สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ คืนชีพชุมชน

คอลัมน์ CSR talk

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

งานที่ยากที่สุดงานหนึ่งของการทำงานชุมชนคือ การจัดตั้งกลุ่ม หรือทำให้คนในชุมชนมารวมตัวกัน ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องร่วมกัน เช่น การจัดตั้งกลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มออมทรัพย์คนทำงาน CSR ที่เข้าไปทำงานกับชุมชนมักจะมีคำถามเสมอว่า ทำไมคนในชุมชนจึงไม่สนใจกิจกรรมที่นำเข้าไปทั้ง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างเห็นได้ชัดส่วนหนึ่งคือ คนที่เข้าไปทำงานยังมองภาพชนบทในอารมณ์โรแมนติกย้อนยุค ทั้ง ๆ ที่สังคมชนบทเปลี่ยนไปไกลมากแล้ว

การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมอุตสาหกรรมได้พรากความเป็นชุมชนไปจากชนบทจนหมดสิ้น แม้ว่าจะยังคงมีคนที่ทำอาชีพเกษตรกรรม หรือแม้จะมีค่านิยม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยังคงอยู่ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีบทบาทในการยึดโยงในความเป็นชุมชนอีกต่อไป

หมู่บ้านส่วนใหญ่ในชนบทมีแต่คนแก่และเด็กเล็กที่พ่อแม่เอามาให้เลี้ยง ส่วนคนวัยแรงงานก็ไปทำงานในตัวเมืองหรือในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีฐานะหรือว่ายากจน การฟื้นฟูความเป็นชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่ควรบรรจุลงในแผนปฏิบัติการ เพราะหากความเป็นชุมชนกลับคืนมา กิจกรรมอื่น ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องมองชุมชนในมิติใหม่ ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะการฟื้นฟูชุมชนด้วยขนบธรรมเนียมเก่า ๆ อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปในสายธุรกิจเองก็เริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชน เพื่อสื่อสารแบรนด์และสร้างความผูกพันกับแบรนด์ ในหนังสือ “The Power of Community” ซึ่งเขียนโดย Howard Partridge โค้ชด้านการสร้างทักษะผู้นำ แนะนำ 3 ขั้นตอน

ในการสร้างชุมชนคือ สร้างความผูกพัน ให้การเรียนรู้ และเสริมความสุข (engage, educate, entertain) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูความเป็นชุมชนได้เช่นกัน การสร้างความผูกพันคือ การใช้กิจกรรมที่ตอบโจทย์ชุมชนเป็นจุดตั้งต้น Saemaul Undong โมเดลการพัฒนาชนบทของเกาหลีใต้ในสมัย ปาร์ค จุง ฮี ใช้การแจกถุงซีเมนต์เข้าไปในหมู่บ้านแล้วให้ชุมชนร่วมกันตัดสินใจว่าจะใช้ซีเมนต์นั้นไปทำอะไร

โดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น ด้วยนโยบาย “อย่าปล่อยให้ชุมชนล้มเหลว” ความสำเร็จเล็ก ๆ ในแต่ละชุมชนต่อยอดไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่คือ การพัฒนาเศรษฐกิจในชนบทได้อย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาอันสั้น ความผูกพันในมิติใหม่จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความเชื่อ ขนบประเพณีหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น เพราะในบางพื้นที่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเหนี่ยวรั้งความเป็นชุมชนกลับมาได้อีก การแก้ปัญหา สร้างความสำเร็จร่วมกันจะเป็นมิติใหม่ของการสร้างความผูกพันในชุมชน

ขั้นตอนที่ 2 ให้การเรียนรู้ เพื่อสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกล้าที่จะท้าทายกับสิ่งใหม่ ๆ โดยการเปิดโลกทัศน์คนในชุมชนออกไป เช่น ชุมชนแห่งหนึ่งมีอาชีพแกะเนื้อหอยนางรมขาย ถ้าถามว่าสิ่งที่อยากได้คืออะไร คำตอบก็คือตลาดรับซื้อเนื้อหอยนางรม ความคาดหวังก็คือ อยากส่งโรงงานที่ทำซอสหอยนางรม

ซึ่งในความเป็นจริงหากแกะส่งโรงงานดังกล่าว จะได้ราคาที่ต่ำมาก และเกรดที่รับซื้อก็ไม่ใช่ที่ชุมชนแกะขาย ความท้าทายคือ หากชุมชนสามารถทำซอสหอยนางรมเกรดพรีเมี่ยมได้เหมือนที่ขายในฮ่องกง ก็จะทำให้เนื้อหอยนางรมมีมูลค่าสูงขึ้น สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นโครงการต่าง ๆ ที่คิดขึ้นมาต้องหาข้อมูลให้รอบคอบ พร้อมกับมองหาโอกาสที่มีความท้าทายเป็นตัวเลือกด้วย

สุดท้าย เสริมความสุข ไม่ได้หมายถึงการป้อนความบันเทิง แต่ต้องหากิจกรรมที่ทำให้คนในชุมชนรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และถ้ามีโอกาสก็ไปช่วยเหลือชุมชนอื่นที่มีความเดือดร้อน เช่น ในช่วงเวลาที่มีปัญหาการไล่ที่ของชุมชนแออัดในเมือง การรวมกลุ่มให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือการสร้างเครือข่ายชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนในปัญหาอย่างเดียวกัน เป็นแรงเสริมที่ทำให้กลุ่มมีความเหนียวแน่นมากขึ้น และเติบโตตามลำดับ

แม้รากฐานของการเป็นชุมชนจะสั่นคลอนจากการเปลี่ยนแปลง แต่การสร้างสังคมที่ดียังต้องการพลังกลุ่มที่เหนียวแน่น มีเป้าหมายร่วม การฟื้นชุมชนในบริบทใหม่อาจไม่มีความแตกต่างจากการขับเคลื่อนความสำเร็จขององค์กรธุรกิจ

เป้าหมายร่วมคือ ผลประโยชน์ที่ทุกคนต้องการ มีความเท่าเทียม ผลประโยชน์นั้นจะต้องสร้างความยั่งยืนให้กับชีวิตในอนาคตด้วย เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการหยิบยื่นผลประโยชน์ชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อล่อใจให้คนมารวมกลุ่มนั้นจะไม่เห็นพลังกลุ่มในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามแต่อย่างใดเลย