ซีเอสอาร์ “กลุ่มเซ็นทรัล” ลดขยะ-ปรับภูมิทัศน์-ฟื้นฟูผืนป่า

ทุกคนต่างคุ้นเคยกับเซ็นทรัลดีว่าเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และการให้บริการอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงในการทำธุรกิจตอบโจทย์ลูกค้า แต่ไม่เพียงในเรื่องการพัฒนาด้านธุรกิจเท่านั้น กลุ่มเซ็นทรัลยังให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม โดยทุก ๆ ปีจะมีการพัฒนาแผนดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางสังคมระดับประเทศและระดับโลก

จากช่วงเริ่มต้นกลุ่มเซ็นทรัลดำเนินภารกิจด้านสังคมภายใต้แนวทาง CSR : corporate social responsibility ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ขยายขอบเขตความรับผิดชอบต่อสังคมลึกมากขึ้น โดยใช้แนวทาง CSV : creating shared value หรือการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับตัวเข้าสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

สำหรับในปี 2562 ก็เช่นเดียวกับทุก ๆ ปี กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาแผนและสร้างเป้าหมายต่อสังคมใหม่ โดยมุ่งขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมผ่านแคมเปญเพื่อสิ่งแวดล้อม “เซ็นทรัล กรุ๊ป เลิฟ ดิ เอิร์ธ” (Central Group Love the Earth) เน้น 3 โครงการหลัก คือ journey to zero (ลดขยะ), Central green (ปรับภูมิทัศน์)และ forest restoration (ฟื้นฟูผืนป่า)

SDGs โจทย์ตั้งต้นด้านสังคม

“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ประธานกรรมการ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด และที่ปรึกษา Central Group Sustainability กล่าวว่า ในการกำหนดแผนงานด้านสังคมของกลุ่มเซ็นทรัล ทุก ๆ ครั้งเราจะนำหัวใจของ sustainable development goals-SDGs ของสหประชาชาติมาเป็นโจทย์ บวกกับโจทย์นั้น ๆ จะต้องตอบโจทย์ความต้องการทางสังคมของประเทศไทย

“สำหรับแผนงานด้านสังคมปีนี้ตรงกับวัตถุประสงค์ขององค์การสหประชาชาติ 4 ข้อ ได้แก่ ด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13), การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (SDG 12), การพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน (SDG 11), การมีน้ำสะอาดและการมีสุขอนามัยที่ดี (SDG 6) เราจึงวางกรอบการดำเนินงาน

4 เรื่อง ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) 2.การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ (resource efficiency) 3.การบริหารจัดการขยะมูลฝอย (waste management) และ 4.การบริหารห่วงโซ่คุณค่า (value chain management)”

โดยแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 ประการข้างต้น เป็นผลมาจากการที่กรุงเทพฯติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับ 23 ของโลกในปี 2562 โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ AirVisual และหอการค้าไทย ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีการบำบัดน้ำเสียไม่ดีพอ และกรุงเทพฯมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมอีกด้วย

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษบอกว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยเฉพาะในกรุงเทพฯปี 2558 สูงถึง 27 ล้านตัน แต่มีเพียง 31% เท่านั้นที่ได้รับการจัดการขยะอย่างถูกวิธี นอกจากนั้น ในปี 2561 ประเทศไทยยังมีขยะพลาสติกเป็นจำนวนกว่า 2 ล้านตัน

“สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงต้องการร่วมแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปอย่างยั่งยืน”

พร้อมเดินหน้าลดขยะพลาสติก

“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวอธิบายถึงกิจกรรมที่ดำเนินภายใต้กรอบด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 ว่าประกอบด้วย 3 โครงการหลัก คือ การลดขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินธุรกิจ (journey to zero), ปรับภูมิทัศน์ (Central green) และฟื้นฟูผืนป่า (forest restoration)

“ในฐานะผู้ประกอบกิจการค้าปลีก เราเริ่มจากการลดใช้พลาสติกในธุรกิจของเรา โดยจัดกิจกรรม say no to plastic งดให้ถุงหูหิ้วพลาสติกสำหรับใส่สินค้าที่ร้านเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์, ท็อปส์ เดลี่ โดยขอความร่วมมือให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใช้แทนการรับถุงหูหิ้วพลาสติก พร้อมรับเดอะวันการ์ด 8 คะแนน ซึ่งเท่ากับเงิน 1 บาท ซึ่งผลตอบรับของกิจกรรมในปี 2561 สามารถลดใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 45 ล้านใบ”

“เรานำเรื่องการให้คะแนนเมื่อไม่รับถุงมาเป็นตัวจูงใจลูกค้า ซึ่งปีนี้ได้จัดกิจกรรมเพิ่มกับลูกค้าที่ไม่รับถุงจากห้างเซ็นทรัล และเซน โดยจะได้รับ 10 คะแนน และหากนำถุงผ้ามาใช้จะได้อีก 10 คะแนน แต่ที่พิเศษกว่านั้น คือ เราจะมอบ 1 คะแนให้กับมูลนิธิเซ็นทรัล ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ส่วนความคืบหน้าของกิจกรรมงดรับถุงในปี 2562 มีลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติกแล้วถึง 4.8 ล้านครั้ง (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-30 เมษายน 2562)”

