นายจ้างระวัง! ประกันสังคมเอาจริง หากไม่ขึ้นทะเบียน-แจ้งสิ้นสุดเป็นผู้ประกันตน

“นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการดำเนินงานติดตามนายจ้างให้ดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนและแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ว่า สำนักงานประกันสังคมได้เร่งดำเนินการติดตามให้สถานประกอบการเพื่อให้มาปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. – ธ.ค. 61 ที่ผ่านมา พบสถานประกอบการละเลยการแจ้งขึ้นทะเบียนและแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน จำนวน 261,974 แห่ง ผู้ประกันตนจำนวน 1,115,721 ราย

โดยแบ่งเป็นสถานประกอบการที่ไม่ใช่ส่วนราชการ จำนวน 244,966 แห่ง ผู้ประกันตนจำนวน 1,061,123 ราย และสถานประกอบการที่เป็นส่วนราชการ จำนวน 17,008 แห่ง ผู้ประกันตนจำนวน 54,598 ราย สำนักงานประกันสังคมจึงมีมาตรการเร่งด่วน ด้วยการดำเนินการกับนายจ้างที่ไม่ได้แจ้งการแจ้งขึ้นทะเบียนและแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนอย่างเคร่งครัด คือ ออกหนังสือเชิญพบ หากพบว่านายจ้างมีเจตนา ให้ดำเนินการปรับหรือเปรียบเทียบปรับตามขั้นตอนของกฎหมาย

ทั้งนี้ หากนายจ้างซึ่งมีลูกจ้างทำงานในสถานประกอบการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03) โดยนายจ้างที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นแบบได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำหรับนายจ้างที่มีสำนักงานใหญ่ในส่วนภูมิภาค ให้ยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ที่สำคัญนายจ้างมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน กรณีที่มีลูกจ้างลาออกจากงาน ให้นายจ้างแจ้งการออกจากงานพร้อมระบุสาเหตุการออกจากงาน โดยใช้หนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส. 6-09) ภายในวันที่ 15 ของเดือน ถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมมีช่องทางอำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-service) โดยนายจ้างสามารถใช้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตดังกล่าว ได้แก่ งานขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน หรือแจ้งชื่อผู้ประกันตนเข้าทำงาน (สปส.1-03), การแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09), การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส. 6-10), การส่งข้อมูลทะเบียนด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (สปส. 1-04) และการส่งข้อมูลเงินสมทบ (สปส.1-10)

และเมื่อนายจ้างทำการลงทะเบียนขอทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว จะมีอีเมล์ตอบกลับให้พิมพ์แบบ สปส.1-05 แล้วนำกลับมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขาก่อน แล้วเจ้าหน้าที่จะทำการอนุมัติ USER PASSWORD ให้แก่นายจ้าง โดยจะตอบกลับทางอีเมล์โดยอัตโนมัติ หลังจากนั้น นายจ้างสามารถเข้าใช้บริการได้ทันที เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็วแก่นายจ้างในการส่งข้อมูลงานทะเบียนผู้ประกันตน และชำระเงินสมทบโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขาอีกด้วย