คิดแบบคน “ช็อปปี้” ธุรกิจสตาร์ตอัพชาวมิลเลนเนียล

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “สตาร์ตอัพ” กำลังกลายเป็นคำที่หลาย ๆ คนพูดถึง ทั้งยังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่กระนั้น ยังมีอีกหลายคนไม่ทราบว่า “สตาร์ตอัพ” คืออะไร ? มีที่มาที่ไปอย่างไร ?

เพราะ “สตาร์ตอัพ” คือบริษัทตั้งใหม่ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ และมีแนวความคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มีน้อย หรือยังไม่มีอยู่ในตลาด โดยมีรูปแบบการทำธุรกิจทันสมัย ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน โดยเน้นความคล่องตัว และสนับสนุนแนวความคิดที่แปลกใหม่ ในการสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์

กล่าวกันว่า กุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจแบบสตาร์ตอัพก้าวไปไกลหรือไม่ คือ กำลังคน และทีมงานซึ่งพนักงานของบริษัทสตาร์ตอัพส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มคนมิลเลนเนียล ซึ่งถือเป็นขุมกำลังสำคัญ เนื่องจากมีศักยภาพในการผลักดันสตาร์ตอัพไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

ซึ่งเหมือนกับ ช็อปปี้ (Shopee) สตาร์ตอัพดาวรุ่งที่มีทีมงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมิลเลนเนียลทั้งสิ้น

“เทเรนซ์ แพง” ประธานฝ่ายปฏิบัติการช็อปปี้กล่าวว่า ช็อปปี้เป็นสตาร์ตอัพดาวรุ่ง และเป็นออนไลน์ช้อปปิ้งแพลตฟอร์มที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ผ่านมา แต่ธุรกิจของช้อปปี้เติบโตอย่างน่าสนใจ เพราะทีมงานมีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพ

“ปัจจุบันเรามีพนักงานกว่า 250 คนในประเทศไทย ส่วนใหญ่กลุ่มคนมิลเลนเนียลเป็นกำลังหลักของทีม เราจึงต้องมีเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับการสร้างสตาร์ตอัพมือใหม่ เพื่อพัฒนาพวกเขาให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวให้ไว ตามให้ทัน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เปิดกว้างทั้งในเรื่องของแนวคิด และวิธีการ พวกเขาจึงต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ”

“ขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมในการทำงานจะต้องมีความยืดหยุ่น เพราะการทำงานของคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายเป็นหลัก และเมื่อตั้งเป้าหมายแล้ว พวกเขาอยากบรรลุเป้าหมายให้เร็วที่สุด ดังนั้น ชาวมิลเลนเนียลจะต้องมีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลา เพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

“สภาพแวดล้อมในการทำงานควรให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และยืดหยุ่น จนทำให้เกิดการออกแบบ และตกแต่งออฟฟิศให้ตรงกับลักษณะนิสัย และความต้องการของชาวมิลเลนเนียล”

นอกจากนั้น “เทเรนซ์ แพง” ยังมองถึงเรื่องการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงผู้บริหาร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวมิลเลนเนียลต้องการเช่นกัน เนื่องจากพวกเขามองว่าการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยประหยัดเวลา และทำให้งานเสร็จลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็ว

“นอกจากนี้ กลุ่มคนมิลเลนเนียลยังชอบแสดงความคิดเห็น รวมถึงการเสนอไอเดียแปลกใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ และความสามารถผ่านความคิด และข้อคิดเห็นต่าง ๆ อย่างเต็มที่ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บริษัทไม่ควรมองข้าม ทั้งยังจะต้องถามมา-ตอบกลับ อย่างรวดเร็วด้วย”

“เพราะคนกลุ่มนี้คาดหวังที่จะได้ฟีดแบ็กอย่างรวดเร็วทั้งจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนำไปปรับปรุง พัฒนา หรือสานต่องานนั้น ๆ ให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว รวมถึงการเตรียมความพร้อมต่อการให้คำแนะนำของหัวหน้า การปรึกษาหารือระหว่างผู้ร่วมงานกันเอง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาได้พัฒนางานดียิ่งขึ้น”

“อีกเรื่องหนึ่งคือการลดกำแพงระหว่างกัน เพราะกลุ่มคนมิลเลนเนียลชอบพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ทั้งจากเพื่อนร่วมงาน และผู้บริหาร ดังนั้น สิ่งที่สตาร์ตอัพควรทำคือการลดระบบตามลำดับขั้น (Hierarchy) ภายในสถานที่ทำงาน เพื่อลดช่องว่างของคำว่าเจ้านาย และลูกน้อง เพื่อให้ทุกคนในบริษัทเกิดความรู้สึกว่าสามารถคุยกับใครก็ได้ โดยไม่มีกำแพงของตำแหน่งเป็นข้อจำกัด”

แต่กระนั้น ในเรื่องของการเพิ่มทักษะก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเช่นกันสำหรับกลุ่มคนมิลเลนเนียล โดยเรื่องนี้ “เทเรนซ์ แพง” บอกว่าคนเหล่านี้กระหายความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น การจัดเทรนนิ่งเป็นประจำ เพื่อฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ ให้พวกเขาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน

“ช็อปปี้เองก็ให้ความสำคัญกับการให้การฝึกฝนที่เพียงพอกับทีมงานเช่นกัน เราจึงมีคลาสเทรนนิ่งให้กับทีมงานคนรุ่นใหม่เป็นประจำทุกเดือนในหัวข้อที่แตกต่างกันไป เพื่อช่วยพัฒนา และอัพสกิลต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นทักษะทั่วไปที่ใช้สำหรับโปรแกรม Microsoft Office ไปจนถึงสกิลเฉพาะทาง เช่น การต่อรองและการพูดคุยกับลูกค้า”

“เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนาความสามารถของชาวมิลเลนเนียลที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ ยังเป็นการสอนให้พวกเขารู้จักการลงมือทำด้วยตนเองด้วย เสมือนเป็นการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และพอมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป เขาจะจดจำในสิ่งที่ผิดพลาดได้ เพื่อนำมาปรับปรุง และพัฒนาต่อไป”

เนื่องจากค่านิยมองค์กร (Core Value) ของช็อปปี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับตัวการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงความถ่อมตน และความเสมอต้นเสมอปลาย เป็นสิ่งที่องค์กรปลูกฝังพนักงานอยู่เสมอ

จึงน่าจะทำให้บุคลากรของช็อปปี้ไม่เพียงสมาร์ตทั้งทักษะความคิด และการทำงาน ยังทำให้พวกเขาสมาร์ตต่อการดำรงตนของความเป็นกลุ่มคนมิลเลนเนียลอีกด้วย