“นอกจากถุงพลาสติก เรายังลดการใช้หลอดพลาสติกในร้านอาหารของเครือซีอาร์จี โดยในปี 2561 สามารถลดการใช้หลอดได้สูงถึง 13.6 ล้านหลอด ขณะเดียวกัน เราก็หาหลอดที่ทำจากข้าวโพด ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาให้ลูกค้าใช้ในท็อปส์ และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์อีกด้วย”

แบ่งปันขยะอาหารสร้างคุณค่า

นอกจากการลดปริมาณขยะพลาสติก กลุ่มเซ็นทรัลยังมองว่าขยะอาหารก็เป็นปัญหาสำคัญ สำหรับเรื่องนี้ “พิชัย” บอกว่า ทรัพยากรบนโลกควรถูกนำมาใช้อย่างมีคุณค่ามากที่สุด จึงปรับให้ร้านอาหารของโรงแรมในเครือ เช่น เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทารา วอเตอร์เกท พาวิลเลียน และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ สาขาเซ็นทรัล ชิดลม ส่งต่ออาหารที่เหลือจากการขาย, การบริโภคของพนักงานมาแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อาหารที่ยังรับประทานได้ และอาหารที่ไม่สามารถรับประทานได้

“สำหรับอาหารที่ยังรับประทานได้จะส่งต่อให้แก่เด็ก เยาวชน และผู้ขาดแคลนโอกาส โดยปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลร่วมมือกับมูลนิธิเอสโอเอส Scholar of Sustenance (SOS) สร้างมื้ออาหารได้มากกว่า 100,000 มื้อ คิดเป็นการลดปริมาณขยะอาหารได้ถึง 34 ตัน ส่วนอาหารที่ไม่สามารถทานได้ ขณะนี้กลุ่มเซ็นทรัลกำลังเจรจากับพาร์ตเนอร์เพื่อหาแนวทางในการแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพในอันดับต่อไป”

“การคัดแยกขยะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเรื่องการจัดการขยะให้มีคุณภาพ เราจึงจัดให้มีถังขยะแบบแยกตามประเภทขยะครอบคลุมทุกศูนย์การค้าในเครือ ด้วยการแยกขยะออกเป็น 4 ประเภทตามหลักสากล ได้แก่ ขยะอินทรีย์ (ถังสีเขียว), ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง), ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน), ขยะอันตราย (ถังสีแดง) โดยเรากำลังจะต่อยอดการลดปริมาณขยะมูลฝอยไปสู่การแปรรูปเพื่อสร้างประโยชน์ต่อไป”

“ตอนนี้กำลังพูดคุยกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ เช่น GEPP Sa-Ard Co., Ltd. Indorama Ventures (IVL), TPBI Public Company Ltd. เป็นต้น ทั้งยังขยายความรู้ด้านการคัดแยกขยะให้แก่โรงเรียน ชุมชน เด็กเล็ก เช่น บ้านนาทรายน้ำรอด จังหวัดอุดรธานี, บ้านโป่งแมลงวัน จังหวัดนครราชสีมา, และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย”

มุ่งสู่ Central Green ในอนาคต

โครงการ Central green เริ่มด้วยการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ 4 ตร.กม.รอบ ๆ ศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัลให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น “พิชัย” ยกตัวอย่าง การทำสวนสาธารณะ, การจัดทำเครื่องดักไขมัน และปรับสภาพน้ำในคลองข้างศูนย์การค้า ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลจัดทำโครงการแล้วทั้งหมด 31 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 70,000 ไร่ และมีแผนที่จะดำเนินงานอีก 24 สาขา รวมถึงบริเวณรอบ ๆ ร้านแฟมิลี่มาร์ทด้วย

“เรายังลดปัญหามลพิษด้วยพลังงานสะอาด ด้วยการติดตั้งแผงพลังงานโซลาร์เซลล์บนหลังคาศูนย์การค้าในเครือ ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ทั้งหมด 11 สาขา เช่น เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เพชรบุรี โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 5,800 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี”

“ดังนั้น ห้างเซ็นทรัลจึงถือเป็นห้างแรกที่ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 12 สาขา 20 จุด เช่น เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัล ชิดลม, เซ็นทรัลพลาซา ศาลายา ฯลฯ ทั้งยังมีแผนจะติดตั้งเพิ่มให้ครบทุกศูนย์การค้าในอันดับต่อไป ขณะเดียวกัน เรามีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกป่าที่บางขุนเทียนบนพื้นที่ 36 ไร่ พร้อมกับต่อยอดไปที่โครงการคุ้งบางกะเจ้า 23 ไร่”

“รวมถึงการทำโครงการสร้างอาหารยั่งยืน…ฟื้นคืนป่าน่าน เพื่อรณรงค์ปลูกป่าจำนวน 200 ไร่ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่าภูชี้เดือน ณ จังหวัดเชียงราย พื้นที่กว่า 500 ไร่ เป็นต้น”

ทั้งนั้น เพราะกลุ่มเซ็นทรัลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และมุ่งมั่นที่จะเป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและบริการนั่นเอง