เฉลิมราชย์ราชา สร้างจิตอาสารักษ์น้ำ

คอลัมน์ CSR Talk

หลังจาก “เอสซีจี” เปิดโครงการ “เฉลิมราชย์ราชา” ที่ร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน จิตอาสา และพนักงานร่วมน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายราชสดุดี เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ด้วยการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมทั่วประเทศในการร่วมเทิดพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศล ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ดังนี้

หนึ่ง กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง” เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วน ในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2562 โดยร่วมกับกองทัพบกจัดคาราวานส่งมอบถังเก็บน้ำขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 1,000 ใบ ที่ผลิตด้วยวัสดุโพลิเมอร์เอลิเซอร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมของเอสซีจีเพื่อการผลิตถังเก็บน้ำให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย พร้อมเชิญชวนเครือข่ายจิตอาสาในพื้นที่ร่วมทำฐานติดตั้งถังเก็บน้ำจากวัสดุรีไซเคิลที่เหลือจากการก่อสร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง SCG Circular Way หรือการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด และนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สอง กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว โดยร่วมกับชุมชน และจิตอาสา ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ 10,000 ฝาย ปลูกต้นไม้จากภูผาสู่มหานที 10,000 ต้น สร้างสระพวงเชิงเขา และระบบแก้มลิงในพื้นที่ราบ เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ทำการเกษตรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ชุมชนเป้าหมายที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก 18 จังหวัด อาทิ ขอนแก่น, กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด เป็นต้น

สาม กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย” โดยมูลนิธิเอสซีจีร่วมกับเครือข่ายจิตอาสา ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้บริการตามความประสงค์ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 21 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีความสุข

สำหรับล่าสุดเอสซีจีจัดกิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” ในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยผนึกพลังเครือข่าย และจิตอาสา ด้วยการปลูกหญ้าทะเล และป่าโกงกางในพื้นที่ชุมชนบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวม 15 ไร่ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง พร้อมกับวางบ้านปลา เพื่อให้เป็นแหล่งอนุบาลสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล โดยตั้งเป้าวางบ้านปลาให้ครบ 400 หลัง ในปี 2562 ควบคู่ไปกับการจัดการขยะชุมชนชายฝั่ง เพื่อดูแลรักษาระบบนิเวศชายฝั่งทะเลอย่างครบวงจรให้มีความยั่งยืนต่อไป

“ศาณิต เกษสุวรรณ” ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ธุรกิจปูนซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดตรัง เอสซีจีได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และเครือข่ายจิตอาสาจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้จากภูผาสู่มหานที ในโครงการ “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” ด้วยการปลูกหญ้าทะเล 2,000 ต้น ในพื้นที่ 2 ไร่ และปลูกหญ้าโกงกาง 300 ต้น ในพื้นที่ 2 ไร่ ณ ชุมชนบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

“จากเดิมเราร่วมกับชุมชนปลูกหญ้าทะเลไปแล้ว 14,000 ต้น ตั้งแต่ปี 2559 ในพื้นที่ 15 ไร่ และปลูกป่าชายเลนไปแล้วกว่า 1,400 ต้น ในพื้นที่ 15 ไร่ นอกจากนี้ เอสซีจียังร่วมกับชุมชนบ้านมดตะนอย หน่วยงานภาครัฐดูแลระบบนิเวศ และอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ด้วยการวางบ้านปลาที่หล่อขึ้นจากนวัตกรรมปูนเอสซีจีที่มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน และทนต่อซัลเฟตและคลอไรด์จากน้ำทะเล เพิ่มอีก 20 หลัง จากเดิมที่วางไปแล้วจำนวน 320 หลัง ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อใช้เป็นแหล่งอนุบาลสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล”

“หนึ่งฤทัย สกุลส่องบุญสิริ” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย กล่าวว่า เนื่องจากชุมชนบ้านมดตะนอย หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นชุมชนประกอบอาชีพทำประมงชายฝั่งทะเล มีจำนวน 303 หลังคาเรือน และมีประชากรทั้งหมด 1,084 คน

“เราพบว่าขยะเป็นปัญหาแรกของชุมชน มีสาเหตุมาจากขยะที่เกิดจากการกิน ขยะจากการประกอบอาชีพ ขยะติดเชื้อที่เกิดจากการเจ็บป่วย และขยะที่มาจากทะเล ซึ่งชุมชนมีแนวคิดอยากร่วมกันแก้ไขปัญหา จึงมีการพูดคุยที่จะแก้ปัญหาขยะ และมีการดำเนินการเรื่องขยะมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ”

“จนตอนหลังมีการพูดคุยกับทีมแกนนำในชุมชน ซึ่งทุกคนต่างต้องการอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง จึงมีการขยายการมีส่วนร่วมไปยังประชาชนในชุมชนเพื่อเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น กระทั่งเกิดเป็นข้อตกลงของชุมชน ประกอบกับในปี 2561 เอสซีจีได้เข้ามาร่วมสนับสนุนชุมชนในการจัดการขยะพลาสติก มีการจัดอบรมให้ความรู้ การลด-เลิกใช้ถุงพลาสติก พร้อมสนับสนุนถุงผ้าเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิเสธถุงพลาสติก และสนับสนุนถุงผ้าให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย (รพ.สต.)”

“จากจุดนั้นเอง จึงทำให้เกิดการต่อยอดตามมาในการจัดการขยะชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากเอสซีมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการจัดอบรมสร้างจิตสำนึกให้กับเด็ก และเยาวชนมีจิตสำนึกร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้กิจกรรมรักษ์ทะเล ลดขยะ รวมไปถึงจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน”


ดังจะเห็นได้ว่าเอสซีจียังคงมุ่งมั่นสร้างเครือข่ายจิตอาสาทั่วประเทศ ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก เพื่อสร้างพลังที่เข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การผลักดันสังคม และชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระทั่งสามารถขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป