บ้านน้ำทรัพย์ หมู่บ้านพึ่งตนเองยั่งยืน

คอลัมน์ตามรอยฟ้า

จากหมู่บ้านที่ต้องประสบปัญหาเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหายาเสพติด รวมถึงการอพยพของผู้คนที่เข้าไปทำงานในที่ต่าง ๆ จนทำให้ต้องมีการวางแนวทางแก้ไข และพัฒนาชุมชน ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการขับเคลื่อนชุมชน จนทำให้หมู่บ้านน้ำทรัพย์ หมู่ 9 ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบ ที่ได้รับการยอมรับ และได้รางวัลต่าง ๆ มากมายทั้งในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ

ที่สำคัญ ยังเป็นหมู่บ้านตัวอย่างของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอื่น ๆ เพื่อนำไปขยายผลต่อยอดด้วย

“ชูชาติ วรรณขำ” ผู้ใหญ่บ้าน บ้านน้ำทรัพย์ เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมบ้านน้ำทรัพย์ เป็นหมู่บ้านที่ประสบปัญหาเขาหัวโล้น เนื่องจากปัญหาการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อขยายพื้นที่การปลูกข้าวโพด รวมถึงการเข้ามาตัดไม้ทำลายป่าของคนภายนอกพื้นที่ ส่งผลทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือ ยาเสพติด เนื่องจากเยาวชนในหมู่บ้านกลายเป็นผู้เสพ ผู้ค้า รวมถึงปัญหาชาวบ้านอพยพโยกย้ายไปทำงานในที่ต่าง ๆ

จากปัญหาดังกล่าวจึงนำมาสู่การพัฒนาหมู่บ้านในปี 2540 แต่โครงการด้านการพัฒนาต่าง ๆ ที่เข้ามาในหมู่บ้านกลับไม่ตรงกลับความต้องการของคนในชุมชน จึงมีการประชุมวางแผนร่วมกับคนในชุมชน เพื่อหาทิศทางการพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง

“เราเริ่มต้นจากการทำแผนชุมชน ศึกษาปัญหาของชุมชน มองศักยภาพของชุมชน ศึกษาความรู้จากภายนอก และกำหนดเป้าหมายของชุมชน โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชน เพื่อทำให้ชาวบ้านมีชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อยู่ดีกินดี ไม่ต้องดิ้นรนออกไปทำงานในที่ต่าง ๆ”

กิจกรรมที่ทำแรก ๆ จะเน้นการทำให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ทั้งเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่า การป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดในหมู่ลูกหลานชาวชุมชน โดยมีการจัดกิจกรรมหมู่บ้านปลอดยาเสพติด โดยใช้แนวทางชุมชนบำบัด โดยชุมชน และเพื่อชุมชน การร่วมกันกับชาวบ้านในอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิต โดยให้คนอยู่ป่า ป่าอยู่กับคน โดยมีกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เป็นแกนนำในการขับเคลื่อน

จากป่าเสื่อมโทรม ที่มีการบุกรุกแผ้วถางเป็นจำนวนมาก จนในที่สุด สามารถฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าโดยรอบของชุมชนได้มากถึง 14,000 ไร่ ทั้งยังมีการขยายเครือข่ายในการป้องกัน และไม่บุกรุกป่าไปยังชุมชนใกล้เคียง

เนื่องจากมีการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นหลักในการพัฒนาหมู่บ้าน โดยเฉพาะเรื่อง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการทำความรู้จัก และทำความเข้าใจว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร จากนั้นจึงนำมาพัฒนาเป็นกิจกรรม และทำอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละครัวเรือนต้องทำ 5 เรื่องในบ้านของตนเอง และมีส่วนร่วมใน 5 เรื่องของชุมชน จนเกิดการขยายผลทั้งชุมชน 100% และไม่เพียงเท่านี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเกิดการขยายผลไปสู่ภายนอกด้วย

“ชูชาติ” อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าแบ่งกิจกรรมหลัก ๆ ที่ร่วมกับชาวชุมชนในการพัฒนา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สามารถแบ่งออกเป็น 5 ด้านคือ 1.ด้านการบริหารคน มุ่งเน้นในเรื่องการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้กับชาวชุมชน ซึ่งในการผลิตสินค้าออกมาแต่ละครั้ง มีการเรียนรู้ มีการต่อยอดสำหรับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ต้องมีความแตกต่าง ควบคู่ไปกับคุณภาพ หรือรสชาติ พร้อมทั้งมีการกระจายไปสู่ภายนอก และที่สำคัญยังเปลี่ยนรูปแบบการบริหารของกลุ่ม ที่สมาชิกไม่ต้องทำทุกคน แต่ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียเท่ากัน

2.ด้านการลดต้นทุนการเกษตร โดยมุ่งเน้นเรื่องของการลดใช้สารเคมี ซึ่งมีการทดลองนำพืชสมุนไพรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนนำไปกลั่น เพื่อให้ได้หัวเชื้อ ก่อนที่จะนำไปใช้จริง ทั้งยังมีการขยายผลต่อยอด พัฒนาการให้สารอาหารแก่พืชผักต่าง ๆ ด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน อย่างเช่น ไข่ไก่, ปลา รวมถึงการผลิตปุ๋ยชีวภาพทางใบ, จุลินทรีย์แห้ง-น้ำ, การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น

ผลจากการลดใช้สารเคมีทำให้ลดต้นทุนกว่า 10% ของรายได้ ที่สำคัญยังเป็นพืชผักปลอดสารพิษ ที่ดีต่อทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค

3.ส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน ด้วยการเริ่มต้นจากเรื่องการบริโภค โดยเฉพาะการกินพืชผักปลอดสารพิษ ลด ละ เลิกการดื่มน้ำอัดลม และหันมาดื่มน้ำสมุนไพรแทน

4.เชื่อมโยงสู่สหกรณ์ เพื่อการออมในชุมชน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยเฉพาะเรื่องของการออม เพื่อให้มีแหล่งเงินทุนที่คนในชุมชนสามารถเข้าถึง อีกทั้งยังสามารถเป็นสวัสดิการในพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลคนในชุมชน โดยให้คนในชุมชนเองเป็นผู้บริหาร จากทุนเริ่มต้นเพียง 6,000 กว่าบาท แต่ปัจจุบันมีเงินออมมากกว่า 60 ล้านบาท

5.การฟื้นฟูสัตว์น้ำหน้าบ้าน ด้วยการกันพื้นที่ 500 เมตรของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน เพื่อดูแล และอนุบาลสัตว์น้ำ จนทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารในอนาคต ทั้งยังเป็นการแพร่ขยายพันธุ์สัตว์น้ำ และ 6.การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการใช้ม้าเป็นพาหนะ ซึ่งจะให้เยาวชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ทั้งการดูแลและเลี้ยงม้า การแสดงโชว์ต่าง ๆ การจัดที่พัก อาหาร และการนำเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ รวมถึงการป้องกันเยาวชนในกลุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้เข้าไปยุ่งกับยาเสพติด

“ชูชาติ” บอกว่าจะเห็นว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมที่ทำวันนี้ วันพรุ่งนี้แล้วเห็นผล ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน เราต้องใช้วิธีการครัวเรือนต้นแบบ และคนต้นแบบ เพื่อให้เกิดการขยายผล จนที่สุด ชาวบ้านเริ่มเห็นผลของความสำเร็จ กระทั่งเกิดการเรียนแบบ และทำตาม

เพราะปัญหาเรื่องคนสำคัญมากกว่าปัญหาเรื่องเงิน และเรื่องเหล่านี้เราต้องก้าวข้ามให้ได้ ตัวอย่างที่เราทำ นอกจากจะต้องสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ เราจะต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้คนในหมู่บ้านมองภาพไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น เป้าหมายต่อไปจึงคิดว่าเราจะต่อยอดการเรียนรู้จากศูนย์การเรียนในหมู่บ้านไปสู่โรงเรียน เพราะเราต้องการให้เยาวชนในหมู่บ้าน และหมู่บ้านใกล้เคียงอื่น ๆ เกิดการเรียนรู้ จากแนวทางการแก้ปัญหาไปสู่เยาวชน ทั้งเรื่องการทำบัญชีครัวเรือน การออม หรือแม้กระทั่งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านอาชีพต่อไป