4 องค์กร รางวัล TQC ตอบโจทย์การบริหารที่เป็นเลิศ

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA) เป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศเทียบเท่าระดับมาตรฐานสากล โดยมีการพิจารณาด้วยเกณฑ์เดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ กว่า 70 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังสามารถนำประโยชน์จากเกณฑ์การประเมินรางวัลไปเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพทุกด้านขององค์กร รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และก้าวสู่การเป็นองค์กรระดับโลก

ดังนั้น หลังจากมีพิธีมอบรางวัล Thailand Quality Award 2018 เมื่อไม่นานผ่านมา สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จึงจัดงานสัมมนา Thailand Quality Award Winner Conference 2018 เพื่อเผยแพร่วิธีปฏิบัติในการนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ จากองค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนั้น ๆ

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้มีหัวข้อ “การบริหารจัดการที่เป็นเลิศเพื่อองค์กรยั่งยืน” ที่น่าสนใจ โดยมี 4 องค์กรมาเป็นตัวแทนในการมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ที่สำคัญ ทั้ง 4 องค์กรยังได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class-TQC) อาทิ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด, บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

“I am BCP” กลยุทธ์บางจาก

“ดร.จงโปรด คชภูมิ” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราเป็นบริษัทพลังงานไทยที่ก่อตั้งเมื่อปี 2527 ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมตั้งแต่การจัดหาน้ำมันดิบทั้งจากแหล่งต่างประเทศ และจากแหล่งน้ำมันดิบภายในประเทศเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่ได้มาตรฐาน

“เมื่อก่อนสิ่งที่องค์กรใช้เป็นบรรทัดฐานในการกำหนด และวางรากฐานของพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคลากรภายใน คือ หลักการที่เรียกว่า BCP ที่แต่ละตัวอักษรมีความหมายดังนี้ B-beyond expectation แสวงหาความเป็นเลิศ, C-continuous development ก่อเกิดการพัฒนา และ P-pursuit of sustainability นำพาสู่ความยั่งยืน แต่เมื่อก่อนธุรกิจปิโตรเลียมไม่หวือหวา เทคโนโลยีไม่เปลี่ยนแปลงมาก คนของบางจากยุคก่อนอาจเป็นคนนิ่ง ๆ เพราะงานเป็น routine”

“แต่ปัจจุบันเกิด technology disruption เราได้รับผลกระทบเหมือนกัน จึงต้องปรับบรรทัดฐานในการทำงานใหม่ โดยเปลี่ยนหลักการทำงานเป็น I am BCP โดยตัวที่เพิ่มมาใหม่ คือ I-innovation-ร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และ Am-agility & mobility พร้อมใจเปลี่ยนแปลง เพราะการที่เราจะก้าวไปในอนาคต ถ้ายังอยู่แบบเดิมจะไปไม่รอด ดังนั้น เมื่อทิศของบางจากเปลี่ยน คนจึงต้องเปลี่ยน ต้องมี agility พร้อมที่จะยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และ mobility โยกย้ายได้ รวมไปถึงการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นด้วย”

“สิ่งที่เราต้องปรับอีกด้าน คือ core business โดยเราตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็นกลุ่มบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำในเอเชีย ดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางที่ยั่งยืน เราจึงใช้อินโนเวชั่นมาทำเรื่องของ bio product (สินค้าประเภทชีวะ) ต่าง ๆ เพราะโลกกำลังก้าวสู่ bio economy และเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังจะก้าวไปด้วย จึงทำให้สัดส่วน bio energy ที่บางจากลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในอนาคต core business ที่เป็นปิโตรเลียมจะค่อย ๆ ลดสัดส่วนลง”

“ขนอม” ปรับกลยุทธ์เพื่อชุมชน

“พนมวรรณ ตะกี่” ผู้จัดการฝ่ายบริหารงานทั่วไป บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด กล่าวว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าขนอมเป็นบริษัทในเครือบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก ที่ถือหุ้น 100% และทำการผลิตกระแสไฟฟ้าส่งมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้สัญญาในการผลิตไฟฟ้า และดูแลฉบับล่าสุดเป็นเวลา 25 ปี เริ่มตั้งแต่ 29 มิ.ย. 2559

“การได้มาซึ่งความไว้วางใจจาก กฟผ. ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเราไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะต้องพิสูจน์ตัวเอง โดยเริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าด้วยการสร้างมาตรฐาน โดยเราเริ่มจากปี 2540 เราได้รับรอง ISO 9000 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกในแถบเอเชียอาคเนย์ที่ได้รับมาตรฐานนี้ในปีนั้น จากนั้นอีก 3 ปีต่อมา เราได้รับใบรับรอง ISO 14000 ในเรื่องสิ่งแวดล้อม และอีก 3 ปีต่อมาได้มาตรฐาน ISO 18000”

“เราไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง จนได้พบกับเกณฑ์การประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว เราจึงเริ่มเรียนรู้และปรับปรุง จนทำให้เราได้รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศในที่สุด โดยการทำงานของเราเมื่อก่อน เน้นเรื่องการเดินเครื่อง และการดูแลรักษา แต่เมื่อเราต้องการเป็นองค์กรชั้นนำในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ทำให้เรามองเห็นว่าการเดินเครื่องปฏิบัติงาน และการดูแลรักษา เพียง 2 อย่างนี้จะเกิดความยั่งยืนได้อย่างไร เราจึงมองว่าต้องดูแลไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และต้องสร้างศักยภาพในเชิงธุรกิจให้ได้”

“การอยู่ร่วมกับชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ การที่มีระบบงานที่ยอดเยี่ยมแต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมรับ ธุรกิจก็ไม่รุ่ง โดยโรงไฟฟ้าขนอมตั้งอยู่ที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชากรท้องถิ่น 27,000 คน และอีก 10,000 คน คือประชากรแฝงอยู่ที่นั่น เช่น ชาวมอญ, เมียนมา และลาว ซึ่งเราต้องอยู่กับชุมชนให้ได้ เราจึงวิเคราะห์และปรับกลยุทธ์การทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนด้วย”

“PTTLNG” มุ่งสู่เวิลด์คลาส

“ประทีป จิตรประทักษ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ปฏิบัติการ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด กล่าวว่า เราก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2554 ด้วยวัตถุประสงค์สร้างความมั่นคงด้านพลังงานต่อประเทศชาติ การดำเนินธุรกิจครอบคลุมถึงการให้บริการท่าเรือรับ การขนถ่ายลงสู่ถังกักเก็บก๊าซ LNG ซึ่งหากต้องการใช้หรือส่งต่อไปยังลูกค้าก็จะนำมาแปลงสภาพจากของเหลวให้เป็นก๊าซ หลังจากนั้นจะนำส่งก๊าซเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซ และจำหน่ายให้ผู้บริโภคเป็นลำดับต่อไป

“เราต้องการเป็น world class ในเรื่องการให้บริการ และต้องสร้างความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และบุคลากรของเราจะต้องเป็นทั้งคนเก่ง และคนดี มีดีเอ็นเอ SPIRIT คือ S-สร้างพลังร่วมอันยิ่งใหญ่, P-ร่วมมุ่งสู่ความเป็นเลิศ, I-ร่วมสร้างพลังความดี, R-ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม, I-ร่วมสร้างนวัตกรรม และ T-ร่วมใจสร้างความเชื่อมั่น และการทำงานของเราต้องเริ่มจากการมีกลยุทธ์ที่ดี การทำงานต้องสร้างผลิตภาพได้ มีนวัตกรรมในทุกกระบวนการ และที่สำคัญ ต้องทำงานโปร่งใสให้เกิดความเชื่อมั่นในทุกภาคส่วน ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ TQA”

“นอกจากนั้น เรายังกำหนดกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยเน้นสร้างความสมดุลระหว่างการมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ การกำกับดูแลกิจการที่ดีและการมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาที่แข็งแกร่งให้แก่องค์กรในระยะยาว และสามารถเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งใน และต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมออย่างรวดเร็ว”

“IRPC” พร้อมชูนวัตกรรม

“ทิวา สุวรรณภูชัย” vice president polyolefins department บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจหลักของไออาพีซี คือ โรงกลั่นน้ำมัน ที่นำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเพื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นให้ได้หลากหลายโปรดักต์ตั้งแต่น้ำมันไปจนถึงก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตปิโตรเคมี เช่น พลาสติก รวมถึงการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า

“การทำงานของเราในปัจจุบันใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาประยุกต์เข้ากับระบบการทำงานแบบเดิม โดยแต่ละหน่วยงานจะร่วมประชุมในการรับเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อขับเคลื่อนหน่วยงานใหม่ ๆ และมีการให้คะแนน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้บุคลากรของเราพยายามแข่งขันกับตัวเอง และทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การที่บริษัทจะเติบโตได้ดี เราต้องทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งพวกเขาต้องมีความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกัน และต้องใช้นวัตกรรมเป็นตัวสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กร”