ซีเอสอาร์ “คิง เพาเวอร์” พลังคนไทยสุขา สุขใจเมืองเชียงคาน

“ผมว่าคำว่า Thai Power มันชัดเจน ถ้าเราเอาพลังของคนไทยมารวมกัน แล้วก็ทำในสิ่งที่ดีให้กับสังคม ช่วยกันพัฒนาประเทศ ผมว่าสิ่งดี ๆ และสิ่งที่ยิ่งใหญ่ จะเกิดขึ้นในประเทศไทย”

เบื้องต้นคือคำกล่าวของ “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท คิง เพาเวอร์ ที่ไม่ได้มองแต่เฉพาะภาพของธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว หากเขายังมองถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ผลเช่นนี้ จึงทำให้เกิดโครงการ King Power Thai Power ทั้งหมด 4 ด้านด้วยกัน คือ sport power, music power, education & health power และ community โดยเฉพาะกับ “community” หรือ “ชุมชน” เพราะในส่วนนี้ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับการผลักดันสินค้าระดับชุมชนเพื่อส่งออกสู่ตลาดระดับโลก หากในส่วนนี้ยังเกี่ยวข้องกับโครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สุขา สุขใจ” อีกด้วยเพียงแต่ช่วงผ่านมาโครงการ

“คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สุขา สุขใจ” มีการส่งมอบห้องน้ำให้กับชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวไปแล้วทั้งหมด 4 แห่ง อาทิ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, สวนสาธารณะทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี, สวนสาธารณะศรีเมือง จังหวัดน่าน และวัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.หนองคาย

กระทั่งไม่นานผ่านมาโครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สุขา สุขใจ” มีการส่งมอบห้องน้ำแห่งที่ 5 ให้กับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 246 อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งไม่เพียงเป็นการส่งมอบบนความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภาพลักษณ์การท่องเที่ยว หากยังนำการออกแบบห้องน้ำในลักษณะสากล “universal design” มาประยุกต์ใช้เพื่อรองรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ และสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กอ่อนภายในห้องน้ำอีกด้วย

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การที่บ้านเรามีห้องน้ำมาตรฐานระดับสากลไม่เพียงช่วยทำให้การท่องเที่ยวในเมืองรอง และเมืองหลักมีภาพลักษณ์ดีขึ้น หากยังทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งผมในฐานะอดีตประธานบอร์ดองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ที่ดูแลเกือบ ๆ ทุกพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงจังหวัดเลย จึงรู้สึกว่าเมืองเชียงคานมีเสน่ห์

“ดังนั้น การที่เราจะเติมห้องน้ำในระดับมาตรฐานสากลเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะพื้นที่ของกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 246 อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวชอบมากางเต็นท์นอน โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ผมจึงคิดว่าการที่คิง เพาเวอร์ ทำโครงการคิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สุขา สุขใจ เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ และผ่านมาคิง เพาเวอร์ส่งมอบห้องน้ำไปแล้วทั้งหมด 4 แห่ง ใน 4 จังหวัด สำหรับที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 246 เป็นแห่งที่ 5 โดยมีเป้าหมายที่จะส่งมอบห้องน้ำในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด 10 แห่งด้วยกัน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 10 ล้านบาท”

“ผมจึงมองว่าโครงการนี้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะนอกจากจะแบ่งห้องน้ำชาย-หญิง โดยห้องน้ำส่วนของผู้หญิงจะมากกว่าผู้ชาย 1 เท่า ยังมีห้องน้ำสำหรับผู้พิการ พร้อมทางลาดเพื่อให้ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุใช้บริการห้องน้ำสะดวกสบาย เพราะถูกออกแบบให้มีผู้ช่วยสามารถเข้าไปอยู่ในห้องน้ำอีกคนหนึ่งได้ สำคัญกว่านั้น ภายในห้องน้ำยังมีราวจับ และมีปุ่มสัญญาณช่วยเหลืออยู่ภายในห้องน้ำด้วย ฉะนั้น หากเกิดอุบัติเหตุใด ๆ กับผู้สูงอายุ หรือผู้พิการก็สามารถกดปุ่มขอความช่วยเหลือได้ทันที”

“ที่สำคัญ หลังจากส่งมอบห้องน้ำให้กับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 246 แล้ว แม่บ้านตำรวจจะเป็นคอยดูแลห้องน้ำเหล่านี้ให้มีสภาพพร้อมใช้ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหัวใจของการทำโครงการ เพราะหากส่งมอบห้องน้ำเสร็จแล้วไม่มีคนดูแล ห้องน้ำจะสกปรก คนก็ไม่อยากเข้า แต่สำหรับที่นี่เขามีการบริหารจัดการค่อนข้างดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว การบริการ รวมถึงการไม่คิดค่าบริการใด ๆ สำหรับการใช้ห้องน้ำแต่ละครั้งด้วย”

