“สเปซเซส” ช่วยผู้ป่วยมะเร็ง ให้พื้นที่ทำกิจกรรมหารายได้

สเปซเซสเดินหน้าช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง ใช้พื้นที่เยียวยาสร้างกำลังใจ โดยร่วมกับ อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ หวังจับมือภาคเอกชนจัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ป่วย กระทุ้งภาครัฐช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยารักษาอย่างเท่าเทียม เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ สเปซเซส (SPACES) โคเวิร์กกิ้ง ในพื้นที่ สเปซเซส เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ร่วมมือกับ อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ (Art for Cancer) ในโครงการเติมพลังใจให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งด้วยผลงานศิลปะบำบัด

“ลาส์ วิททิก” รองประธานฝ่ายขายประจำภูมิภาคอาเซียนของ IWG กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการพื้นที่สำนักงานชั้นนำระดับโลก ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานไปพร้อมกับการดูแลสังคม พร้อมทั้งสื่อสารไปยังสังคมถึงธุรกิจการให้บริการพื้นที่สำนักงานชั้นนำ จึงเกิดความร่วมมือในโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยสร้างสรรค์กิจกรรมให้กับสังคม เพิ่มคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ให้กับผู้ป่วย ในกิจกรรมดังกล่าวได้มอบถุงผ้าที่มีการออกแบบพิเศษเพื่อส่งต่อให้ผู้ป่วย

“พื้นที่อเนกประสงค์ของสเปซเซสไม่ได้รองรับเฉพาะการทำงานเท่านั้น แต่ยังสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ อย่างเช่น จัดประชุมย่อย หรือทำเวิร์กช็อปด้วย ที่สำคัญขณะนี้แบรนด์ของเรากำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไทย สเปซเซสจึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

“ไอรีล ไตรสารศรี” ผู้ก่อตั้งโครงการอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ เปิดเผยว่า จากสถิติผู้เสียชีวิตในประเทศส่วนใหญ่ คือ โรคมะเร็ง จึงได้จัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ให้กำลังใจและส่งเสริมคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งจัดหาทุนทรัพย์ผ่านผลงานศิลปะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสเปซเซสในการให้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น โครงการดังกล่าวไม่ได้เน้นไปที่เงินบริจาคเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความร่วมมือกับ 3 มูลนิธิของโรงพยาบาลรัฐ คือ ศิริราชมูลนิธิ, มูลนิธิรามาธิบดี และมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา
รูปแบบ CSV จัดตั้งบริษัทที่เป็นองค์กรเพื่อสังคมเพื่อให้มีความยั่งยืน เป็นการร่วมมือของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเข้ามาช่วยกัน เพื่อหารายได้มาทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งอีกด้วย

สำหรับ 3 กองทุนที่มีอยู่แต่ละโรงพยาบาลจะเป็นผู้บริหารเงินเพื่อนำไปใช้ช่วยผู้ป่วย แต่ในส่วนของการจัดตั้งบริษัทขึ้นมานั้นก็จะต้องดำเนินการในแบบ business model ด้วยการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นเอง ร่วมกับสินค้าอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมะเร็งต้องใช้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่น กล่องพลังใจที่เป็นกิฟต์เซตไมนด์ เทอราปีบอกซ์ เป็นสินค้าที่ใช้บำบัดก่อนที่จะเข้ารักษาด้วยวิธีการคีโม เทอราปี พร้อมทั้งการฉายแสง และปากกาบวกสมุดบันทึกการรักษาของผู้ป่วยมะเร็ง และสอดแทรกกำลังใจไว้ในสินค้าขององค์กรของเราที่อยากจะมอบให้ผู้ป่วย

“ต้องหาความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เพิ่มเติม เพื่อร่วมกันสนับสนุนโครงการ เพราะสินค้าของเราบางอย่างก็ผลิตร่วมกันกับผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากนี้ ยังได้หารือกับสเปซเซสเพื่อจัดหาที่ในการทำกิจกรรมของเรา เพราะเราไม่มีหน้าบ้านตัวเอง และสนับสนุนให้เราใช้พื้นที่ได้ฟรีเพื่อจัดกิจกรรมให้คนทั่วไป รวมถึงผู้ป่วยได้อีกด้วย การช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นต้องทำให้ยั่งยืนและยืนได้ด้วยขาของตัวเอง เพราะวิธีเดิม ๆ อาจจะวัดผลไม่ได้ว่าผู้ป่วยหรือผู้ที่พร้อมสนับสนุนผลออกมาจะเป็นอย่างไร การทำโปรเจ็กต์ควรมีความยั่งยืนมากขึ้น แชร์คุณค่าร่วมกันระหว่างเราและผู้สนับสนุน”

“ไอรีล” บอกอีกว่า ยังมีผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่ายาที่มีราคาสูงมาก ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยให้สามารถเข้าถึงการใช้ยามากขึ้นด้วยการให้ยาอยู่ในบัญชีหลัก อาจจะมีงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนให้กับผู้ป่วยมะเร็ง เพราะโรคนี้กลายเป็นสาเหตุของการตายในระดับต้น ๆ ของประชากร

“ไอรีลเองก็อยู่ในระหว่างรักษาโรคมะเร็งเต้านม มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 110,000 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการรักษา อย่างเช่น การให้คีโม เท่ากับว่าผู้ป่วยมะเร็งจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีเงินพอจะเข้าถึงยา ภาครัฐก็ควรมีนโยบายออกมาช่วยเหลืออย่างจริงจัง”