“ทราเวลโลก้า” DICE-H+F สูตรบริหารคนในยุคดิสรัปชั่น

ต้องยอมรับว่าทราเวลโลก้า (Traveloka) เป็นผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบิน และที่พักออนไลน์ชั้นนำ ที่ตอบโจทย์บริการการเดินทางอย่างครบครันในแพลตฟอร์มเดียว ทั้งยังเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะในปี 2560 ที่ผ่านมา ทราเวลโลก้า มีการเสริมทัพการดำเนินธุรกิจด้วยการระดมทุนกว่า 16,500 ล้านบาท หรือประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Expedia, East Ventures, Hillhouse Capital, JD.com และ Sequoia Capital จึงทำให้ทราเวลโลก้าก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์นด้านเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากจะเป็นผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักอันดับหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย ทราเวลโลก้ายังมีการขยายธุรกิจไปยัง 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม และฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ที่ทราเวลโลก้าเข้ามาดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2558 และถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการจองเที่ยวบิน และที่พัก โดยพิสูจน์ได้จากการเป็นแอปพลิเคชั่นด้านการท่องเที่ยว ที่มียอดดาวน์โหลดติดอันดับต้น ๆ ทั้งในระบบ iOS และ Android จึงทำให้ทราเวลโลก้ามุ่งพัฒนาพนักงานในมิติต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างบรรยากาศองค์กรรุ่นใหม่ด้านการท่องที่ยวที่น่าทำงานมากที่สุด

“โสภณ สุรเชษฎไพศาล” ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการบุคคล ทราเวลโลก้า ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของทราเวลโลก้าที่มุ่งเป็นผู้นำด้านบริการจองตั๋วเครื่องบิน และที่พักออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังตอบโจทย์บริการการเดินทางอย่างครบครันในแพลตฟอร์มเดียว ภายใต้แนวคิด “Enabling Mobility” ที่ให้ความมั่นใจกับทุกการเดินทาง สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น และเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น ด้วยโซลูชั่นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง

“ทราเวลโลก้ายังถือเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นธุรกิจสตาร์ตอัพ ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปี ซึ่งถือว่าพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงทำให้คนในองค์กรต้องคิดเร็ว ทำเร็ว ไม่หยุดอยู่กับที่ ทั้งยังต้องคิดให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคตลอดเวลา ทำให้ทราเวลโลก้าจึงเป็นบริษัทที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเข้าใจเทคโนโลยี และตื่นตัวสนใจเรื่องที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว”

“อย่างในประเทศไทย ทราเวลโลก้าเปิดให้บริการ โดยเริ่มต้นจากพนักงานเพียง 85 คน จนปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 350 คน ซึ่งเราไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เพียงการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่อีกทางหนึ่งทราเวลโลก้าให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงาน และสร้างบรรยากาศในการทำงานให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถส่งต่อสินค้าและบริการที่เป็นเยี่ยมให้แก่ลูกค้าได้”

“อีกทั้งในการบริหารทรัพยากรบุคคล เราไม่ได้ใช้คำว่าแผนกเอชอาร์ แต่ใช้คำว่าแผนก people operation (งานปฏิบัติการบุคคล) ซึ่งคำนี้เกิดจากความคิดของ “ธีร์ ฉายากุล” country manager ทราเวลโลก้า ประเทศไทย ที่มองว่าคนส่วนใหญ่มักจะติดลบกับคำว่าเอชอาร์ เนื่องจากแผนกนี้จะติดตาม จับผิดการทำงานของพนักงานอยู่ตลอดเวลา และเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด และเป็นการลดกันชนระหว่างการทำงานลง คำว่า people operation จึงน่าจะตอบโจทย์การบริหารคนมากที่สุด”

“โสภณ” กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เดิมการบริหารบุคลากร ทราเวลโลก้ามีการกำหนดกรอบการทำงาน และค่านิยมองค์กร ที่เรียกว่า corporate value ใน 3 เรื่องกว้าง ๆ คือ embrace challenges พร้อมรับความท้าทาย, celebrate openness เปิดกว้างต่อความคิดสร้างสรรค์ และ value autonomy ให้อิสระกับพนักงานให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบอย่างเต็มที่

โดยล่าสุดในปี 2562 ทราเวลโลก้ามีการจัดกระบวนทัพ corporate value ใหม่ ที่เรียกว่า “DICE-H” ด้วยการลักษณะการทำงานออกเป็น 5 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้รวดเร็ว และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังเหมาะกับองค์กรที่มีความหลากหลาย และถือเป็นดีเอ็นเอสำหรับพนักงานในแต่ละประเทศที่สามารถบ่งบอกความเป็นทราเวลโลก้าได้ ประกอบด้วย

หนึ่ง D-dedication ความทุ่มเทตั้งใจ ที่เกิดจากการมุ่งทำงานในส่วนของตนให้ดี และเมื่อแต่ละส่วนดีก็จะทำให้งานในองค์กรในภาพรวมออกมาดีเช่นกัน ทั้งนี้ หากมีปัญหาหรืออุปสรรคใดทุกคนพร้อมที่จะช่วยกันฟันฝ่าไปด้วยกัน อีกทั้งในส่วนยังเชื่อมโยงไปกับการ recruit พนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมองหาคนที่มีแรงบันดาลใจ (passion) มากกว่าคุณสมบัติอื่น ๆ เพราะเชื่อว่าแพสชั่นสามารถคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ได้อยู่อย่างต่อเนื่อง