“นิพนธ์ รักศรีอักษร” รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด กลุ่ม บริษัท คิง เพาเวอร์ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เป็น 1 ใน 4 ของโครงการคิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ โดยเฉพาะเรื่องชุมชนที่เราผุดโครงการคิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สุขา สุขใจ ขึ้นมา

“ผ่านมาเราส่งมอบห้องน้ำไปแล้วทั้งหมด 4 แห่ง ใน 4 จังหวัด สำหรับที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 246 เป็นแห่งที่ 5 เพราะพื้นที่ตรงนี้อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวของ อ.เชียงคาน จ.เลย ที่มีนักท่องเที่ยวมากันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ส่วนอีก 5 แห่งที่เหลือตอนนี้ทางทีมงานกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะไปส่งมอบห้องน้ำให้ที่พื้นที่ท่องเที่ยวตรงไหนบ้าง แต่เชื่อว่าภายในปีนี้ หรือต้นปีหน้าคงจะส่งมอบส่วนที่เหลือได้ทั้งหมด”

“ฉะนั้น หากมองเรื่องความยั่งยืนของการดำเนินโครงการ ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นคงมาจากแนวความคิดของคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา กระทั่งต่อเนื่องมาจนถึงคุณอัยยวัฒน์ที่มองเห็นเรื่องการดำเนินงานทางด้าน CSR โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะหากประชาชนไม่เข้ามามีส่วนร่วม หรือเข้ามาดูแลต่อ การดำเนินโครงการใด ๆ ก็จะไม่มีความยั่งยืน ยิ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมาใช้บริการกันมากด้วย โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว จึงคาดว่าห้องน้ำที่เราส่งมอบให้กับทางกองร้อยคงจะมีประโยชน์อย่างมาก”

“พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ โพธิ์ศรีมา” ผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 246 อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวเสริมว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นสนามฟุตบอล และเป็นจุดกางเต็นท์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีนักท่องเที่ยวมากางเต็นท์นอน 200-300 หลัง/วัน หรือราว ๆ เกือบ 1,000 คน/วัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี

“เพียงแต่ที่ผ่านมาห้องน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ภายในอาคารสำนักงาน ซึ่งไม่เพียงพอต่อปริมาณของนักท่องเที่ยว เพราะรอบ ๆ อำเภอเชียงคาน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม เกสต์เฮาส์ โฮสเทล จะเต็มหมด นักท่องเที่ยวจึงไหลออกมากางเต็นท์นอนกัน เพราะเมืองเชียงคานเป็นเมืองเล็ก ๆ ติดแม่น้ำโขง ทั้งยังเป็นเมืองศิลปวัฒนธรรม และมีกิจกรรมให้ทำหลายอย่าง นักท่องเที่ยวจึงอยากจะมาสัมผัสชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่นี่สักครั้ง”

“ซึ่งพอเราทราบว่าคิง เพาเวอร์ มีโครงการคิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สุขา สุขใจ เราจึงเสนอโครงการเข้าไปเพื่อให้เขาพิจารณา ปรากฏว่าได้ ซึ่งทำให้ทีมงานทุกคนดีใจมาก เพราะอย่างน้อยห้องน้ำแห่งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับนักท่องเที่ยวได้บ้าง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ ผู้พิการ และสตรี เพราะห้องน้ำของโครงการถูกออกแบบตามมาตรฐานสากลทุกอย่าง”

“โดยเราจะใช้ทีมแม่บ้านตำรวจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำความสะอาด ด้วยการจัดตารางเวร เพื่อให้ห้องน้ำอยู่คู่กับแหล่งท่องเที่ยวต่อไป ส่วนในช่วงที่เป็นโลว์ซีซั่น เราจะเปิดให้บริการเหมือนเดิม เพราะที่กองร้อยอยู่ติดกับแม่น้ำโขง และเลนจักรยาน ทั้งยังอยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในอำเภอเชียงคาน พวกเขาจะได้เข้ามาใช้บริการได้ เพราะที่นี่จะไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งในส่วนของการบริการห้องน้ำ หรือจุดกางเต็นท์นอน เพราะเราต้องการให้บริการประชาชนจริง ๆ”


อันเป็นการตอบโจทย์เรื่องการส่งมอบห้องน้ำโดยให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง