“ปิดทองหลังพระ” จับมือแม็คโคร-โลตัส ช่วยเกษตรกรผักอินทรีย์-หนองเลิงเปือย ขายได้วันละ 1,000 บาท

ชีวิตเกษตรกร ทิ้งถิ่นฐาน เข้าไปใช้แรงงานในเมืองหลวง ได้คืนดินอีกครั้ง

เมื่อชะตาชีวิตของครอบครัว บรรจบกับความช่วยเหลือ-ฝึกฝน จากตัวแทนมูลนิธิปิดทองหลังพระ
เมื่อ 3 ปีก่อน “สิริรัตน์ ธงทองเพิ่มพูน” มีรายได้จากการเป็นมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพมหานคร เฉลี่ยวันละ 500 บาท ต้องจ่ายทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน

เพราะเธอไม่มีทักษะในการทำงานจากผืนดิน แต่เมื่อโจทย์ชีวิตเปลี่ยน มารดาของเธอล้มป่วย เธอไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้อง “กลับบ้าน”

เธอต้องเริ่มต้นค้นคว้าวิชาชีวิตใหม่อีกครั้ง ในผืนดินที่ หนองเลิงเปือย ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์
โดยได้รับความช่วยเหลือ-ฝึกฝนจาก “โครงการสอนการปลูกผักกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” ที่มาตั้งศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์

สิริรัตน์ ธงทองเพิ่มพูน

“สิริรัตน์ ธงทองเพิ่มพูน” พัฒนาทักษะ จนร่วมเป็นกรรมการสหกรณ์การเกษตร แก้มลิงหนองเลิงเปือย จำกัด พลิกจากที่เคยปลูกผักไม่เป็น สู่เกษตรกร ปลูกผักคุณภาพดี ทำผักสวนครัวอินทรีย์ เลี้ยงไก่ไข่ กลายเป็นฐานต้นทุนชีวิตใหม่ และเป็นรายได้หลักเลี้ยงครัวเรือนระหว่างรอเกี่ยวข้าว

เธอพลิกแพลง-ปรับเปลี่ยนวิถี การปลูกผักตามฤดูกาล อาศัยวงจรในการปลูกผักที่กินเวลาไม่นาน จึงสลับสับเปลี่ยนชนิดของผักไปตามความต้องการของผู้บริโภค และผันไปตามฤดูกาล

ทุกวันนี้ “ปิดทองหลังพระ” มีส่วนในการพลิกชีวิต มีรายได้จากการปลูกผักสวนครัวอินทรีย์ ส่งขายให้กับสหกรณ์ฯ อย่างน้อยวันละ 500 ถึง 1,000 บาท

“เริ่มต้นปลูกสาระแหน่แปลงแค่ 5 เมตร คนว่าบ้า ใครจะกินสาระแหน่มากขนาดนั้น ปรากฏว่าขายหมด และผักอื่นก็ขายหมด คนในหมู่บ้านก็เริ่มปลูกตาม ซึ่งหลังจากปลูกผักอินทรีย์ขาย ทำให้มีรายได้เข้าบ้านทุกวันอย่างน้อย 500-1,000 บาท เฉลี่ยจะประมาณเดือนละกว่าหมื่นบาท”

“ที่สำคัญยังได้อยู่บ้านกับลูกๆ และคนในบ้านไม่ค่อยป่วย เพราะกินผักไร้สารเคมี ผักทั้งหมดจะขายให้กับสหกรณ์การเกษตรหนองเลิงเปือยที่ตั้งขึ้นเพื่อมารองรับผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ อีกทั้งราคารับซื้อก็ไม่ต่างจากที่ส่งร้านค้าในตลาด แต่ต่างกันที่ว่าสหกรณ์สิ้นปีจะมีปันผล แม่ค้าซื้อแล้วก็จบกันไป” นางสิริรัตน์กล่าว

ยังมีเกษตรกรอีกรายชาวหนองเลิงเปือย ที่อยู่ในเครือข่าย “ผักปลอดภัย” ภายใต้การฝึกอบรมทักษะกับ “ปิดทองหลังพระ”

“ทองจันทร์ นาชัยสิทธิ์” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านธนบุรี เป็น 1 ใน 108 รายในกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษในโดมและนอกโดม พื้นที่ 6 ไร่ เป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ มีการปลูกผัก 26 ชนิด อาทิ ผักบุ้ง คะน้า มะเขือ ผักกาดขาว ฯลฯ เสริมจากทำนา

พลิกรายได้เฉลี่ยจาก 50,801 บาทต่อคน/ปี เพิ่ม “รายได้เสริม” อีกวันละ 100 บาท จากการปลูกผักคุณภาพดี ส่งข่ายในสหกรณ์หนองเลิงเปือย ที่เป็นผู้รับซื้อหลัก และส่งข่ายในห้างค้าปลีกรายใหญ่ กระจายต่อทั่วประเทศ

ทองจันทร์ นาชัยสิทธิ์

“ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ ที่เดิมบางวันไม่มีรายได้เข้ามาเลยนอกจากรอเกี่ยวข้าว ก็มีรายได้เสริมอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านดีใจกันมากที่สามารถหารายได้มาเสริมครัวเรือน จนขณะนี้ไม่ออกไปทำนาแล้ว เพราะทุกคนมาช่วยกันปลูกผักขาย และขณะนี้กลุ่มได้ทำเรื่องเสนอขอเป็นกลุ่มผู้ปลูกผักแปลงใหญ่ของจังหวัดในปี 2562 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ”

ผู้ปิดทองหลังพระ อย่าง “รัตติยา โพธิ์แก้ว” เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จึงต้องมีภารกิจ ในการรับไม้ต่อ เพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน-ต่อเนื่อง

“รัตติยา” คาดว่าจะสามารถพัฒนาหนองเลิงเปลือย เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตที่ได้มาตรฐานทั้งจีเอพีและจีเอ็มพีภายใน 2 เดือนข้างหน้า ปัจจุบันสหกรณ์รับซื้อผลผลิตตามราคาตลาด และจะมีการปรับราคา 3 วันต่อครั้ง ผลผลิตที่ได้จะส่งไปยังห้างสรรพสินค้า เช่น โลตัส แม็คโคร แต่ผลผลิตของกลุ่มยังมีไม่ต่อเนื่อง ทำให้เริ่มจะมีปัญหาส่งมอบห้างสรรพสินค้าที่ต้องการสินค้าที่มีความสม่ำเสมอ

รัตติยา โพธิ์แก้ว

ดังนั้นขณะนี้หลายกลุ่มได้ร่วมกันคิดว่าอาจต้องส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มในพื้นที่รอบแก้มลิงหนองเลิงเปือย โดยเบื้องต้นกลุ่มวิสาหกิจบ้านธนบุรี จะมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเติมก่อน เพราะมีสมาชิกแจงความประสงค์ขอใช้ที่ดินสาธารณะของชุมชน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์มีแนวโน้นที่ดีขึ้น โดยเฉพาะ เมื่อพัฒนาการปลูกผักให้เป็นระบบจีเอ็มพีได้เป็นผลสำเร็จ