เรียนรู้ผักพื้นบ้าน

เรียนรู้ผักพื้นบ้าน

คอลัมน์ CSR Talk

ซัมซุงสานต่อวิสัยทัศน์โครงการเพื่อสังคมด้านการศึกษา “Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ผ่านแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ผ่านนวัตกรรม และกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ โดยสนับสนุนให้เยาวชนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นำเยาวชนร่วมโครงการเรียนรู้ผักพื้นบ้าน ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างสรรค์เมนูใหม่จากวัตถุดิบในชุมชนโรงเรียนขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน เป็นหนึ่งในโรงเรียนในโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต

โครงการเพื่อสังคมของ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2556 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างแรงบันดาลใจ เปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งให้โอกาสในการค้นหาศักยภาพตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่โลกอนาคต รวมถึงแบ่งปันการค้นพบของตนกับชุมชนและสังคมที่อาศัยอยู่ส้มปี้, มะหนามโก๊ง, ผักกูด, ผักหนอก, เต่าร้าง, มะกอกป่า ซึ่งผักพื้นบ้านเหล่านี้ถึงแม้จะสามารถนำมาประกอบอาหารได้ แต่น้อยคนนักที่จะเคยลิ้มลอง เด็ก ๆ โรงเรียนขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน ก็เช่นกัน พวกเขาไม่คุ้นเคย และไม่รู้ว่าผักหลายชนิดที่พบเห็นในพื้นที่สามารถนำมารับประทานได้

“วัชรชัย ทะสม” หรือ “ครูเชเช่” ครูที่ปรึกษาโครงการ Samsung Smart Learning Center โรงเรียนขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน เล่าถึงโครงงานการเรียนรู้เรื่องผักพื้นบ้านว่า วัตถุประสงค์หลักของการนำกิจกรรมนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนแห่งอนาคตก็เพื่ออยากให้เด็ก ๆ ได้นำผักพื้นบ้านที่ปลอดสาร และมีอยู่แล้วในพื้นที่ชุมชนโดยไม่ต้องซื้อหามารับประทาน

“ที่สำคัญ ยังเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาเรื่องพืชพรรณ และอาหารท้องถิ่น รวมทั้งสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ ๆ ขึ้นจากวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในชุมชน โดยได้เริ่มจากชักชวนให้เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในซัมซุงดิสคัฟเวอรี่คลับ จำนวน 30 คน เข้าร่วมโครงการนี้”

“ส่วนกระบวนการเรียนรู้เริ่มต้นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว เริ่มโดยครูให้เด็กแบ่งกลุ่มพากันไปเดินตลาด ทำความรู้จักผักพื้นบ้านที่มีวางขาย และให้เลือกผักพื้นบ้านมากลุ่มละชนิด พอเลือกเสร็จ
ขั้นต่อไปก็ให้เด็ก ๆ ระดมสมองกันว่าผักที่เลือกมานี้ทำเป็นอาหารท้องถิ่นอะไรได้บ้าง เราอยากให้เด็กรู้จักผักในแหล่งที่อยู่ในธรรมชาติของมัน จึงพาเด็กไปหาวัตถุดิบจากแหล่งจริง ๆ”

“จากวัตถุดิบ การเรียนรู้เดินทางมาสู่ขั้นตอนการปรุง” ในขั้นตอนนี้ ครูมีโจทย์ให้ว่าอาหารท้องถิ่นต้องให้วิทยากรท้องถิ่นเป็นคนสอนให้ทำ อยากให้เด็ก ๆ ได้กลับไปถามพ่อแม่ คนแก่คนเฒ่า ในชุมชนของเขา คุยกันเรื่องอาหารจานดั้งเดิมว่าเคยทำกินกันแบบไหน ใช้อะไรเป็นเครื่องปรุง ระหว่างทางของการเรียนรู้ เด็ก ๆ ชิมรสผักพื้นบ้าน มีความขมฝาด รสชาติที่ไม่คุ้นเคยทำให้เด็ก ๆ สรุปได้ว่าไม่อร่อย ทำให้เกิดโจทย์ใหม่ที่ครูท้าทายลูกศิษย์ให้สร้างสรรค์อาหารสูตรใหม่ในรสชาติที่เด็ก ๆ อยากทานและเป็นอาหารนานาชาติเพื่อชวนให้เด็ก ๆ ตื่นเต้นสร้างสรรค์อาหารที่แตกต่าง”

ตลอดระยะเวลา 10 เดือน เด็ก ๆ ไม่เพียงได้ร่วมกันค้นคิดสูตรอาหาร, ทดลองปรุง, ชิม, ปรับสูตร จนกว่าจะได้สูตรอาหารจานใหม่ที่มีผักพื้นบ้านรสชาติที่โดนใจทั้งตัวเอง และเพื่อน ๆ หากยังทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจกับผักพื้นบ้านเหล่านี้ด้วย

“กรกฏ ลีภาคภูมิพานิชย์” นักเรียนชั้น ม.2 บอกว่าสนุกดีครับ ผมไม่เคยกินผักส้มปี้มาก่อน แต่พอต้องมาทำโครงงาน แล้วคิดเมนูก็ต้องชิม ตอนแรกเราทำยำส้มปี้ก่อน มันขม ๆ ครับ ผมไม่ค่อยชอบ แต่พอต้องทำเมนูของตัวเอง เป็นส้มปี้โรล ผมว่ารสชาติใช้ได้ และกินได้มากกว่าเดิม เมื่อเวลาการทำโครงงานสิ้นสุดลง ผลงานของนักเรียนได้ถูกจัดแสดงพร้อมกิจกรรมโชว์ปรุงอาหารจานเด็ดจากผักพื้นบ้าน ในงานมหกรรมสุขภาวะ อำเภอขุนยวม ประจำปี 2562 ณ วัดม่วยต่อ จนสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนที่มาร่วมงาน ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่า ผักป่าพื้นบ้านจะแปลงเป็นอาหารจานอินเตอร์ที่เร้าใจอย่าง ทาโกะยากิผักกูด, ผักหนอกอบชีส, ไข่กระทะผักเต่าร้าง, สเต๊กซอสมะกอกป่า, สลัดโรลส้มปี้ และข้าวผัดอเมริกันมะหนามโก๊ง

ความสำเร็จไม่ใช่เพียงตำรับอาหารผักพื้นบ้านจานนานาชาติ ที่เด็ก ๆ ลงมือปรุง ชิม คิดปรับสูตรมาอย่างเข้มข้น หรือผู้ปกครองในชุมชนที่แวะมาชิมผลงานเด็ก ๆ ด้วยความตื่นเต้น สิ่งสำคัญ คือ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็ก ๆ เข้าไปสำรวจทุนชีวิตที่มีอยู่ใกล้ตัว ได้แก่ ผักพื้นบ้าน ความรู้ดั้งเดิม และความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อปรับให้ของเดิม เช่น ผักพื้นบ้าน เพิ่มคุณค่าและกลับมาอยู่ในชีวิตคนรุ่นใหม่อีกครั้ง