“ประสาร” แนะ SMEs ปรับตัวทันโลก ยึดเศรษฐกิจพอเพียงรับมือความเปลี่ยนแปลง

วันที่ 5 กันยายน 2560 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเผชิญกับความท้าทายในอนาคตของธุรกิจ SMEs ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในงานสัมมนา “ธุรกิจยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตอน ธุรกิจยั่งยืน ยุค 4.0” และเปิดตัวสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองเรื่องธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงผ่านเว็บไซต์ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจพอเพียงยังเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจผ่านความท้าทายและอยู่รอดในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเดินไปได้ไม่เต็มที่

“ในทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีหลายอย่างไม่เหมือนเดิม เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หรือที่บอกว่ากำลังอยู่ในยุค 4.0 ซึ่ง SMEs จะประยุกต์แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้อย่างไรนั้น ต้องดูปัจจัยที่มีนัยยะขับเคลื่อนโลกที่มีอย่างน้อย 3 ปัจจัย คือ 1.เทคโนโลยี ปัจจุบันมีการพัฒนาไปแบบในอัตราเร่ง มีการนำเทคโนโลยี 3D printing มาใช้ปลูกถ่ายอวัยวะ มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยทำงาน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า กลไกอัตโนมัติจะเข้ามาแทนการทำงานของคนประมาณครึ่งหนึ่ง รวมไปถึงการแพร่กระจายของเทคโนโลยีที่ยิ่งนับวันก็เติบโตไปอย่างรวดเร็วในอัตราที่เร่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังทำให้เกิดความอ่อนไหว รวมถึงทำให้ภาคธุรกิจคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ยากขึ้น”

ดร.ประสาร กล่าวว่า ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ โครงสร้างประชากร ซึ่งกลุ่มที่จะเพิ่มมากขึ้นคือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นประเทศส่งออกของไทย ส่วนประเทศที่วัยทำงานจะเพิ่มขึ้นนั้นจะอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัว

ขณะที่ปัจจัยที่ 3 คือ การเมืองและเศรษฐกิจโลกที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก หลายปัญหาจากการเมืองยากเกินกว่าจะคาดเดา สร้างความเปราะบางต่อเศรษฐกิจ

“ดังนั้น เมื่อโลกไม่เหมือนเดิม ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ทุกธุรกิจจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อให้ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงนี้ไปให้ได้ สำหรับ SMEs ธุรกิจที่บางคนอาจจะมองว่ามีจุดอ่อนในเรื่องสภาพคล่อง, สายป่านไม่ยาวพอ หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ในจุดอ่อนย่อมมีจุดแข็ง โดย SMEs ถือเป็นธุรกิจที่มีความคล่องตัวสูง ยืดหยุ่น ไม่มีกรอบการทำงานที่เทอะทะ ทำให้สามารถปรับตัวได้เร็วในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง” ดร.ประสารกล่าว และว่า สิ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขยายธุรกิจของ SMEs ในยุคนี้ได้ คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย, การใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลการชำระเงิน กระแสการทำธุรกรรม และใช้ข้อมูลเหล่านี้เข้าหาแหล่งเงินทุน

ดร.ประสารกล่าวอีกว่า ในวันที่บริบทโลกไม่เหมือนเดิม ผู้เกี่ยวข้องต่างหาแนวทางที่เหมาะสมในการก้าวข้ามปัญหา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สามารถประยุกต์ใช้กับการปรับตัวให้เท่าทันโลก ถือเป็นหลักคิดที่ยังมีความทันสมัย ปรับใช้ได้ในระดับบุคคล ธุรกิจ สังคม และประเทศ หลายคนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าใช้ได้เฉพาะกับภาคเกษตรเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วสามารถใช้กับภาคธุรกิจได้ และไม่ได้ขัดกับการแสวงหาผลกำไร เพราะเป็นการแสวงหากำไรแบบไม่เอารัดเอาเปรียบ และทำให้ธุรกิจสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้งได้

“การนำเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ใน SMEs นั้น อยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล ความพอเพียง พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน คือเน้นการพึ่งพาตัวเอง พัฒนาตัวเองให้พออยู่พอกิน ก่อนจะเป็นพอมีอันจะกิน มีการบริหารความเสี่ยงหรือแผนสำรองให้กับบริษัท นอกจากนี้ ยังต้องมีความรู้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งความรู้จากการทดลองจะทำให้เราเข้าใจอย่างแท้จริง รวมไปถึงยังต้องมีความเพียรอย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งจะทำให้เกิดการระเบิดศักยภาพออกมาจากภายในได้” ดร.ประสารกล่าว และว่า SMEs จะประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่แค่มีไฟและมีฝัน แต่ต้องเข้าใจธรรมชาติ และปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง

