กลยุทธ์ซีเอสอาร์ “CPF” พร้อมขับเคลื่อนความยั่งยืนระดับโลก

เพราะการเป็นผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพเพื่อความปลอดภัยต่อลูกค้าและผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมพร้อม ๆ กันด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ สู่ความยั่งยืนที่ว่า “ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท” โดยมีกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน ภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการดูแลพัฒนาบุคลากร ที่สำคัญยังสนับสนุนหลักการของข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact : UN Global Compact) ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) ของสหประชาชาติด้วย

โดยล่าสุดซีพีเอฟประกาศความสำเร็จตามเป้าหมายความยั่งยืนปี 2563 พร้อมขับเคลื่อนเป้าหมายระยะยาวด้านสวัสดิภาพสัตว์, การบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการบรรจุภัณฑ์ระหว่างปี 2568-2571 ที่ครอบคลุมกิจการทั้งในและต่างประเทศ

“วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า หลังจากที่ซีพีเอฟมีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในปี 2563 ภายใต้กลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืนภายใต้ 3 เสาหลักที่ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ในปี 2561 ที่ผ่านมาซีพีเอฟดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าวจนเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้

“โดยปี 2561 เรื่องอาหารมั่นคง ด้านการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ ไม่มีเหตุการณ์เรียกคืนสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสาธารณชน เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายความยั่งยืนปี 2563 ที่ไม่มีการเรียกคืนเช่นกัน ขณะที่ด้านการส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนเข้าถึงการเรียนรู้ทักษะ การผลิตอาหาร/การบริโภคอย่างถูกหลักโภชนาการและปลอดภัยไปแล้วกว่า 236,300 คน เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้มากกว่า 300,000 คน”

“ส่วนเรื่องสังคมพึ่งตน ด้านการพัฒนาคู่ค้าให้เติบโตไปด้วยกัน เรามีการประเมินความยั่งยืนของคู่ค้าในธุรกิจหลัก ทั้งในด้านวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ และวัตถุดิบรองที่เป็นกลุ่มเครื่องปรุงและกลุ่มบรรจุภัณฑ์ไปกว่า 53% จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 100% และการจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตร โดยจัดหาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบและตรวจสอบย้อนกลับได้อยู่ที่ 72% เมื่อเทียบกับเป้าหมายอยู่ที่ 100%”

“ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน ซีพีเอฟมีการส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีไปแล้วกว่า 40,150 ราย เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50,000 รายในปี 2563”

สำหรับเรื่องของดินน้ำป่าคงอยู่ ทางด้านการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซีพีเอฟช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิตอยู่ที่ 6% โดยเป้าหมายในปี 2563-2568 อยู่ที่ 15% ส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 ต่อหน่วยการผลิตอยู่ที่ 8%

ขณะที่เป้าหมายในปี 2563 อยู่ที่ 15% และปี 2568 อยู่ที่ 25% ส่วนในด้านการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าชายเลน และป่าต้นน้ำในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ มีการดำเนินการครอบคลุมบนพื้นที่กว่า 10,079 ไร่ เมื่อเทียบกับเป้าหมายปี 2563 ที่ตั้งไว้ 9,000 ไร่

“วุฒิชัย” กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟยังประกาศนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์วิสัยทัศน์ระดับโลก ด้านการใช้ยาต้านจุลชีพด้วยความรับผิดชอบ การบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายความยั่งยืนระยะยาวระหว่างปี 2568-2571 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดคล้องตามหลักการของ UN Global Compact

“นโยบายสวัสดิภาพสัตว์ เรากำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนอย่างเคร่งครัด มีจริยธรรมสอดคล้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของประเทศ และประเทศคู่ค้า ข้อกำหนดของลูกค้าและมาตรฐานสากลด้านสวัสดิภาพสัตว์อย่างต่อเนื่อง โดยนำหลักอิสระ 5 ประการ (five freedoms) ที่ประกอบด้วย

1) ปราศจากความหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง

2) ปราศจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม

3) ปราศจากความเจ็บปวด บาดเจ็บ และโรคภัย

4) ปราศจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน

และ 5) อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์ มาใช้ในการจัดการธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ การผลิตเนื้อสัตว์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์”

“ภายใต้นโยบายนี้ ในฟาร์มสุกรแม่พันธุ์ที่อุ้มท้องจะเปลี่ยนเป็นระบบการเลี้ยงแบบคอกขังรวม 100% ภายในปี 2568 สำหรับกิจการภายในประเทศมีการปรับปรุงฟาร์มแม่พันธุ์สุกรอุ้มท้อง คิดเป็นร้อยละ 33% ในปี 2561 ส่วนกิจการในต่างประเทศจะดำเนินการให้แล้วเสร็จปี 2571 ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 7% สำหรับธุรกิจสัตว์ปีก เราพัฒนาฟาร์มไก่ไข่ในประเทศไปสู่ระบบการเลี้ยงแบบปล่อยในโรงเรือนตั้งแต่ปี 2561 ตลอดจนฟาร์มไก่เนื้อในไทยทั้งหมดเป็นระบบการเลี้ยงตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์มาตั้งแต่ปี 2543 และมีเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพสัตว์ปีก 100% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเร็วกว่าเป้าหมายปี 2563 ส่วนกิจการในต่างประเทศดำเนินการไปแล้ว 63% ในปี 2561”

“ทั้งนี้ ซีพีเอฟยังประกาศวิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ ซึ่งเน้นการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และยึดหลักความยั่งยืนด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีความรับผิดชอบและสมเหตุสมผล ควบคู่ไปกับนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ และการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม ซึ่งส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงตามธรรมชาติอีกด้วย”

ไม่เพียงเท่านี้ ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะจากบรรจุภัณฑ์ โดย “วุฒิชัย” บอกว่า เรามุ่งพัฒนาออกแบบ และจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงการใช้งานตลอดอายุของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การปกป้องผลิตภัณฑ์ในระหว่างการขนส่ง การบริโภค การจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถยืดอายุของอาหารให้ยาวนานขึ้น เพื่อลดการสูญเสียอาหารที่ไม่ถูกบริโภค (food waste)

“ที่ผ่านมาซีพีเอฟจัดหาบรรจุภัณฑ์ที่นำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีการสัมผัสกับอาหารโดยตรง หรือใช้สำหรับการขนส่ง อย่างกล่องกระดาษลูกฟูกที่ใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตตั้งแต่ 70-100% ขณะที่สินค้ากลุ่มหมูสดและไก่สดแช่เย็นได้บรรจุในถาดพลาสติกชีวภาพ (bioplastic) ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ นับเป็นรายแรกของประเทศไทย โดยในปี 2561 สามารถลดการใช้ถาด PET ได้กว่า 3.9 ล้านชิ้น หรือกว่า 60 ตัน เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 132 ตันคาร์บอนไดออกไซด์”

“อีกทั้งยังลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างสายธุรกิจผลิตไก่เนื้อครบวงจรมีการใช้กระบะสเตนเลสเพื่อขนย้ายผลิตภัณฑ์ในกระบวนการผลิต ส่วนธุรกิจการเลี้ยงสัตว์น้ำได้นำ Q-pass tank มาใช้บรรจุลูกพันธุ์กุ้งเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า และธุรกิจอาหารสัตว์บกนำถังบรรจุอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ (bulk feed tank) มาทดแทนการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงซีพี เฟรชมาร์ทได้รณรงค์งดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้า คาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้กว่า 5 ล้านชิ้นต่อปี”

“ที่สำคัญเรายังตั้งเป้าหมายระยะยาวด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทยว่าต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ หรือย่อยสลายได้ 100% ในปี 2568 ส่วนกิจการในต่างประเทศจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2573 อีกด้วย”