มูลนิธิกาญจนบารมี ส่งทีมแพทย์รักษา-ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม

“โรคมะเร็งเต้านม” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของกลุ่มสตรี ทั้งยังมีอัตราของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จนนับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ แต่ในทางกลับกัน สถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยกลับมีจำนวนจำกัด จนส่งผลต่อการดูแลรักษาโรคมะเร็งที่ต้องอาศัยระยะเวลา และความต่อเนื่องแต่ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงใยและคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยในด้านสุขภาพ

ทั้งยังทรงเป็นองค์ประธานในการจัดสร้างศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ที่อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานีซึ่งอยู่ภายใต้โครงการกาญจนบารมี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลวโรกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ 50 และต่อมายกสถานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี

โดยให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกประเภท ปีละมากกว่า 2,000 ราย รวมทั้งยังให้ความรู้ในการป้องกัน การดูแลรักษาทั้งทางร่างกาย และจิตใจสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายให้มีความสุข จนภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คณะกรรมการของโครงการกาญจนบารมี ดำเนินการจัดตั้ง “มูลนิธิกาญจนบารมี” ขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา เพื่อเป็นกองสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาล และส่งเสริมการดำเนินงานป้องกันมะเร็ง รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ให้ได้รับการดูแล

“ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี” ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ในอำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย ซึ่งเป็นอำเภอที่ 2 ของจังหวัดเลย ปัจจุบันการดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 6 ซึ่งมีการออกหน่วยคัดกรองมะเร็งเคลื่อนที่ รวมทั้งหมด 773 ครั้ง มีตรวจคัดกรองมะเร็งให้กับผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ห่างไกลไปแล้วมากกว่า 231,900 คน ส่งคนไข้ไปตรวจวินิจฉัย 1,791 ราย พบเจอผู้ป่วยโรคมะเร็งประมาณ 300 ราย ถูกส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเหมาะสม

“มูลนิธิจึงจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยง และด้อยโอกาสที่อยู่ในเขตทุรกันดาร ห่างไกลจากโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล และมีฐานะยากจน โดยหน่วยคัดกรองมะเร็งเคลื่อนที่ของมูลนิธิกาญจนบารมีได้เดินทางไปตระเวนทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย พร้อมด้วยเครื่องมือทันสมัยที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆทั้งสิ้น พร้อมกับรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นโรคร้ายที่ผู้หญิงไทยป่วย และเสียชีวิตในอัตราสูง หากได้รับการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะส่งผลต่อการรักษา และมีโอกาสหายได้ในอัตราที่สูง”

“โดยรถเคลื่อนที่หนึ่งขบวนประกอบด้วยรถจำนวน 4 คัน 1.รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ (mobile advertising unit) 2.รถสาธิตและตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (mobile check up unit) 3.รถนิทรรศการและให้ความรู้โรคมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (mobile learning exhibition unit) และ 4.รถตรวจเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่แบบประสิทธิภาพสูง (mammogram)”

“ตลอดระยะเวลาในการให้บริการที่ผ่านมาในเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จำนวน 5 หน่วย หน่วยละ 40 ล้านบาท จำนวน 5 ชุด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 200 ล้านบาท แต่ละหน่วยประกอบด้วยรถให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์พร้อมอุปกรณ์ รถนิทรรศการเคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ รถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ ส่วนค่าดำเนินการปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งระยะเวลา 5 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 50 ล้านบาท รวมเงินทั้งสิ้น 250 ล้านบาท”

“นพ.ปรีดา วรหาร” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวว่า สถิติที่ผ่านมาจังหวัดเลยพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปีละ 100 ราย พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยเหล่านี้มารักษาในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งทำให้การรักษาค่อนข้างยาก และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งจากเดิมการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมปกติมีค่าตรวจ 2,500 บาท อีกทั้งยังต้องเดินทางไปตรวจที่ต่างจังหวัด ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และใช้เวลานานในการเดินทาง

“ดังนั้น การนำกลุ่มเสี่ยงมาตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมจึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะแรกได้ และนำสู่กระบวนการรักษาได้ทัน โดยในระบบปกติที่ดำเนินการจะมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำเรื่องการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง เมื่อตรวจแล้วหากมีอาการผิดปกติจะส่งมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอ ก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลจังหวัดต่อไป”

“และจากเดิมระบบการตรวจอาจจะต้องใช้ระยะเวลานัด ซึ่งใน 1 วัน ไม่สามารถที่จะตรวจผู้ป่วยได้จำนวนมาก ทำให้มีความล่าช้าในการให้บริการ เมื่อมีมูลนิธิเข้ามา จึงเป็นโอกาสที่ทำให้พวกเราสามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ที่มารับบริการตรวจได้จำนวนเยอะขึ้น เพราะปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมักพบในหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่”

“แต่กระนั้นก็มีวิธีการป้องกันด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานผัก และผลไม้มากขึ้น ลดอาหารไขมัน ซึ่งการคัดกรองที่ดีที่สุดคือการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง และการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม หรือที่บางคนเรียกว่าเครื่องแมมโมแกรม ดังนั้น ต่อจากนี้การดำเนินโครงการคือการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ว่ากลุ่มบุคคลไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มอาการไหนที่ควรจะมารับบริการต่อ ถ้ามีรายที่จำเป็นหรือเร่งด่วนเราจะส่งต่อตามระบบ หรือในรายที่ช่วงมูลนิธิเข้ามาพอดีเราจะรับผู้ป่วยไว้เพื่อรับบริการ”

จึงนับเป็นโครงการด้านสาธารณสุข อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สามารถช่วยสตรีกลุ่มเสี่ยง และด้อยโอกาสในเขตทุรกันดาร จนทำให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งล้วนเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้