข้อเสนอที่ยื่นไว้ ซึ่งข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ ประกอบด้วย

1) จัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
2) กำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม
3) ให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่87, 98 และ183
4) ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
5) ยกเลิกนโยบายลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจ
6) ปฏิรูประบบประดันสังคม
7) บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
8) ตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงการลงทุน
9) เร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ
และ10) จัดสรรงบประมาณให้สถาบันความปลอดภัย

นอกจากนี้ “น.ส.ธนพร” ยังมองว่า ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขและให้การช่วยเหลือแรงงานอย่างเร่งด่วนประกอบด้วย การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ต้องมีการปรับขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ และสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญต้องไม่ผูกโยงกับการเมือง อย่างก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ มีการพูดถึงตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็น 400-450-500 บาท แต่ภายหลังจากการเลือกตั้งไม่มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้

“ขอร้องอย่าเอาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปผูกโยง หรืออิงแอบกับการเมืองใดๆ รวมถึงอย่าให้มีการแทรกแซงจากฝ่ายต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง อย่างในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้สะท้อนตามราคาสินค้า สภาวะเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญรัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นส่วนใหญ่ และถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ”

อีกทั้ง เรื่องของสวัสดิการจากประกันสังคมต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเบี้ยชราภาพ ที่ผู้ประกันที่มีอายุตั้ง 55 ปีขึ้นจะได้รับ จำนวน 3,000 บาท นั้นถือว่าไม่สอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพในปัจจุบัน

“ทั้งยังต้องการให้ภาครัฐบาลให้สัญญาบันในอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพราะอนุสัญญาดังกล่าวจะรับรองให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิรวมตัวเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ซึ่งจะทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์”

“ไม่เพียงเท่านี้ อยากให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง เพราะถ้าหากผู้แรงงานถูกนายจ้างลอยแพ กองทุนนี้จะสามารถช่วยเหลือได้มากกว่ากองทุนสงเคราะห์เดิม ที่ให้การช่วยเหลือลูกจ้างหลังถูกเลิกจ้างได้เพียง 60 วัน หรือ 2 เดือนเท่านั้น ตลอดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงในการทำงาน ตาม พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2544”

นับเป็นเสียงของผู้ใช้แรงงาน ที่อยากให้ภาครัฐเร่งให้การช่วยเหลือและแก้ไขอย่างเร่งด่วน