“PEA” จ่ายไฟสายเคเบิลใต้น้ำ เพิ่มคุณภาพชีวิตเกาะกูด-เกาะหมาก

วิสัยทัศน์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค-กฟภ. (Provincial Electricity Authority-PEA) คือ การให้บริการพลังงานไฟฟ้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย จึงทำให้ PEA ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนางานด้วยเทคโนโลยี เพื่อกระจายไฟฟ้าไปพื้นที่ห่างไกลให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ซึ่งเมื่อไม่นานผ่านมา PEA มีการสร้างระบบจำหน่ายด้วยสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 22kV ไปยังเกาะกูด และเกาะหมาก จ.ตราด เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนในพื้นที่มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้ง 2 เกาะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งในด้านสังคม และเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

“ภานุมาศ ลิ้มสุวรรณ” รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า จ.ตราดมีจำนวนเกาะทั้งหมด 66 เกาะ และเกาะที่ต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถ และความมั่นคงของระบบไฟฟ้า คือ เกาะกูด และเกาะหมาก เพราะแต่ก่อนจ่ายไฟฟ้าด้วยพลังงานดีเซล และพลังงานจากโซลาร์เซลล์ แต่ไม่เพียงพอ เนื่องจากมีคนอาศัยอยู่บนเกาะมากขึ้น โดยปัจจุบันทั้ง 2 เกาะมีคนกว่า 1 พันครัวเรือน ทั้งยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวด้วย

สำหรับการก่อสร้างระบบจำหน่ายด้วยสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 22kV ไปยังเกาะกูด และเกาะหมาก จ.ตราดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 22kV ขนาด 300 ตารางมิลลิเมตร ชนิด XLPE จำนวน 1 วงจร ระยะทาง 33 กิโลเมตร จากฝั่ง อ.คลองใหญ่ บริเวณโรงเรียนบ้านตาหนึก ไปยังเกาะกูด บริเวณอ่าวสลัดรองรับโหลดสูงสุด 13.9 MW และก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 22kV ขนาด 120 ตารางมิลลิเมตร ชนิด XLPE จำนวน 1 วงจร ระยะทาง 17 กิโลเมตร จากเกาะกูด บริเวณอ่าวสลัด ไปยังเกาะหมาก บริเวณอ่าวนิด โดยใช้งบประมาณ 1,413 ล้านบาท ซึ่งเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำมาตั้งแต่ 18 พฤษภาคม 2558

เนื่องจากเกาะกูดและเกาะหมากมีแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นในอัตราร้อยละ 3.48% ต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า และคาดการณ์ว่าในปี 2586 จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าบนเกาะทั้ง 2 แห่ง มากถึง 15.13 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 22kV สามารถรองรับโหลดได้สูงสุดถึง 22 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีไฟฟ้าใช้ได้อย่างเพียงพอ

“วันนี้เรากลับมาดูเกาะกูด และเกาะหมากแล้ว เห็นหลายสิ่งพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยสามารถสรุปสิ่งที่พัฒนาขึ้น 2 ด้านหลัก ๆ คือ หนึ่ง ด้านคุณภาพชีวิตด้านสังคม เนื่องจากประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค เนื่องจากมีปริมาณไฟฟ้าที่เพียงพอ และเต็มประสิทธิภาพต่อการดำเนินชีวิต ให้มีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย โดยจะเห็นได้จากโรงพยาบาลเกาะกูดสามารถใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องสำรองไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ในรูปแบบของแบตเตอรี่ไว้ใช้งานในช่วงกลางคืน ทั้งยังมีปริมาณแสงสว่างที่เพียงพอในยามค่ำคืน ช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและอาชญากรรม”

“สอง ด้านคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการจึงทำให้เกิดการลงทุนของธุรกิจบริการ และท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะมีการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวของเกาะกูด และปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นจึงมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นปีละ 20% ทำให้เกาะกูดเป็นเกาะที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี รวมถึงการขยายตัวของร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของฝากจำนวนมาก ทำให้เกิดการสร้างงานและอาชีพให้กับประชาชนบนเกาะ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น”

หลังจากความสำเร็จจากการสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 22kV ไปยังเกาะกูด และเกาะหมาก ยังมีการมองไปยังเกาะอื่น ๆ ด้วย โดยในปี 2563 จะมีการจ่ายไฟไปยังเกาะปันหยี จ.พังงา ทั้งยังมีความคิดในการเสนอแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี

“ภานุมาศ” กล่าวถึงภาพรวมของซีเอสอาร์ของ PEA ว่า เรามีโครงการ ซีเอสอาร์ปีละหลายโครงการ โดยเน้นเรื่องการดูแลชุมชน เช่น โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่จัดเป็นประจำทุกปี เพื่อให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป เช่น โรคเกี่ยวกับหู โรคฟัน โรคทางเดินอาหาร โรคนิ้วล็อก ตรวจวัดสายตา และแจกแว่นสายตา โดยในปี 2560 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จำนวน 11 ครั้งทั่วประเทศ และสามารถให้การตรวจรักษาโรคแก่ประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 35,875 ราย และโครงการ PEA ช่วยภัยแล้งด้วยพลังงานทดแทน ด้วยการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในการจัดหาอุปกรณ์ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

“อีกโครงการสำคัญที่เราภูมิใจ คือ โครงการ 1 ตำบล 1 ช่างไฟฟ้า ที่เราคว้ารางวัล Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) 2019 ประเภทการลงทุนทรัพยากรบุคคล ในงาน International CSR Summit 2019 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้รางวัลในระดับภูมิภาคเอเชีย โดยเราดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 ช่างไฟฟ้า มาตั้งแต่ปี 2560 เพราะเรามองเห็นปัญหาหลังจากที่เราจ่ายกระแสไฟฟ้าไปให้ตามหมู่บ้านในชุมชนที่ห่างไกลแล้ว คนในพื้นที่ยังขาดแคลนช่างที่มีความรู้ด้านการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า”

“เราจึงจัดการอบรมชาวบ้านให้มีทักษะความชำนาญในการแก้ไขระบบไฟฟ้าเบื้องต้นภายในครัวเรือน โดยเน้นย้ำความปลอดภัยให้ชาวบ้าน ทั้งยังสามารถเป็นจิตอาสาช่วยดูแลระบบจำหน่ายของ PEA เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพได้ด้วย”

“โดยโครงการดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ให้บริการของ PEA 74 จังหวัด เข้าร่วมอบรมให้ความรู้ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 หลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ซึ่งพวกเขาจะได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถในสาขาดังกล่าว เพื่อนำไปประกอบอาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และขึ้นทะเบียนช่างไฟฟ้าในโครงการนำรายชื่อเข้าสู่ระบบแอปพลิเคชั่น โดยในปี 2563 PEA ตั้งเป้าหมายให้มีช่างไฟฟ้า 1 ตำบล 1 ช่างไฟฟ้า ครบทุกตำบล รวมทั้งสิ้น 8,000 คน”

“ทั้งนั้น เพราะรางวัล AREA 2019 เป็นข้อพิสูจน์ว่า เราเป็นองค์กรเติบโตร่วมกับสังคม เพราะรางวัลนี้จะมอบให้กับองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นด้านการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน เพื่อแสดงความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับนานาชาติ”