สิ่งดี ๆ กำลังจะเกิดที่ “น่าน”

ดร.วิจารย์ สิมาฉาย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานสัมมนารักษ์ป่าน่าน ครั้ง 4 ในหัวข้อ “สิ่งดีดีกำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน” ว่า สิ่งดีดีที่กำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน แบ่ง 5 เรื่องสำคัญ คือ

หนึ่ง สิทธิที่ทำกินในเขตป่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าจะมีสิทธิทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร ขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับป่าไม้ ทั้ง พ.ร.บ.ป่าไม้, พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

หลักการคือ ทำให้กฎหมายที่มีอยู่เดิมนั้นสามารถทำให้คนอยู่ร่วมพื้นที่ป่าได้ โดยเฉพาะการอยู่แบบเกื้อกูลกัน ดูแลระบบนิเวศไปพร้อมกัน

สอง ความสมดุลของระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์ที่ดินเหมาะสม ด้วยการทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างสมดุล และใช้ประโยชน์โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการทำระบบพื้นที่ป่าไม้ (zoning) โดยต้องมีการแบ่งพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน หลายพื้นที่มีความชัดเจนแล้ว แต่หลายพื้นที่ยังต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ

สาม การปลดล็อกการตัดไม้หวงห้ามและไม้หายาก และไม้ยืนต้น ตลอดจนหลักประกันเงินกู้รูปแบบใหม่ ที่ผ่านมารัฐได้มีการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่า ทั้งไม้สัก ไม้พะยูง และอื่น ๆ ซึ่งปลูกแล้วตัดไม่ได้ ตรงนี้จึงมีการแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะ ม.7 ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 ให้ไม้ที่เกิดขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง ทั้งไม้มีค่า ไม้หายาก ไม่ได้เป็นไม่หวงห้ามสามารถตัดได้ รวมถึงที่ดินที่รัฐจัดให้

สี่ การสนับสนุนให้ชาวบ้านดูแลป่าชุมชนและใช้ประโยชน์ โดย พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่กำลังจะออกมา ได้มีส่งเสริมให้คนอยู่กับป่า ด้วยการแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ใช้ประโยชน์ ซึ่งชาวบ้านสามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นดูแลการใช้ประโยชน์จากป่าได้ ด้วยแนวทางอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน จ.น่านได้ดำเนินการป่าชุมชนไปแล้ว 381 แห่ง มีพื้นที่ทั้งหมด 2.3 แสนไร่

และ ห้า การส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่สูง โดยตอนนี้ได้มีการทำงานร่วมกับคุณบัณฑูร ในการขับเคลื่อนการทำเกษตรที่ปลูกบนพื้นที่สูง

โดยใช้พื้นที่น้อย แต่รายได้สูง อย่างโครงการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรือปลูกป่าเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ที่ “กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ได้มีพระราชดำริ ซึ่งมีหลายพื้นที่ทำได้และประสบความสำเร็จ ตรงนี้จะทำอย่างไรให้เกิดการถอดบทเรียน และขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ จ.น่าน

ถึงตรงนี้ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่ภาครัฐได้ประเมินปัญหา โดยฟังเสียงประชาชน และหามาตรการที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของปัญหาในพื้นที่ จ.น่าน ทำให้ความรู้สึกในการทำงานร่วมกันดีขึ้น มองเห็นทิศทางที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน ตรงนี้ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกัน

ทั้งนั้น สิ่งที่ได้พูดหลังจากการสัมมนาครั้งที่ผ่านมา คือ ต้องมีการเรียนรู้ความรู้ใหม่ ๆ ร่วมกันในทุกภาคส่วนถึงจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังต้องส่งต่อองค์ความรู้ต่าง ๆ จากการทำงานไปสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป ตรงนี้ถือเป็นพระราชดำริของ “กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ตั้งแต่แรกเริ่มโครงการจึงจะทำให้เรื่องรักษ์ป่าน่านมีผลยั่งยืนต่อไปในอนาคต