ชุบชีวิต “หนองเลิงเปือย” ปลูกพืชอินทรีย์ตามพระราชดำริ

“หนองเลิงเปือย” เป็นชื่อของแหล่งน้ำธรรมชาติที่ตั้งอยู่ใน อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ ที่เคยตกอยู่ในวัฏจักรน้ำท่วมช่วงฤดูฝน และแห้งแล้งในฤดูร้อนซ้ำซากมาหลายปี จนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ และเมื่อไม่อาจทนกับความเดือดร้อนต่อไปได้ ราษฎรในพื้นที่จึงตัดสินใจยื่นฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการซ่อมแซมฝายสันมน ในพื้นที่แก้มลิงหนองเลิงเปือย เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2554

จากนั้นในปี 2555 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้เข้ามาในชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ และน้อมนำแนวทางของโครงการพระราชดำริมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จนทำให้ชาวบ้านยกระดับฐานะความเป็นอยู่ ด้วยการส่งเสริมอาชีพ พร้อมกับกระตุ้นจิตสำนึกด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับล่าสุด มูลนิธิปิดทองหลังพระฯลงพื้นที่ศึกษาดูงานชุมชนเข้มแข็งสืบสานแนวพระราชดำริ ใน อ.ร่องคำ และ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ พบว่า ชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด“สุรจิตร นามน้อย” หัวหน้างานพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า หนองเลิงเปือยมีพื้นที่ 887 ไร่ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร 42,958 ไร่ โดยปัญหาหลักของหนองน้ำแห่งนี้ คือ มีความลึกเฉลี่ยเพียง 3 เมตร กักเก็บน้ำได้เพียง 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าหนองเลิงเปือย เฉลี่ย 57.50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

“เมื่อฝายเก็บกักน้ำชำรุด ทำให้หนองเลิงเปือยเกิดการตื้นเขิน ความจุเก็บกักน้ำลดลงเหลือเพียง 1.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นเมื่อถึงฤดูฝนจะเกิดน้ำท่วม สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรในหลายตำบล ส่วนหน้าแล้งก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค การทำนา ตลอดจนการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร”

“ปี 2556 เราจึงเริ่มแก้ไขปัญหาด้วยการขุดลอกแก้มลิงหนองเลิงเปือย รวมถึงพัฒนาระบบน้ำ ไปจนถึงการจัดการน้ำผิวดิน ด้วยการวางระบบระบายน้ำรอบหนองเลิงเปือย ซ่อมแซมประตูระบายน้ำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ทั้งปี ทำให้การกักเก็บน้ำดีขึ้น โดยเพิ่มจาก 1.06 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 6.48 ล้านลูกบาศก์เมตร”

“ดินที่ขุดขึ้นมาจากหนองเลิงเปือย ประมาณ 5 ล้านคิว ยังได้ใช้ประโยชน์ในการนำไปถมในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และพื้นที่รอบหนอง 2,003 ไร่ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม พร้อมทั้งมีแผนงานในการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชผัก และผลไม้ ด้วยการปรับสภาพและเติมอินทรียวัตถุในดิน”

“สุรจิตร” อธิบายต่อว่า การช่วยเหลือเกษตรกร และชาวบ้านในการทำการเกษตร เริ่มจากสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์จะทำการรวบรวมข้อมูลด้านการเกษตรทั้งหมด ตั้งแต่ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่เพาะปลูก ชนิดพืชที่ปลูก การเลี้ยงสัตว์ ปฏิทินการเกษตร ต้นทุนการผลิต และรายได้ เพื่อนำมาจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำ และระบบการไหลของน้ำเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดกับชาวบ้าน ซึ่งเราคำนึงถึงเรื่องการลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ด้วย

“จตุรภัทร ศรีอ่อน” หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านสองห้อง หนึ่งในตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับงบฯสนับสนุนในการทำการเกษตรจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ และวิถีเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ กล่าวว่า เมื่อก่อนตนเองทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ และมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับภูมิแพ้ จึงเริ่มหันมาศึกษาการกินอาหารที่ปลอดสารพิษ และพบว่าอาการป่วยหายไป และมีสุขภาพดีขึ้น จึงเกิดความคิดที่จะกลับบ้านเกิดที่หมู่บ้านสองห้อง ต.ร่องคำ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ และเริ่มปลูกพืชอินทรีย์เพื่อเป็นอาชีพหารายได้

“เมื่อปีที่แล้ว ผมเริ่มปลูกผักอินทรีย์หลายอย่าง เช่น ผักสลัด, คะน้า และข้าวโพด ทั้งยังทำปุ๋ยใช้เองด้วย โดยช่วงแรกผมชวนให้เกษตรกรในพื้นที่มาร่วมปลูกผัก-ผลไม้อินทรีย์ด้วย แต่พวกเขาไม่สนใจ แต่หลังจากพวกเขาเริ่มเห็นว่าผลผลิตของผมได้รับความสนใจดีในท้องตลาด จึงอยากมารวมกลุ่มด้วย และตอนนี้ผลผลิตของผมที่ได้รับความนิยมมากในท้องตลาด และมีราคาดี คือ แตงโมพันธุ์ตอร์ปิโด และพันธุ์เปลือกดำไร้เมล็ด ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ผลผลิตไม่พอขาย เพราะมีรสชาติหวานอร่อย และเนื้อแตงโมมีสีสวยน่ารับประทาน ซึ่งผมกำลังส่งเสริมให้ชาวบ้านในกลุ่มมาร่วมกันปลูก”
“ก่อนที่จะตัดสินใจให้มูลนิธิปิดทองหลังพระฯเข้ามาช่วยปรับปรุงการทำเกษตรของกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านสองห้อง ผมได้สอบถามความสมัครใจของเกษตรกรในพื้นที่ก่อน และชาวบ้านเห็นชอบด้วย ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯจึงเข้ามาให้ความรู้ ดูแลเรื่องงบประมาณการทำการเกษตร โดยแผนงานที่กำลังทำร่วมกันอยู่ตอนนี้ คือ การใช้พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านทำแปลงเกษตรอินทรีย์ โดยทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ และเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ของชาวบ้านเพราะอยู่ติดถนน และเป็นเส้นทางผ่านไปหลายจังหวัด เช่น มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม”

“สิริรัตน์ ธงทองเพิ่มพูน” สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองเลิงเปือย บอกว่า ตนเองเพิ่งเข้าร่วมเข้าโครงการสอนการปลูกผักกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่มาตั้งศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อไม่นาน แต่ก่อนทำการเกษตรไม่เป็น เพราะทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ แต่จำเป็นต้องกลับมาดูแลแม่ที่บ้านเกิด

“จากการเข้าร่วมกลุ่ม ทำให้ตนเองเห็นแนวทางในการหารายได้จากการทำเกษตรกรรม โดยเริ่มจากปลูกสะระแหน่แปลงเล็ก ๆ แบบอินทรีย์ และเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งสามารถเอาขี้ไก่มาทำปุ๋ยได้ด้วย จากนั้นจึงเริ่มปลูกผักแนวผสมผสานตามฤดูกาล และตามความต้องการของลูกค้า ปัจจุบันมีรายได้ 500 บาท ถึง 1,000 บาทต่อวัน จนทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก”


จึงนับว่าเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับราษฎร ทั้งยังเป็นต้นแบบในการนำแนวพระราชดำริโครงการแก้มลิงมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง