Internet of Everything

คอลัมน์ ถามมาตอบไปสไตล์คอนซัลต์

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมและครอบครัวเดินทางไปร่วมงานรับปริญญาของลูกสาวที่ Babson College เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ผมจะเดินทางบ่อย แต่ครั้งนี้ถือว่าตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ เพราะได้รู้ได้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

คราวนี้ผมเดินทางโดยสายการบินของตะวันออกกลางแห่งหนึ่ง แวะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินในเมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่นี่ทางการอเมริกาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศของเขา สามารถผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองได้เลย โดยไม่ต้องไปทำเมื่อถึงจุดหมาย ส่วนหนึ่งก็เพื่ออำนวยความสะดวก อีกส่วนก็เป็นการลดความแออัดที่สนามบินปลายทางด้วย

ผมและครอบครัวเข้าคิวตามปกติเพื่อตรวจลงตราพาสปอร์ต ไม่มีช่องทางพิเศษใด ๆ สำหรับ V.I.P. หรือผู้โดยสารที่เดินทางชั้นธุรกิจหรือชั้นหนึ่ง ทุกคนเท่ากันหมด เมื่อถึงคิว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองซึ่งเป็นคนอเมริกัน ขอพาสปอร์ตไปทั้งครอบครัว แต่ยังไม่ทันได้เปิดดู จากนั้นขอให้พวกเราถ่ายรูปทีละคน เมื่อกล้องจับภาพได้ ก็สแกนหาข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ทันที ระบบสามารถระบุได้เลยว่า เราคือใคร ชื่อเรียงเสียงใด เข้าประเทศมากี่ครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดมาเมื่อไรกับใคร ฯลฯ เป็น เทคโนโลยีการจดจำหน้า (facial recognition) เหมือนที่เฟซบุ๊กใช้ในการจำเรา และเพื่อน ๆ เมื่อ upload รูปภาพขึ้นไป ระบบจะถามทันทีว่า อยาก tag บุคคลที่อยู่ในภาพด้วยหรือไม่ โดยระบุชื่อได้ถูกต้องเกือบ 100%

หากทุกอย่างปกติดี เจ้าหน้าที่จะหยิบพาสปอร์ตตามชื่อที่ระบบระบุขึ้นมาประทับตรา เสร็จแล้วก็นำบัตรโดยสาร (boarding pass) ไปสแกนที่อุปกรณ์อีกตัวหนึ่ง ไม่นานนักกระเป๋าเดินทางของเราซึ่งรอต่อเครื่องอยู่บริเวณที่ขนถ่ายสัมภาระ (cargo area) ในสนามบินด้านล่าง ก็ปรากฏขึ้นบนหน้าจอมอนิเตอร์ เจ้าหน้าที่ถามว่าใช่กระเป๋าของคุณไหม มีอะไรบรรจุอยู่ในนั้นบ้าง และหากจำเป็นต้องมีการเปิดกระเป๋า ก็จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ด้านล่างทำการเปิด แล้วให้เรายืนดูเป็นสักขีพยานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องกระดิกตัวไปไหนหรือเดินไปที่กระเป๋าให้เสียเวลา

ตอนที่ลูกสาวเรียนจบ เธอเริ่มสมัครงานในอเมริกา เพราะอยากลองหาประสบการณ์สักปีสองปี ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท การเขียนประวัติเพื่อสมัครงาน (resume) ที่นี่นิยมเขียนสั้น ๆ เพียงแค่ 1 หน้า แล้วก็มีจดหมายนำส่ง (cover letter) อีก 1 แผ่น เป็นอันเสร็จพิธี ไม่ต้องอารัมภบทนานเอกสารสมัครงานจะถูกคัดกรอง (screen) โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนั้น การเขียนต้องมีเทคนิคพอสมควร เพราะถ้าเขียนวกไปวนมา หรือเขียนแบบแกรมมาร์ผิด ๆ ถูก ๆ แล้วคอมพิวเตอร์อ่านไม่รู้เรื่อง เป็นอันว่าใบสมัครนั้นถูกคัดทิ้งทันที

สิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อระบบอ่านข้อมูลของผู้สมัครแล้ว ก็จะไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในแหล่งข้อมูลสาธารณะอย่างโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, Twitter และ LinkedIn เป็นต้น เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่ระบุในใบสมัครกับข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไปว่าตรงหรือต่างกัน และมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ระบุในใบสมัครอีกหรือไม่

เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้น่ากลัวมาก สุดท้ายกลายเป็นว่าเครื่องคอมพิวเตอร์รู้จักตัวตนของเรามากกว่าเรารู้จักตัวเองเสียอีก ใครไปทำอะไรไว้ที่ไหน โพสต์เรื่องอะไรไว้ หรือมีใครโพสต์ถึงเราว่าอย่างไร ระบบคัดกรองอัจฉริยะหาเจอหมด! จากนั้นหากใบสมัครผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น ก็จะมีอีเมล์ส่งออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง เพื่อนัดหมายให้สัมภาษณ์กับหุ่นยนต์ (robot) ผ่านทางช่องทางอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องเดินทางหรือไปเจอตัวให้มันวุ่นวาย

การสัมภาษณ์เบื้องต้นใช้เวลา 15 นาที เป็นการพูดคุยระหว่างคนกับหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ ระหว่างการสัมภาษณ์นอกจากระบบจะวิเคราะห์คำตอบของผู้สมัครแล้ว ยังตรวจสอบคุณสมบัติอื่น ๆ ไปในตัวด้วย เช่น บุคลิก การแต่งกาย หน้าตา ภาษาท่าทาง ฯลฯ

หลังสัมภาษณ์เสร็จ ระบบจะแจ้งผลให้ทราบทันทีว่าผ่านหรือไม่ผ่าน และมีข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ให้ด้วยว่า ระหว่างการสนทนา ตรงไหนที่ทำได้ดี และตรงไหนที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม เด็ก ๆ ชอบมาก เพราะแม้จะไม่ได้ไปต่อ ก็ยังมีโอกาสได้เรียนรู้เพื่อนำมาปรับปรุงสำหรับการสัมภาษณ์ครั้งต่อ ๆ ไปได้ด้วย ถ้าผ่านรอบนี้ไปได้ ถึงจะมีโอกาสเจอคนจริง ๆ แต่ถ้าตกรอบคัดเลือกนี้ ก็ได้แค่คุยกับเครื่องเท่านั้น

ในวันรับปริญญา ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทุกมหาวิทยาลัยในสหรัฐ จะมีบุคคลที่ประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงมาให้โอวาทกับบัณฑิตใหม่ เรียกว่า commencement speaker คราวนี้ Babson College เชิญ “Steve Case” อดีตผู้ก่อตั้งบริษัท AOL ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต และอีเมล์รายแรก ๆ ของโลก ปัจจุบันเป็นนักลงทุนในธุรกิจ startup และนักเขียนของ The New York Times ระดับ best seller ผลงาน

ล่าสุดคือ The Third Wave : An Entrepreneur’s Vision of the Future”Steve Case” บอกกับบัณฑิตใหม่ว่า ในโลกของเทคโนโลยี ตอนนี้กำลังเข้าสู่คลื่นลูกที่ 3

คลื่นลูกที่ 1 คือ internet ที่เชื่อมต่อชาวโลกให้ถึงกัน ทำให้โลกใบนี้เล็กลงเหลือเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

คลื่นลูกที่ 2 คือ ยุคแห่ง software และ platform อย่างเช่น Facebook, Instagram, LINE และ App ต่าง ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้น

คลื่นลูกที่ 3 เป็นยุคที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันดีในชื่อ IOT (internet of things) ซึ่ง Steve Case มีความเห็นว่า ควรเปลี่ยนชื่อไปเป็น internet of everything น่าจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้มากกว่า ในยุคนี้ internet จะเข้ามามีบทบาทสูงมากกับชีวิตมนุษย์ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

หน้าที่ของบัณฑิตใหม่ (รวมทั้งพวกเราทุกคน) ในยุคนี้ คือ รับรู้ (aware) ว่า แนวโน้มที่ว่านี้มาถึงแล้ว และจะมีผลต่อชีวิตของพวกเราโดยตรงด้วย จะได้ไม่ตั้งตนอยู่ในความประมาทและประหลาดใจเมื่อถูกกระทบเรียนรู้ (understand) ทำความเข้าใจ ขวนขวายหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง ฝึกฝนเพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถให้พร้อมใช้มัน (utilize) แทนที่จะตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี จงทำตัวเป็นเจ้านายของมัน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่ดีขี้น

หากทำ 3 อย่างนี้ให้ถึงพร้อม ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวว่าเทคโนโลยีจะมาแย่งงาน หรือแทนที่มนุษย์อีกต่อไป เพราะเขาเป็นเพื่อนของเรา ไม่ใช่เป็นศัตรู เพียงแต่เราต้องอยู่ให้เป็นก็เท่านั้นเอง