สอง I-intellectual honesty ซื่อตรงต่อความคิด และให้เกียรติทุกความคิดเห็น โดยพนักงานทุกคนสามารถพูดถึงความต้องการ ข้อสงสัยระหว่างที่ทำงานอยู่ได้ หรือแสดงไอเดียต่าง ๆ ที่ตนคิดขึ้น โดยเราจะรับฟังทุกปัญหา ทุกเรื่องราวที่ทุกคนพร้อมจะช่วยกันแก้ไข และปรับปรุงให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ทุกคนที่นี่มีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น

สาม C-curiosity ความใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา โดยคิดค้นหาทางแก้ปัญหา หาโซลูชั่นสำหรับอุปสรรค หรือความท้าทายที่พบเจอ ซึ่งทราเวลโลก้าเปิดโอกาสให้พนักงานได้ฝึกฝน และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ โดยมีระบบการเรียนรู้ ทั้งโปรแกรม internal guru ที่มีผู้เชี่ยวชาญในองค์กรหมุนเวียนกันมาให้ความรู้เรื่องต่าง ๆ กับพนักงาน

“โปรแกรมแลกเปลี่ยนพนักงานในแต่ละแผนก (department exchange staff program) ที่จะช่วยให้เข้าใจการทำงานของเพื่อนร่วมงานอีกแผนกว่าทำงานกันอย่างไร รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างพนักงานของทราเวลโลก้าในแต่ละประเทศ เพื่อให้พนักงานนำประสบการณ์ใหม่ ๆ ในประเทศต่าง ๆ อีกทั้งยังมีคอร์สอบรมเบื้องต้นสำหรับพนักงานที่อยากหาความรู้เพิ่มเติม ในสิ่งที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบหลักของตน อาทิ digital marketing for nonmarketing persons”

สี่ E-empathy ความเข้าอกเข้าใจกัน ช่วยเหลือ และสนับสนุน ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมงาน พาร์ตเนอร์ และผู้ใช้งาน รวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพราะเราใช้เทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับคน การดีไซน์ระบบ และทำงานอะไรต่าง ๆ จึงต้องเข้าใจมนุษย์ด้วย

ห้า H-humility คือ การถ่อมตน โดยทำตัวเหมือนกับน้ำที่ไม่เต็มแก้ว ระลึกอยู่เสมอว่าเรายังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้เรื่อย ๆ รวมถึงยินดีกับความสำเร็จของคนอื่นได้ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น “โสภณ” ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของประเทศไทย นอกจากเรื่อง “DICE-H” ที่นำมาปรับใช้แล้ว ยังมีการเพิ่มคำว่า F-fun เข้าไปอีกหนึ่งใน corporate value ขององค์กร ซึ่งเกิดจากความคิดของ “คุณธีร์” ที่มองว่า การจะทำงานให้ได้ผลที่ดี คนทำงานจะต้องมีความสุข สนุกกับการทำงาน จึงทำให้ที่ทำงานของทราเวลโลก้า ถูกสร้างให้เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นสนามทดทอง ที่ทุกคนได้สนุก ได้แสดงออก เพื่อให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

“เรามีการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดมุมหนังสือ, การทำมุมสบาย ๆ ให้พนักงานมานั่งประชุมกัน แทนที่จะต้องนั่งประชุมอยู่ในห้อง อีกทั้งยังมีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมสันทนาการ, ชมรมต่าง ๆ รวมถึงห้อง relax ห้องวิดีโอเกม, ห้องบอร์ดเกม เพื่อช่วยให้เกิดการผ่อนคลายและเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานที่อยู่กับที่ โดยให้มีกิจกรรมที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ และเพิ่มไอเดียให้กับทีมงาน”

“ที่สำคัญ ในการทำงานที่ทราเวลโลก้า เราวัดผลพนักงานแบบ 360 องศา เพื่อช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง และสะท้อนว่าเพื่อนร่วมทีมเข้าใจตัวเราอย่างไร และตื่นตัวพร้อมที่จะปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอย่างไรบ้าง ทั้งยังมีสวัสดิการสำหรับพนักงานที่ไม่เหมือนกับที่อื่น ๆ อาทิ travel benefit ที่ให้พนักงานสามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มทราเวลโลก้า โดยบริษัทจะมีงบประมาณให้ และจะเพิ่มขึ้นตามอายุงาน อีกทั้งยังมีสวัสดิการที่ให้พนักงานแต่ละแผนกจัดทริปออกไป outing ปีละหนึ่งครั้ง”

“ตรงนี้เองที่จะทำให้พนักงานเข้าใจถึงตัวสินค้าและบริการ ได้ประสบการณ์ในแง่ผู้ใช้ สามารถคิดค้นโซลูชั่นในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงคิดค้นสินค้า และบริการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการ และการบริการที่เป็นเยี่ยมให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี”

อันถือเป็นแนวทางในการบริหารคนในยุคดิสรัปชั่นแบบของทราเวลโลก้าอย่างแท้จริง