นวัตกรรมช่วยคนตาบอด

คอลัมน์ CSR Talk

เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ผู้พิการทางสายตามีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ และการเข้าถึงเทคโนโลยีหลายครั้งที่คนทั่วไปเกิดความสงสัยว่า ผู้พิการทางสายตาจะใช้ชีวิตอย่างไรในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนไปอย่างรวดเร็ว

อย่างคำถามที่ว่า พวกเขาสามารถดูหนังในโรงภาพยนตร์ได้หรือไม่ ? เวลาไปเที่ยวสถานที่สวยงาม เขาจะชื่นชมธรรมชาติและภาพความงดงามได้อย่างไร ? หรือเขาสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ ความทรงจำดี ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียให้กับเพื่อน ๆ ให้รับรู้ถึงความสุขและช่วงเวลาดี ๆ เหมือนกับคนทั่วไปได้หรือไม่ ? แต่คำตอบที่หลายคนอาจจะฟังแล้วคาดไม่ถึงคือ “ได้ !!” เพราะเทคโนโลยีนี่แหละที่เป็นตัวทำลายกำแพงกั้น และข้อจำกัดด้านร่างกาย

“ฐิติกาญ สุนทรวิรุฬโรฒ” ผู้พิการทางสายตา พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าถึงบทบาทของสมาร์ทโฟนที่มีต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเธอว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนช่วยให้เขาชีวิตสะดวกขึ้นมาก

โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบเรียนรู้ และพยายามเปิดใจลองทุกอย่าง ฟีเจอร์อย่าง “accessibility” จะมีฟังก์ชั่นที่เรียกว่า “Screen Reader” และ “Voice Assistant” จะช่วยแปลงทุกอย่างที่อยู่บนหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ หรือรูปภาพให้กลายเป็นเสียง สามารถอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด อย่างเวลาไปทานข้าวที่ร้านอาหาร ทำให้อ่านเมนูอาหารได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป

อีกทั้งสมาร์ทโฟนยังมีแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้พิการอยู่หลายแอป อย่าง “Be My Eyes” ที่เป็นแอปพลิเคชั่นช่วยเหลือคนพิการทางสายตา ซึ่งถ้าต้องการความช่วยเหลือจะสามารถ video call ไปที่อาสาสมัคร เพื่อให้ช่วยอธิบายลักษณะสิ่งของ หรือสภาพแวดล้อมโดยรอบ และถ้าเดินหลงทางสามารถแจ้งให้อาสาสมัครช่วยอธิบายบอกทางให้ได้

และถ้าต้องการดูหนังจะมีแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “พรรณนา” ที่จะช่วยบรรยายสิ่งที่ฉายอยู่บนหน้าจอให้เรารู้ ทำให้สามารถจินตนาการเหมือนได้ดูภาพจากจอ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้การดำเนินชีวิตในปัจจุบันสะดวกขึ้นมากทั้งนั้น ที่ผ่านมาซัมซุงได้มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนด้วยนวัตกรรม เพื่อก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ ในการใช้ชีวิต และทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

โดยได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น Read for the Blind แอปพลิเคชั่นแรกของโลก ที่คิดค้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถสร้างหนังสือเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตา ทั้งยังได้สนับสนุนการอบรมการใช้สมาร์ทโฟนสำหรับผู้พิการทางสายตา ผ่านสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ภายใต้มูลนิธิคนตาบอดไทย เพื่อส่งเสริมทักษะการใช้อุปกรณ์การสื่อสารผ่านฟีเจอร์ accessibility และเทคโนโลยี AI เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องด้านการมองเห็นสามารถใช้สมาร์ทโฟนในการอำนวยความสะดวกสบายให้ชีวิต