สำหรับภายในงานยังมีการเสวนา “ธุรกิจยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตอน ธุรกิจยั่งยืน ยุค 4.0” โดยมีนายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด, นายพนาสิน ธนบดีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด, นายโกสินทร์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด และนายสมชาย นิติกาญจนา ประธานกรรมการ บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด ร่วมเสวนา

ใช้ R&D ช่วยชุมชน เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน

นายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจากการเกษตร อาทิ เครื่องปรุงรส กล่าวว่า การทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมอย่างยิ่ง โดยส่วนใหญ่การพัฒนาเริ่มต้นจากคำถามของลูกค้า หรือผลิตภัณฑ์ออกมาไม่เป็นอย่างที่ใจคิด ทำให้เราพยายามพัฒนาสินค้าตามลักษณะการใช้งานของลูกค้า จนเกิดเป็นโปรดักต์ใหม่ๆ

“เราให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D มาก ปัจจุบันบริษัทเรามีนักวิทยาศาสตร์อาหารหลายคน ที่เข้ามาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่เราไม่ได้วิจัยเพื่อใช้ในองค์กรเราเท่านั้น เรายังมี R&D ไปช่วยชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้เขาสามารถเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนได้” นายสมิตกล่าว

พนักงานมีสุข คู่ค้า-ลูกค้ามีสุข

ด้านนายพนาสิน ธนบดีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด ผู้ผลิตชามไก่และสินค้าเซรามิค กล่าวว่า แนวทางดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่ถือได้ว่าเป็นยุค 4.0 นั้น บริษัทมีการนำนวัตกรรมมาอยู่ในแผนธุรกิจเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการปรับแผนธุรกิจใหม่ทุก 6 เดือน เพื่อให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะเดียวกันบริษัทยังเขาสู่ระบบดิจิทัลด้วยการยกเลิกการใช้เอกสาร 90% มีการปรับใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์มาแทนภาคแรงงานที่น้อยลงเรื่อยๆ แต่ต้องไม่ลืมอัตลักษณ์ของตัวเราเอง

“สำหรับการจัดการวัฒนธรรมองค์กร เรายึดคติ สุข 24 ชั่วโมง คือเน้นไปที่การสร้างความสมดุลของสุขภายกายและสุขภาพใจของพนักงาน มีการใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์ คือใช้ Line@ ในการสื่อสารกับพนักงาน นอกจากนี้ เรายังดูแลในเรื่องการเงิน สนับสนุนการออมทรัพย์ ช่วยวางแผนชีวิตหลังเกษียณ ขยายความสุขไปยังครอบครัวของพนักงาน ซึ่งถ้าพนักงานมีความสุข ก็จะส่งต่อความสุขไปยังคู่ค้าและลูกค้าของเรา เกิดเป็นการค้าที่ยั่งยืน” นายพนาสินกล่าว

เมื่อเด็กดีขึ้น โลกจะดีขึ้น

ขณะที่นายโกสินทร์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด ผู้ผลิตของเล่นเด็กจากไม้ยางพารา กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับทัศนคติของผู้นำในองค์กร โดยจะมีคำต้องห้ามของบริษัทคือ ห้ามพูดว่าทำไม่ได้ แต่ต้องพูดว่าทำได้หากมีปัจจัยนั้น ปัจจัยนี้ ซึ่งจะทำให้มุมมองเปิดกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดวันโชว์ของ ที่จะให้พนักงานเอาไอเดียออกมาโชว์ เกิดไอเดียและสินค้าใหม่ๆ ขึ้น

“บริษัทเรายังมีการยึดคติ Better Kids Better World เพราะเชื่อว่าเมื่อเด็กดีขึ้น ก็จะสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมได้ โดยเรายังปลูกฝังให้พนักงานต้องทำอะไรให้ดีขึ้น 1 อย่างในการมาทำงาน 1 วัน เพื่อสร้างความยั่งยืน” นายโกสินทร์กล่าว

ธุรกิจจะไม่ยั่งยืน หากเป็นธุรกิจที่สร้างปัญหาให้สังคม

พร้อมด้วยนายสมชาย นิติกาญจนา ประธานกรรมการ บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด กล่าวว่า ความมั่งคั่งของบริษัทจะเกิดขึ้นได้คือบริษัทจต้องมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ปัจจุบันสามารถแก้ปัญหาได้โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจจะไม่ยั่งยืน หากเป็นธุรกิจที่สร้างปัญหาให้สังคม ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ให้ความสำคัญในเรื่องของพลังงานทดแทน

“เนื่องจากเราขายอาหารสัตว์ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู แต่การทำฟาร์มหมูหรือเลี้ยงหมูนั้นมีของเสียและน้ำเสีย เราจึงเข้าไปทำในการนำเอาของเสียเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนในบริษัท และนำแนวคิดและความรู้ไปให้กับชุมชน ให้ชุมชนสามารถจัดการของเสียด้วยตัวเองได้” นายสมชายกล่าว